คัดลอก URL แล้ว
ไม่ยอมให้ลูกตายฟรี! พ่อ-แม่ หวั่นอิทธิพลคู่กรณีคดีไม่คืบ

ไม่ยอมให้ลูกตายฟรี! พ่อ-แม่ หวั่นอิทธิพลคู่กรณีคดีไม่คืบ

พ่อ-แม่ขอความเป็นธรรม หลังลูกสาวถูกรถชน ชี้ต้องการแค่ให้ประกันจ่าย แต่กลับพบตำรวจ-อัยการโยนกันไปมา ไม่รู้ใครสั่งไม่ฟ้อง ด้านทนายแนะให้ คปภ.ช่วย”

ในรายการเจาะข่าวเด็ด The Day News Update Special ทางช่อง Mono 29 พิธีกร คุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พูดคุยกับ คุณปกธัต และคุณวรษา พงค์ปภดากุล พ่อและแม่ของหญิงวัย 24 ปี ที่ถูกรถยนต์ชนขณะกำลังขับรถจักรยานยนต์ไปทำงาน ซึ่งมาขอความเป็นธรรมหลังพบว่าคู่กรณีมีความเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ในพื้นที่ เกรงคดีไม่คืบ พร้อมพูดคุยกับทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ที่มาให้รายละเอียดเรื่องขั้นตอนของกฎหมายหลังจากนี้ รวมทั้งโทรศัพท์พูดคุยกับ พล.ต.ต.ปกปภพ บดีพิทักษ์ ผบก.ภ.จว.ตาก ถึงความคืบหน้าทางคดีล่าสุด

พิธีกร : การเกิดรถชนแบบนี้มีข้อสันนิษฐานหลายอย่างที่ครอบครัวสงสัย ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะสั่งฟ้องไปแล้ว แต่อัยการไม่รับฟ้อง ไม่รู้ว่าสำนวนคดีเป็นอย่างไร โยงไปยังผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือลูกสาวทำงานเสริม ไปทำงานเป็นพนักงานร้านอาหาร
คุณวรษา : รับจ๊อบเป็น PG เครื่องดื่ม

พิธีกร : ร้านอาหารกับจุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลกัน ตอนเกิดเหตุก็ใกล้จะถึงร้าน
คุณวรษา : อีกไม่กี่ร้อยเมตร

พิธีกร : คือกำลังจะไปร้านอาหารที่อยู่ขวามือ น้องขี่มอเตอร์ไซค์อยู่เลนซ้าย มีภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นภาพก่อนน้องเกิดอุบัติเหตุ น้องขี่เลนซ้าย รถคันนี้อยู่เลนขวา ชิดกับเส้นแบ่ง จะเห็นว่าอยู่คนละเลน ขณะที่อีกกล้องจะเห็นตอนเฉี่ยวชน ที่น้องไถลไปแล้ว รถยนต์คู่กรณีก็พยายามจอดชิดซ้ายแล้วมีคนลงมาจากรถ คุณแม่ตรวจสอบจนทราบว่าเป็นใคร
คุณวรษา : เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ จ.ตากมีคนนั่งในรถอีกคน เป็นหลานที่เค้าไปรับกลับมาจากโรงเรียน กำลังจะเดินทางกลับบ้าน

พิธีกร : ซึ่งขับมาด้วยความเร็วระดับหนึ่ง ตามภาพจากกล้อง ซึ่งการตรวจวัดความเร็วก็ทำได้ไม่ยาก
ทนายรณณรงค์ : ไม่ยาก ใช้ 2 กล้อง 2 มุมเทียบเวลากัน พิสูจน์หลักฐานไทยเก่งอยู่แล้ว ไม่นานก็น่าจะทำได้

พิธีกร : เห็นทนายว่าถ้าความเร็วเกิน 80 จะมีผลอะไร ยังไง
ทนายรณณรงค์ : ในการขับรถพื้นที่เมือง มีการกำหนดความเร็วไว้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างในกรุงเทพฯ บางจุดก็ห้ามเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขับเกินถือว่าฝ่าฝืน พรบ.จราจรทางบก เวลาที่มีอุบัติเหตุ มองได้ว่าประมาทเพราะใช้ความเร็ว

พิธีกร : แล้วถ้าใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด แต่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ถือว่าประมาทใช่มั้ย
ทนายรณณรงค์ : จำเคสลัมโบกินีชนกับรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจได้ใช่มั้ย ต้องพยายามให้ขับ 79.8 คือไม่เกิน 80 เลยกลายเป็นไม่ประมาท เพราะเค้าไม่ได้ขับไว คดีจะต่างกันทันที ความเร็วมีผลทางคดีด้วย

พิธีกร : เรื่องความเร็วเป็นจุดที่ตรวจเช็กได้ สิ่งที่พ่อแม่ไปสืบทราบ อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านนี้ ทีมงานพยายามติดต่อสอบถามให้มาร่วมพูดคุยเพื่อหางออก ว่าอีกฝั่งมีข้อมูลอะไร แต่ทางอาจารย์บอกว่าไม่ให้นำข้อมูลที่พูดคุยกันไปออกอากาศ แต่ยืนยันว่าพูดคุยกันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

รัศมีมุมกล้องจุดแรก แต่จุดเกิดเหตุน่าจะพ้นมุมกล้องนี้ไปแล้ว ส่วนกล้องอีกตัวจะเห็นตอนตีลังกา สภาพรถเป็นยังไงบ้าง
คุณปกธัต : ล้อหลังหลุด
คุณวรษา : หลุดกระเด็นทันทีที่ชน

พิธีกร : จุดเกิดเหตุใกล้กับร้านอาหาร แสดงว่ามีเลี้ยวตัดหน้าหรือเปล่า
คุณปกธัต : ไม่เห็นตอนชน
คุณวรษา : ร่างของน้องไปฟาดที่ด้านหลัง กะโหลกแตก ร่างตกลงที่พื้นก็ยังหมุนอยู่

พิธีกร : แสดงว่าชนทางด้านซ้ายของรถ
คุณวรษา : ชนทางด้านท่อ ด้านหลังฝั่งท่อ คือฝั่งขวาของน้อง ฝั่งซ้ายรถยนต์

พิธีกร : เท่าที่ดูเป็นไปได้ไหมที่รถมอเตอร์ไซค์จะขี่ไปด้านขวาแล้วไปเฉี่ยวชนกับรถที่มาด้วยความเร็วในเลนของตัวเอง
ทนายรณณรงค์ : ต้องดูว่ามีหลักฐานที่เห็นได้ชัดมั้ยว่าเป็นการตัดหน้า การจะเปลี่ยนช่องจราจร เปลี่ยนได้ แต่ต้องเปิดสัญญาณไปและต้องดูรถด้านข้างให้ดีๆ

พิธีกร : เท่าที่เห็นจากในคลิป น้องไม่ได้ขี่เร็ว
คุณวรษา : ไม่เร็ว ปกติเค้าขับรถคล่อง น้องจะต้องดูด้านหลังอยู่แล้ว แม่ก็เตือนน้องอยู่เสมอ
ทนายรณณรงค์ : ในเคสนี้ถ้าเราดู ความเร็วของรถมีความสำคัญมาก ถ้าวันนั้นรถยนต์ไม่ได้ขับมาด้วยความเร็วสูง ถึงจะมีอุบัติเหตุก็อาจทำให้ไม่เสียชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าไม่ผิดเลยก็ยังแย้งอยู่ เพราะมีการใช้ความเร็วค่อนข้างสูง คิดว่ามีส่วนประมาททำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้

พิธีกร : คุณหมอชันสูตร เสียชีวิตเพราะ
คุณวรษา : คุณหมอจะลงหลักๆ สาเหตุใหญ่ๆ คือฐานกะโหลกศีรษะแตก แต่ยังมีปลีกย่อยอย่างอื่นอีกหลายอย่าง คือภายในแตกหัก กระดูกอุ้งเชิงกรานแตกหักพับได้ มีเลือดคั่งที่ช่องอก มีตับ ปอด แตก แขนหัก ซี่โครงหัก

พิธีกร : วันที่ไปรับน้องจากโรงพยาบาล เห็นว่าคุณแม่ก็ไปคนสุดท้าย เกิดอะไรขึ้น
คุณวรษา : ญาติอาจจะห่วงว่าเราจะรับไม่ได้ เลยค่อยๆบอก แม่สุขภาพไม่ค่อยดี แต่ก็มีข้อสงสัยหลายๆอย่าง แม่จะจับประเด็นที่คนชนอย่างเดียว ต้องการให้คนชนรับปิดชอบแค่นั้น

พิธีกร : คนชนรับผิดชอบยังไงกับครอบครัวคุณแม่บ้าง
คุณวรษา : วันนั้นเค้าไปขอขมาที่วัดพร้อมซองช่วยเหลือเบื้องต้น เค้าขอถ่ายรูป เค้าช่วยมา 20,000 บาท

พิธีกร : หลังจากนั้นมีการเข้ามาดูแลสภาพจิตใจยังไงบ้าง
คุณวรษา : ไม่มี พยายามโทรแต่เขาไม่มา เขาไม่รับ เหตุเกิด 9ธ.ค.ปีที่แล้ว จัดงานศพ 7 วัน เผาวันที่ 13 ธ.ค. เค้ามาฟังสวดทุกวัน วันเก็บกระดูกก็มา ตอนนั้นก็รู้สึกดีกับเค้า พ่อก็ปลอบใจเค้าตลอดไม่ให้คิดมาก ก็เรียกเค้าลูกทุกคำ
คุณปกธัต : ผมไปปลอบใจที่หน้าห้องดับจิต

พิธีกร : แล้วเกิดอะไรพลิกผัน ทำให้พ่อ แม่ต้องมาร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้
คุณวรษา : คือหลังจากที่เผาศพแล้ว ไม่มีการมาคุยหรือมาบอกว่าจะรับผิดชอบ ช่วยเหลือเยียวยา ไม่มีความชัดเจน พี่ชายพยายามติดต่อตลอดเพราะเค้าจะกลับมาทำงาน เค้าอยากเคลียร์เพื่อให้จบเรื่อง มีบางครั้งเค้าก็รับ แต่เค้าก็ตอบลูกชายมาว่าพี่สาวผมรับไม่ได้ที่ผมจะต้องเป็นคนผิด

พิธีกร : พี่สาวเค้าคือ
คุณวรษา : คนสนิทคนที่มีอิทธิพลนั่นแหละ

พิธีกร : พี่สาวรับไม่ได้ที่น้องต้องเป็นคนผิด ทั้งที่ตัวน้องเองก็เป็นผู้ยอมรับผิด แล้วก็มาร่วมงาน แล้วก็ให้ค่าเยียวยาเบื้องต้น
คุณวรษา : มางานศพทุกวัน แต่ไม่มีการพูดคุย เรารับรู้ได้ว่ามาเพื่อปกป้องตัวเองหรือเปล่า มาฟังสวด มาใส่บาตร มาตามสเต็ป

พิธีกร : คือแรกๆก็ดี แต่หลังจากนั้นติดต่อไม่ได้ กระทั่งมาได้ยิน เลยรู้สึกว่าที่มาเหมือนกับเป็นการสร้างภาพหรือไม่
คุณวรษา : ใช่ เพราะคนถ้าสำนึกจริงว่าทำลูกเขาตาย เราก็บอกแล้วว่าถ้ามีการเยียวยา รู้ว่าผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เข้าใจว่าอุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิด เราก็เข้าใจจุดนี้ ถ้าเราได้รับการเยียวยา ถ้าประกันจ่าย ถ้าคุณมีประกันชั้น 1 ประกันจ่าย เราก็จบแล้ว เราจะไม่ฟ้องไม่อะไรคุณเลย แล้วคุณก็จะไม่ติดคุกด้วย

พิธีกร : ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร ถ้าสมมุติว่าประกันมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ ซึ่งประกันชั้น 1 ก็รับผิดชอบอยู่แล้ว
ทนายรณณรงค์ : ประกันชั้น 1 ที่รับผิดชอบหมดก็มี ที่สู้คดีก็มี ประกันชั้น 1 มีเงื่อนไขของการจ่ายอยู่ อย่างเคสนี้เป็นของทิพยประกันภัย ทิพยบอกว่ามีประเด็นว่าตำรวจชี้ว่าเป็นประมาทร่วม เค้าก็เลยไม่จ่าย เค้ายังบอกด้วยว่าดูแล้วฝั่งนี้เป็นฝ่ายผิด ทางฝั่งเค้าไม่ได้ผิดเลย นั่นคือความเห็นของประกัน เค้าก็เลยปฏิเสธการจ่ายเงิน
คุณวรษา : ในคำฟ้องก็มีว่าเราผิด

เราฟ้องเค้าด้วยว่าขับรถประมาท เค้าก็มีข้อโต้แย้งแต่ละข้อของเรามา เค้าบอกว่าถ้าขึ้นศาลฟ้องกันแล้วเราแพ้ เค้าจะฟ้องกลับ มีในข้อโต้แย้งเวลาขึ้นศาล

พิธีกร : เค้าสามารถทำแบบนี้ได้ใช่มั้ย
ทนายรณณรงค์ : ก็ปกติแล้วประกันมีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ อันนี้เป็นความรู้ ถ้าเรามีอุบัติเหตุจราจร แล้วประกันเค้าจ่ายช้าหรือเค้าปฏิเสธการจ่าย ให้เราไปร้องเรียนที่คปภ. คปภ.จะเรียกเข้ามาไกล่เกลี่ยมาพูดคุย ซึ่งปกติแล้วประกันเวลาไปจ่ายโรงพักจ่ายช้า ถ้าผ่านคปภ.จ่ายไว เพราะจะมีประวัติว่าถูกร้องเรียน

พิธีกร : แล้วอย่างนี้ได้ไปร้องเรียนกับ คปภ.แล้วหรือยัง
คุณปกธัต : ยัง
ทนายรณณรงค์ : ต้องไป
คุณวรษา : คือไม่รู้รายละเอียด เรารู้เพียงประกันภัยเบื้องต้น ตายจ่ายเท่านี้ ถ้าผิดคือจ่ายเบื้องต้นไปก่อน แต่ถ้าถูกเมื่อศาลตัดสินแล้วเราก็จะได้เต็ม 5 แสน รู้แค่นี้

พิธีกร : เมื่อวานทำไม่ต้องยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร.
ทนายรณณรงค์ : ให้ตรวจสอบคดีว่าทำสำนวนกันยังไง ทำไมไม่สามารถไปถึงชั้นศาลได้ แล้วถ้าหลักฐานน้อย ไปยื่นศาลเร็ว ศาลประทับรับฟ้องแสดงว่ามันก็มีมูลอยู่ ในการทำสำนวนมีตรงไหนที่บกพร่องมั้ย แต่อันนึงที่ได้คุยกับทางตำรวจ ตำรวจบอกว่าไม่ได้แจ้งจริงๆว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง ไม่ได้แจ้งทั้งวาจา ทั้งจดหมาย ไม่ได้แจ้งกับผู้สูญเสียเลย

พิธีกร : ตำรวจไม่ได้บอกแม่เลยเหรอว่าจะส่งฟ้อง
คุณวรษา : ก็ว่าทำไมเงียบไปหมดเลย
ทนายรณณรงค์ : ตามระเบียบการทำคดีของตร. เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องทำจดหมาย หรือแจ้งผู้เสียหายว่าคดีมีความคืบหน้าถึงไหนแล้ว โดยปกติต้องทำเป็นจดหมาย ซึ่งอันนี้ไม่ได้ทำเลยโดยท่านบอกว่าคดีนี้ไม่มีผู้เสียหาย ก็เลยไม่ต้องแจ้ง

พิธีกร : คุณแม่ก็ไปขอดูรายละเอียดต่างๆจากที่สน.
คุณวรษา : เวลาเราไปเจอร้อยเวร เขาพูดไม่ดีกับเรา เค้าฟันธงเลยว่าลูกเราผิด

พิธีกร : ถ้าเค้าพูดแบบนี้ แสดงว่าในสำนวนก็น่าจะไปทางนั้นหรือเปล่า
คุณวรษา : ไม่ได้เห็น
ทนายรณณรงค์ : เค้าไม่ได้ให้ดู

พิธีกร : มีความเป็นไปได้มั้ยที่สำนวนจะเป็นไปตามทัศนะที่พูดไป
ทนายรณณรงค์ : ตอนนี้ผู้บังคับการภูธรจังหวัดตาก ท่านไปดูสำนวนแล้ว เดี๋ยวท่านก็คงจะมีข้อสรุปว่ายังไงบ้าง แล้วเรื่องก็ไปถึงกองบัญชาการภูธรภาค 6 นครสวรรค์ด้วย

พิธีกร : จากนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ทนายรณณรงค์ : ประเด็นในการทำคดีที่เราติดใจคือ รู้ว่าตำรวจสั่งฟ้อง แต่พอสั่งฟ้องแล้ว เนื้อหาข้างในสั่งฟ้องยังไง ทำไมพอไปถึงในชั้นอัยการแล้วหลักฐานไม่พอ อัยการเลยสั่งไม่ฟ้อง รู้ว่าสั่งฟ้อง แต่เนื้อหาข้างในเป็นยังไง

พิธีกร : แล้วคุณแม่ก็มาติดใจด้วยที่เค้ามาพูดกับเราว่าเราผิด
คุณวรษา : แม่สงสัยว่าทำไมเงียบไปหมดเลย ให้เรารอ เราก็รอนานแล้ว ไม่รู้จะไปติดต่อใคร จะไปเจอร้อยเวรก็ไม่อยากเจอแล้ว ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความกระจ่าง แล้ววันก่อนขึ้นศาล วันที่ 16 ที่ผ่านมา ประมาณวันศุกร์ไปสำนักงานอัยการจังหวัด ไปแจ้งเจ้าหน้าที่บอกเลขคดีว่ามาติดตามผล ไปถามว่าคดีสั่งฟ้องหรือยัง อัยการก็มานั่งคุยเกือบชั่วโมง ได้ความว่าคดีนี้ตำรวจไม่สั่งฟ้อง ซึ่งตำรวจส่งหนังสือไปที่ภาค 6 แล้ว ทำให้เกิดคำถามในใจเราว่ลูกเราตาย ไม่สั่งฟ้องแล้วเราจะทำยังไงต่อ

พิธีกร : ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก อยู่ในสาย ได้ข่าวว่าเรื่องนี้ได้ลงไปดูที่เกิดเหตุแล้วจะเรียกสำนวนมาดูด้วย เรื่องนี้เกิดอะไรขึ้น
พล.ต.ต.ปกปภพ : ทราบเรื่องว่ามีปัญหา ให้ทางผู้กำกับอธิบายกับแม่ของผู้เสียชีวิต และทนายความไปเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 17 และวันที่ 18 ทราบว่าทนายและแม่ผู้เสียชีวิตไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ดูรายละเอียด ทราบเรื่องแล้วกำลังเรียกผู้เกี่ยวข้อง เรียกสำนวน ไปดูที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง ไปดูเส้นทาง ติดตามพยาน ได้ข้อมูลมาพอสมควร

พิธีกร : สิ่งที่ผู้การได้ข้อมูลมา น่าจะให้ความเป็นธรรมกับผู้สูญเสียได้มั้ย
พล.ต.ต.ปกปภพ : ยังไม่ได้เห็นสำนวนทั้งหมด เบื้องต้นคิดว่าเกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันมากกว่า

พิธีกร : คิดว่าสำนวนที่อัยการไม่รับฟ้องมีความหละหลวมหรือมีความไม่ชัดเจนหรือยังไง
พล.ต.ต.ปกปภพ : เป็นดุลยพินิจของอัยการ ทางคดีเรามีความเห็นในส่วนของเราไปแล้ว และก็ส่งไปตามขั้นตอน อัยการจะมีความเห็นเหมือนเราหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจ และรายละเอียดในสำนวน

พิธีกร : หลังจากนี้ถ้าเห็นว่าในสำนวนมีความไม่รัดกุมพอ เราสามารถทำอะไรเพิ่มได้อีกมั้ย
พล.ต.ต.ปกปภพ : มีความเห็นทางคดีไปแล้ว สำนวนผ่านตำรวจไปสู่อัยการแล้ว ขั้นตอนตรงนี้มันจบแล้ว

พิธีกร : ก็หมายความว่าทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามนี้ คือสั่งไม่ฟ้อง //เรื่องอิทธิพลในพื้นที่ท่านทราบเรื่องมั้ย
พล.ต.ต.ปกปภพ : คุยกับทางร้อยเวรแล้ว ก็ยืนยันว่ามี่เรื่องนี้ ส่วนตัวยังไม่มีผู้มีอิทธิพลคนไหนมาเจอนะ เชื่อจ.ตากไม่มีผู้มีอิทธิพล ยืนยันว่าไปตามข้อเท็จจริง

พิธีกร : ทนายมีอะไรฝากท่านผู้การมั้ย
ทนายรณณรงค์ : เคยเจอท่านที่จังหวัดอื่น เรื่องผู้มีอิทธิพล ถ้าผู้การรับรู้แล้วก็คงไม่มีใครกล้าแล้ว

พิธีกร : จากตรงนี้รู้สึกยังไงบ้าง
คุณวรษา : เหมือนเดิม กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนเดิม

พิธีกร : จากที่ฟังท่านผู้การพูด เราจะทำอะไรได้อีกบ้าง
ทนายรณณรงค์ : กระบวนการทางกฎหมายตามป.วิอาญา เมื่ออัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง กระบวนการคือส่งไปที่ภาค 6 ว่าจะเห็นแย้งกับคำสั่งอัยการมั้ย ถ้าเห็นแย้งก็จะส่งกลับมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาต่อว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง

พิธีกร : แล้วการเรียกร้องของคุณพ่อคุณแม่
คุณวรษา : พรบ.ได้เบื้องต้น 35,000
ทนายรณณรงค์ : กรณีที่มีการโต้แย้งกัน เค้าไม่รับว่าเค้าผิด แล้วร้อยเวรก็ไม่ได้ชี้ชัด คือถ้าฟังว่าเรายังมีส่วนประมาท พรบ.น่าจะไม่ให้ น่าจะได้แค่นี้ ถ้าเราไม่ประมาทเลย พรบ.จะให้เต็ม ประกันจะให้เต็ม อาจต้องรอให้ศาลมีคำตัดสินก่อน

พิธีกร : ถ้าประมาทร่วม
ทนายรณณรงค์ : สัดส่วนของการับผิดชอบก็จะลดลง อาจเป็น 7 ส่วน 3 ส่วน แล้วแต่กรณี ไม่ใช่ 50:50
คุณวรษา : ได้แจ้งเค้าไปแล้ว แจ้งความประสงค์ของเราแล้ว คือประกันจ่ายก็จบแล้ว ไม่อยากมีเรื่องอะไรกับใคร แต่ทีนี้คือเงียบไปหมด แล้วมารู้ว่าไม่สั่งฟ้อง จะโดยตำรวจหรือโดยอัยการ เราไม่ทราบความจริงเพราะตำรวจบอกว่าฟ้องแต่อัยการไม่ฟ้อง ส่วนอัยการบอกตำรวจไม่ได้ฟ้อง แล้วแม่ต้องทำยังไง
ทนายรณณรงค์ : จริงๆเรื่องนี้ ตำรวจเวลารายงานคดี ทำเป็นจดหมายส่งไปที่บ้านก็จบ ง่ายกว่า


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง