คัดลอก URL แล้ว

“ถกปม เสี่ยเบนท์ลีย์ คนรวยรอด คนจนนอนคุก?”

“สังคมจับตา ตร.ดำเนินคดี เสี่ยเบนท์ลีย์ แพทย์ยันการเป่า-เจาะเลือด ได้ค่าแอลกอฮอล์ไม่ต่างกัน ระบุตำรวจตั้งข้อหา ต้องมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าเมาแล้วขับ ขณะอดีตตำรวจ ชี้การยื้อเวลาทำให้หลักฐานทางคดีเสียหาย”

ในรายการเจาะข่าวเด็ด The Day News Update Special ทางช่อง Mono 29 พิธีกร คุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พูดคุย กรณีผลปริมาณแอลกอฮอล์ ของคนขับเบนท์ลีย์ ที่ล่าสุดสังคมยังคาใจแม้โดนข้อหาเมาแล้วขับแต่อาจหลุดคดี โดย รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว มาร่วมพูดคุยในมุมมองของแพทย์ โดยใช้สูตรคิดปริมาณแอลกอฮอล์ย้อนกลับ รวมทั้งพูดคุยกับ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดี “บอส กระทิงแดง” ซึ่งมาร่วมพูดคุยถึงข้อกฎหมายที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้วิจารณญาณในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ที่อาจกลายเป็นช่องโหว่หรือไม่

พิธีกร : ไทม์ไลน์การเกิดเหตุรถเบนท์ลีย์ชนกับรถปาเจโร่บนทางด่วน เกิดเหตุรถชนเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 8 มกราคม 2566 จากนั้นผู้หญิงที่มาด้วยกับผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์โบกรถแท็กซี่ และมาถึง สน.ทางด่วน1 เวลาประมาณ 02.00 น. โดยทางตำรวจได้ส่งตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลา 03.30.(ตามเวลาที่แพทย์รับตัว) และสิ้นสุดกระบวนการตรวจประมาณ 05.00 น. ซึ่งมีผลของการตรวจความเข้มข้นแอลกอฮอล์อยู่ที่ 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีการตั้งคำถามว่า แบบนี้คือไม่ได้เมาใช่หรือไม่ แต่ในที่เกิดเหตุพยานแวดล้อมต่างบอกว่า เมา และมีขวดไวน์อยู่ในรถด้วย เรื่องนี้จึงขอถามความสงสัยก่อนจากทั้งมุมมองของแพทย์และตำรวจ เริ่มที่สารวัตรเพียว อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล
พ.ต.ต.ชวลิต : คงต้องพูดถึงการทำหน้าที่ของตำรวจตั้งแต่เกิดเหตุที่ควรจะเป็นเลยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมาถึงที่เกิดเหตุให้ไว ที่ไล่เรียงไทม์ไลน์มา เที่ยงคืนครึ่งอย่างน้อย ตำรวจต้องรีบมาไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง เพราะสถานีก็อยู่ไม่ไกล เพราะประเด็นหลักสำคัญในคดีนี้ก็คือ เรื่องเมาหรือเปล่า ซึ่งตัวที่จะชี้ชัดว่าเมาหรือเปล่า หลักฐานก็คือแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือด

พิธีกร : ซึ่งถ้าเป่าในที่เกิดเหตุเลยก็จะรู้ว่าเมาหรือไม่เมา
พ.ต.ต.ชวลิต : ใช่ ซึ่งมันมีอัตราการเผาผลาญในร่างกายไวมาก ดังนั้นเวลาทุกชั่วโมงมีค่ามาก เวลาทอดไปเรื่อยๆตัวเลขเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ

พิธีกร : พอไม่มีการเป่าในที่เกิดเหตุ ตัวผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์ก็ไปพร้อมกับหญิงสาวที่มาด้วยกัน ขึ้นรถแท็กซี่ไปที่สถานีตำรวจ อย่างนี้ เราจะเรียกว่าชนแล้วหนีไหม
พ.ต.ต.ชวลิต : ผมคิดว่าถ้าชนแล้วหนี ก็ต้องไม่อยู่ในที่เกิดเหตุเลย คือ ต้องหนีให้เร็วที่สุด

พิธีกร : นี่ก็พยายามออกจากที่เกิดเหตุแต่ว่ายื้อยุดจนออกจากที่เกิดเหตุใกล้ช่วงตี 2
พ.ต.ต.ชวลิต : แต่สุดท้ายเขาไปที่ สน. ก็คือไม่ได้หนี

พิธีกร : สุดท้ายแล้วก็ไปรายงานตัว ชนแล้วหนีก็อาจจะไม่ใช่ แต่ว่าตอนนั้น เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็พยายามห้ามปรามยื้อยุด เพราะถ้าไม่อยู่ตรงนั้น แล้วจู่ๆ ดอดออกไป ก็อาจจะไม่ได้ไปที่ สน.หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ว่าเจ้าหน้าที่ก็ตามไปบันทึกภาพเหตุการณ์ถึงใน สน.เลย แบบนี้ก็ไม่เรียกว่าหนี
พ.ต.ต.ชวลิต : สุดท้ายไปที่ สน.ผมถือว่าไม่หนี

พิธีกร : แล้วกว่าจะส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ตี 3 ครึ่ง คิดอย่างไรกับการทำหน้าที่ของตำรวจใน สน. พื้นที่นั้น
พ.ต.ต.ชวลิต : ตรงนี้ผมสนใจตรงหลักฐานที่ชี้ว่าเมาหรือเปล่า ก็คือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ประเด็นตรงนี้ถ้าเกิดทำให้เวลามันยืดออกไป ผมคิดว่ามันเป็นการทำให้หลักฐานมันเสียเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีการตรวจจริง แต่ว่าระยะเวลาที่มันทอดนานออกไป 3-4 ชั่วโมง มันทำให้ตัวเลขแอลกอฮอล์ที่ตรวจมามันน้อยกว่าที่เกิดเหตุเยอะมาก ผมถือว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้หลักฐานมันเสีย

พิธีกร : อย่างนี้ก็มีคนออกมาร้องเรียนเลยครับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า เพราะปล่อยให้เวลาล่วงเลยออกไป กับคดีที่คนให้ความสนใจแบบนี้ และ ณ ขณะนั้นถ้าถามในมุมตำรวจ อุบัติเหตุแบบนี้ถือว่าเป็นคดีที่ต้องทำด้วยความรวดเร็วและร้ายแรงไหมครับ
พ.ต.ต.ชวลิต : ผมคิดว่าถ้าจริงจังในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจริงๆ ตัวหลักฐานสำคัญ ซึ่งแอลกอฮอล์ก็ต่างจากยาเสพติด ถ้ายาเสพติดอาจจะไม่ต้องเร่งรีบเป็นต่อชั่วโมงแบบนี้ก็ได้ เพราะว่ายาเสพติดมันอยู่ในร่างกายนานกว่านั้น แต่ว่าพอเป็นแอลกอฮอล์ผ่านไปชั่วโมงหนึ่งก็ลดลงไป 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้ว โดยประมาณ

พิธีกร : แต่ถ้าพูดถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอะไรสงสัยไหมครับ
พ.ต.ต.ชวลิต : ถ้าจะสงสัยก็สงสัยเรื่องการแถลงข่าวของผู้บังคับบัญชามากกว่าที่ให้ข่าวครั้งแรก ระบุว่า เจ็บหน้าอกเป่าไม่ได้ ตรงนี้เป็นอะไรที่สังคมกังขามากเลย และก็จะอ้างการแถลงข่าวตรงนี้จะไปปฏิเสธเวลาตำรวจขอเป่าแอลกอฮอล์ อันนี้จะเป็นปัญหาลำบากเลยกับคดีอื่นๆ

พิธีกร : มันเป็นเหตุผลที่อ้างกับตำรวจได้ไหมว่าผมเจ็บหน้าอกจากอุบัติเหตุแล้วผมเป่าไม่ได้ลมไม่ออก เดี๋ยวค่ามันเปลี่ยนแปลง ผมไปตรวจเลือดดีกว่า ซึ่งจะใช้เวลานานขึ้น สามารถอ้างได้ไหม
พ.ต.ต.ชวลิต : ตรงนี้ถ้าอ้างอย่างนั้น ตำรวจก็ต้องมีพฤติการณ์อะไรที่ตำรวจพยายามที่จะให้ส่งตรวจเลือดอย่างรวดเร็ว เพราะถ้ายังอยู่ที่สถานีตำรวจนานก็ไม่ใช่แล้ว

พิธีกร : แต่เหมือนการส่งไปตรวจเลือดจะไม่ค่อยเร็วพอนะครับ เพราะใช้เวลากว่าจะออกจากสถานีตำรวจถึงตี 3 ครึ่ง ซึ่ง 3 ชั่วโมงจากจุดเกิดเหตุ แล้วไปถึงโรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ใช่ว่าจะตรวจเลย เพราะกว่าจะเสร็จออกจากโรงพยาบาลตำรวจตอนเวลาประมาณตี 5 รวมเป็นช่วงเวลากว่า 1ชั่วโมงครึ่งที่โรงพยาบาลตำรวจ มาที่คุณหมอหมู โพสต์ของหมอหมูพูดถึงหลักการเลยว่าหลังเกิดเหตุต้องส่งตรวจเลือดทันทีภายใน 1ชั่วโมง แต่กว่าจะตรวจตั้งตี 5 จริงๆแล้วผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์คนนี้ผลปริมาณแอลกอฮอล์ออกมา 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ณ ตอนที่ตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือว่าไม่เมา ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป หมอมองว่าอย่างไร
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : คือจริงๆ ก็ตรงไปตรงมาในหลักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วนะครับว่า กรณีแบบนี้เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะตัวคดี แต่เราพูดในหลักวิทยาศาสตร์ เวลาที่เราดื่มกินเข้าไปก็ต้องมีการเผาผลาญ ทั้งจากทางลมหายใจ ทางเหงื่อ ทางปัสสาวะ ทางอุจจาระ เพราะฉะนั้นแค่เรานั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ปริมาณแอลกอฮอล์ก็ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าตรวจช้า อย่างไรก็ตามแอลกอฮอล์ในร่างกายก็ต้องลดลงไปเรื่อยๆ อยู่ดี ในกรณีแบบนี้การตรวจถ้าต้องการตรวจเพื่อเอาไปใช้ทำอะไร ใช้ในทางคดีก็แสดงว่าคุณต้องการที่จะได้แอลกอฮอล์ขณะที่เกิดเหตุก็ต้องตรวจในที่เกิดเหตุ นั่นก็คือการเป่าแอลกอออล์ ทีนี้การเป่ามีข้อจำกัด จะไม่เหมือนกับที่ตำรวจไปตั้งด่านแล้วให้ประชาชนเป่า แต่นี่เกิดอุบัติเหตุ มันก็จะมีคนที่บาดเจ็บมาก บาดเจ็บน้อย บางคนบาดเจ็บมากอาจจะสลบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็ต้องส่งโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไม่สามารถเป่าในที่เกิดเหตุได้ ซึ่งการส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล สิ่งที่ตำรวจต้องทำเพิ่มเติม คือ ต้องส่งใบชันสูตรบาดแผลแนบไปด้วย เพราะฉนั้นใบชันสูตรบาดแผลสามารถระบุได้เลยครับว่าให้ตรวจแอลกอฮอล์ด้วย เพราะโรงพยาบาลจะไม่มีทางทราบเลย ถ้าตำรวจไม่แจ้งมา

พิธีกร : ก็นี่ไงเขาก็เลยส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ แล้วก็คงส่งใบแนบไปให้ตรวจด้วยแหละ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : แต่นั่นในกรณีที่ไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง แต่ถ้ามีบาดเจ็บรุนแรงส่งไปถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีสติ แต่เมื่อถึงโรงพยาบาล พยาบาลก็สามารถมาเจาะเลือด ให้น้ำเกลือ หรือตรวจใดๆก็ตาม ก็สามารถเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจแอลกอฮอล์ด้วยได้แต่ต้องภายใต้ความยินยอมของผู้ป่วยก่อน ถ้าผู้ป่วยอนุญาตก็เจาะได้นั่นคือแบบที่หนึ่ง แต่ถ้าแบบไม่รุนแรง อย่างเช่นบอกว่ามีอาการเจ็บ ยกตัวอย่างว่า มีการเจ็บหน้าอก ถ้าถามว่าในความเป็นจริง เราย้อนไปดูองค์ประกอบวิทยาศาสตร์อันนี้ก่อน ซึ่งทุกคนสามารถหาข้อมูลได้ในอินเตอร์เน็ตนะว่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป่าแอลกอฮอล์มันชัดเจนครับว่า บริษัทที่เป็นมาตรฐานผลิตระดับโลก บอกว่า ผลของการเป่า หรือ แรงเป่าไม่ได้มีผลต่อการตรวจแอลกอฮอล์ ลักษณะถึงขั้นว่าเราแค่อมไว้ในปากแล้วหายใจปกติก็ยังตรวจได้ อันนี้คือมาตรฐาน แต่ผมไม่ทราบนะว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ใช้มาตรฐานตัวนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นตัวนั้น คือโดยมาตรฐานระดับโลกคือไม่จำเป็น แล้วการที่คนพยายามจะเป่าเบาหรือเป่าแรงผลของแอลกอฮอล์ก็ไม่แตกต่าง เพราะมีการศึกษามาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องมาตรฐาน แล้วอย่าลืมนะว่า เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ถ้าแปลความหมายจริงๆ คือ เป็นการบอกระดับแอลกอออล์ในเลือด ซึ่งเขาพัฒนาจนถึงจุดมาตรฐานว่าการต้องเจาะเลือดหรือเป่ามีค่าใกล้เคียงกัน

พิธีกร : เพราะฉะนั้น คือ ยืนยันได้ตัวเลขจากการเป่า
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ปกติ คือ ถ้าเป่าแล้วจะไม่ต้องไปเจาะเลือดเพราะถือว่าเป็นมาตรฐาน

พิธีกร : แล้วในกรณีนี้ล่ะครับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ในกรณีที่ไม่เป่า เมื่อเวลาห่างออกไป ก็กลายเป็นเรื่องว่าพอไปเจาะเลือดแอลกอฮอล์มันต่ำไปแล้ว เพราะว่ามันลดลง ในส่วนตัวของผมเองที่โพสต์ลงไป ต้องเรียนก่อนว่าปกติมันลด 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย มันยังมีปัจจัยเรื่องอายุ ความอ้วน น้ำหนัก การเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงเรื่องยา ยาบางอย่างจะทำให้แอลกอฮอล์มันขับยาก หรือ ในเรื่องของอาหารถ้าท้องว่างก็อีกแบบหนึ่ง อาหารเต็มท้องก็อีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันมีปัจจัยหลากหลาย ผมเอาตัวเลข 0.0165 มันคือเฉลี่ยต่อชั่วโมง คือ 16.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่มันจะลดลง คิดเป็นค่าเฉลี่ย

พิธีกร : คือที่คุณหมอหมูได้โพสต์และให้ข้อมูลเป็นสูตรการคำนวณ สูตรนี้ได้มาจากไหนครับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : จริงๆ เป็นงานวิจัยในต่างประเทศ ที่เขาได้ทำการศึกษากันมา ซึ่งใช้คำนวนย้อนหลังกัน ในบ้านเราโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคก็เอาอันนี้มาใช้เป็นหลักการที่กำลังพูดถึง

พิธีกร : แล้วบ้านเราใช้สูตรนี้ด้วยไหมครับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ยังครับ ในทางกฎหมายยัง ยังไม่ได้มีการกำหนด

พิธีกร : ถ้าอย่างนั้นผมเอาตัวเลขนี้เลยแล้วกันครับ 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์มาประมาณ ตีว่าไปถึงโรงพยาบาลตำรวจแล้วรีบตรวจก็น่าจะตรวจตอนตี 4 ก็เป็นเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ถ้าตีว่า 4 ชั่วโมงก็คำนวณง่ายแล้วไม่ต้องไปคำนวณ 16.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ได้ เอาที่ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เวลา 4 ชั่วโมงก็ 60 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ รวมกับของเก่าที่มีอยู่ 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะอยู่ที่ 70 กว่า ก็เกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนด

พิธีกร : ถ้าเอา 3 ชั่วโมงล่ะ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ก็เอา 45 ไปบวกกับ 10 กว่า ก็เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

พิธีกร : อย่างนี้ในที่เกิดเหตุ จะบอกได้ไหมว่าเขามีการเมาแล้วขับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : อันนี้เป็นการคำนวณ แต่ในทางกฎหมายมันต้องใช้หลักฐานที่เป็นเอกสาร เพราะฉะนั้นก็เป็นหลักฐานที่ตรวจ ส่งไปตรวจเมื่อไหร่ มีการระบุออกมา แล้วตัวเลข คือ เท่าไหร่ นั่นคือหลักฐานที่ใช้ในทางกฎหมาย ส่วนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกับการคำนวนสูตรแบบนี้ สามารถที่จะเอามาพูดในเชิงวิชาการได้ แต่ในทางกฎหมาย มันต้องถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในเรื่องของทางคดี ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาในชั้นศาล

พิธีกร : ตอนนี้ก็ต้องให้ศาลไปพิจารณาอีกทีนึง
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ตรงนี้มันยังมีประเด็นว่า ในส่วนตัวนะ ประสบการณ์ ยังไม่เคยถูกเรียกให้ไปคำนวนย้อนหลัง

พิธีกร : ก็แสดงว่าการที่เอาตัวตรวจเลือดไป 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ไปถึงชั้นศาลแล้วถ้าไม่มีการคำนวนย้อนหลังก็น่าจะบอกว่าไม่เมา
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : แต่แน่นอน คือ วันนี้ ในกฎหมายใหม่ที่พูดถึง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ปรับปรุง 2557 บอกว่าให้ตำรวจสันนิษฐานได้ในกรณีที่ไม่เป่า ไม่เจาะ ก็สันนิษฐานว่าเมา

พิธีกร : สันนิษฐานว่าเมา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเมานะ สันนิษฐาน
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : มันก็ต้องมีหลักฐานมายืนยันซึ่งกันและกันอีก

พิธีกร : เขาบอกว่าเขาดื่มไป 2 แก้วครับ เป็นแชมเปญ 2 แก้ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดน่าจะเท่าไหร่
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : คือ ถ้าคำนวณนะครับ เอาแบบมาตรฐานกลางก่อน มีคนทำวิจัยอยู่แล้วว่าถ้าเป็นไวน์ แชมเปญจริงๆก็คือไวน์ขาวที่มีแอลกอฮอล์ประมาณกัน คือ ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นแก้วมาตรฐานแล้วก็ดื่มกันแบบไม่ได้เต็มแก้ว 2 แก้วมีโอกาสถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

พิธีกร : 2 แก้ว ก็จะเกินแล้ว
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : มีโอกาสเลย

พิธีกร : เขาบอกว่าดื่ม 2 แก้วแต่เป็น 2 แก้วเล็กๆ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ก็ขึ้นอยู่กับขนาดแก้ว แต่ขนาดแก้วมาตรฐานที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่ถึงครับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

พิธีกร : แล้วถ้าเป็นเหล้าล่ะ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ถ้าเป็นเหล้า เขาไม่ได้นับปริมาณที่ผสม เขานับปริมาณเหล้าเพียว เหล้าเพียว 1 ช็อตประมาณ 30 ซีซี / 2 ช็อต ก็ถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

พิธีกร : มีสิ่งที่เห็นในรถอีก อันนี้ต้องถามสารวัตรเพียวว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในรถ ขวดไวน์ที่เปิดอยู่ ผมจำได้ว่ามันเคยออกกฎหมายว่า มีขวดไวน์ หรือ มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เปิดไว้ในรถ แม้ว่ารถจะไม่เคลื่อนที่ก็ตามก็ถือว่าคุณดื่มแล้วขับ
พ.ต.ต.ชวลิต : อันนี้ตัวกฎหมายระดับ พ.ร.บ. อาจจะไม่ได้ระบุรายละเอียดเยอะขนาดนั้น อันนี้อาจจะไปอยู่ในกฎกระทรวง หรือ อย่างไร ต้องไปดูรายละเอียดในส่วนนี้เพิ่มเติม

พิธีกร : แล้วการที่มีขวดไวน์อยู่ในรถ จะบอกว่าเพื่อนเอามาทิ้งไว้ มันเป็นหลักฐานบ่งชี้อะไรได้บ้างไหมครับ
พ.ต.ต.ชวลิต : สมมุติว่าเป็นคดีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเสี่ยเบนท์ลีย์ ถ้าเกิดมีคนเอามาให้ มีคนเอามาฝากแล้วเราต้องขนของไปอะไรอย่างนี้ มันก็อาจจะเป็นไปได้ โดยที่เราอาจจะไม่ได้ดื่มจริงๆ อันนี้อาจจะต้องให้ความเป็นธรรม

พิธีกร : อย่างนี้คดีนี้ สาววัตรเพียวมองว่า มีอะไรที่ตำรวจจะต้องปรับปรุงและตำรวจที่กำลังดำเนินการถูกตรวจสอบอยู่ตอนนี้เขาต้องห่วงเรื่องอะไรบ้าง
พ.ต.ต.ชวลิต : ผมคิดว่าทางที่คุณหมอได้พูดมาเมื่อสักครู่แล้วก็ คือ กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2557 ก็ได้แก้ไขส่วนที่ กรณีผู้ต้องหาไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์ ก็ให้สันนิษฐานไว้ว่ากระทำผิด ก็คือเมา ผมคิดว่าการที่กฎหมายเขียนไว้ ใช้ข้อความแบบนี้แล้ว เป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ด้วย มีผลต่อศาลด้วย ผมคิดว่าศาลเนี่ยสามารถหยิบประโยตนี้ไปใช้ในการพิจารณาได้เลย แล้วก็กฎหมายตัวนี้ ผมคิดว่าเป็นเครื่องมือให้กับทางพนักงานสอบสวนด้วยซ้ำ ให้กับทางตำรวจด้วยซ้ำที่จะมีเครื่องมือกระทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับคนที่กระทำผิด เมาแล้วขับจริงๆ เพราะว่า ก่อนหน้านั้น ถ้าเกิดว่าคนที่กระทำผิดเมาแล้วขับ แล้วเขายอมที่จะผิดเล็กๆน้อยๆ เพื่อที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ กลายเป็นว่าหลุดความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับไปเลย มันก็เป็นช่องว่างทางกฎหมาย ดังนั้น เจตนารมย์ที่เขาออกกฎหมายมาก็เพื่อที่จะปิดช่องโหว่ ช่องว่างไม่ให้คนที่เมาแล้วขับได้หลุดรอดกฎหมายได้ง่ายๆ

พิธีกร : แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น มีข้อหา คือ ประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส และเป็นอันตรายต่อร่างกาย ถ้ามีโทษคำว่าเมาแล้วขับเข้าไปด้วยเนี่ย โทษจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าพอสมควรเหมือนกันนะครับ อย่างเช่น ว่า เกิดอุบัติเหตุธรรมดาอาจจะมีโทษปรับ 1 หมื่น และมีคุกไม่เกิน 1 เดือนแต่ถ้าเมาแล้วขับ มันก็จะโดดขึ้นไปแล้ว เป็นเท่าไหร่นะครับ ถ้าเมาแล้วขับ
พ.ต.ต.ชวลิต : โทษจำคุก 1 ปี – 5 ปี ซึ่ง 1 ปี คือ ขั้นต่ำหมายความศาลจะพิจารณาให้เป็นโทษสถานเบา และมีโทษปรับตั้งแต่ 2 หมื่น – 1 แสนบาท

พิธีกร : โทษปรับสุงสุดจาก 1 หมื่นไปเป็น 1 แสน โทษมันจะต่างกันแบบนี้แหละ ซึ่งตอนนี้ตำรวจมีการตั้งข้อหา 3 ข้อหา ถือว่าครอบคลุมแล้วหรือไม่
พ.ต.ต.ชวลิต : ที่ควรจะเป็น คือ ต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เป็นการที่ภาคประชาชน และสังคมส่งเสียงแบบเต็มที่แล้ว แต่ว่าตอนที่แถลงวันแรก มันขัดกัน

พิธีกร : ตอนแถลงวันแรกยังไม่หนักขนาดนี้ ยังไม่เต็มที่ดีกว่า แต่ ณ ตอนนี้เป็นแบบนี้แล้ว แสดงว่าการที่สังคมจับตามองเป็นส่วนช่วยนะครับ ช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายจริงๆ

พิธีกร : หลังจากที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากันเรียบร้อยก็ต้องมีการพิสูจน์ในชั้นศาลกันต่อไปว่าบทลงดทษจะเป็นอย่างไร คราวนี้พอไปพิสูจน์ในชั้นศาลอะไรที่ทำให้ศาลพินิจพิเคราะห์แล้วว่าแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าเมาแล้วขับ แบบนี้เรียกว่าเมาแล้วขับ หมอหมูพอจะมีหลักฐานด้านการแพทย์ไหมครับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ผมย้อนไปที่ พ.ร.บ.จราจร ที่บอกนะครับ ที่บอกว่า ถ้าไม่เป่า ไม่เจาะ ก็สันนิษฐานได้ว่าเมาขณะขับขี่ ผมต้องเรียนก่อนว่า มันก็ต้องพิจารณาให้ลึกกว่านั้นอีกว่าต้องสมคสรแก่เหตุด้วย ในการปฏิเสธ ถ้าเกิดว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธแบบที่มันสมควรแก่เหตุมันก็สันนิษฐานได้ แต่ในขณะเดียวกันพอเวลาขึ้นพิจารณาในชั้นศาล การพิจารณาในชั้นศาลพิจารณาโดยใช้หลักฐานเป็นหลัก หลักฐานเรื่องของการเจาะเลือด ในกรณีแบบนี้ ปฏิเสธเรื่องการเป่าแต่ไปเจาะ คือ หลักฐานก็มีอยู่ในการเจาะ เพราะฉะนั้นการเจาะแอลกอฮอล์จากเลือดแล้วไปตรวจ แล้วก็เป็นหลักฐานที่ใช้ในการพิจารณา

พิธีกร : แล้วถ้าเข้าสูตรนี้ ใช้สูตรคำนวณย้อนหลังมันก็เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : อันนี้ก็ต้องไปดูว่าการพิจารณาในชั้นศาล มีการอนุญาตให้ใช้สูตรในการคำนวณด้วยหรือไม่ และถ้าไม่อนุญาต พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาไปแล้ว สันนิษฐานว่าเมาแล้ว ผมโดยส่วนตัวคิดว่าก็ควรที่จะต้องมีหลักฐานอื่น ที่จะประกอบให้เชื่อได้ว่าผู้ขับขี่เมาจริง

พิธีกร : เพราะว่าตั้งข้อกล่าวหาแบบนี้แล้ว ก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็น
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : ถ้าไม่เอาสูตรนะครับ ก็ต้องมีหลักฐานอื่นที่เชื่อได้ว่า ซึ่งหลักฐานอื่นที่เชื่อได้ว่าเนี่ย จริงๆแล้ว โดยปกติในการตรวจของผู้ขับขี่แล้วดื่มเขาต้องใช้เรื่องของหลักฐานการตรวจการเดิน กรณีเดินไมาตรง เวลาเดินไม่ตรง ที่เหมือนกับว่าเราแค่ไปถ่ายคลิปวิดีโอคนนี้ เดินเซไปเซมา เพราะว่านั่นการเมาแอ๋แล้ว แต่ถ้าคนที่มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แบบไม่มาก เขาอาจจะเดินตรงได้นะ แบบธรรมดา วิธีการตรวจจึงต้องแตกต่าง เขาเรียกว่าการเดินต่อเท้า คือ อันนี้ คือเท้าเอาปลายเท้ามาแตะส้นเท้าและแตะสลับไปเรื่อยๆ ถ้ามีแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายในกรณีแบบนี้จะเดินไม่ได้ ตามเส้นตรงแบบเดินต่อเท้า

พิธีกร : อย่างนี้ตำรวจต้องทำยังไงถึงจะได้หลักฐานตรงนี้มา ทดแทนการไม่เป่า
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : โดยหลักแล้วการตรวจในกรณีแบบนี้ ยังไงก็ตามในต่างประเทศ ในบ้านเราก็มี คือ ติดกล้องหน้ารถ ติดกล้องหมวก ตั้งกล้องถ่าย จะต้องมีอุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้วในการที่จะต้องเก็บหลักฐานเวลาจะไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ หลักฐานพวกนี้จะเป็นตัวสำคัญที่จะยืนยันได้ว่ากรณีดังกล่าวเมาหรือไม่เมา อย่างเช่น บอกว่าให้เดินต่อเท้าแล้วปฏิเสธ มันก็ต้องมีเหตุอันสมควรอีกเหมือนกัน ถ้าเจ็บขาก็ต้องมีผลตรวจชัดเจนทางการแพทย์ พวกนี้ก็เป็นกระบวนการในการตรวจ

พิธีกร : ตอนปฏิบัติหน้าที่ตำรวจเคยไหม การตรวจพิสูจน์แบบนี้แทนการเป่า ถ้าไม่มีเครื่องเป่าแล้ว ตำรวจก็ต้องมีหลักฐานอะไรบางอย่าง
พ.ต.ต.ชวลิต : ถ้าอิงตัว พ.ร.บ.จราจร 2557 ที่พูดถึงประเด็นนี้ มาตร 142 วรรค 4 เขาใช้คำนี้ ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอื่นๆ หากผู้นั้่นยังไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 วรรค 2 (2) ก็คือเมา การพิสูจน์ก็ต้องพิสูจน์ว่าเขาไม่ยอมให้การทดสอบยังไง ผมติดว่าตรงนี้ต้องมีอะไรที่ยืนยันได้ไหมว่า เขาไม่ให้การทดสอบ

พิธีกร : คือ เขาต้องพิสูจน์ว่าเขาไม่เมา หรือ ตำรวจต้องไปพิสูจน์ว่าเขาเมา
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : กฎหมายบ้านเราเป็นระบบกล่าวหา พนักงานสอบสวนก็กล่าวหาก่อนแล้วว่าเมา เมาสุราแล้วว่าเมาขณะขับขี่ เพราะฉะนั้นตัวผู้ที่จะต้องพิสูจน์ คือ ตัวผู้ถูกกล่าวหาเนี่ยละครับ หน้าที่ของเรา คือเราต้องไปเจาะเลือด ไปเป่าแอลกอฮฮล์

พิธีกร : นี่ไงเขาเลยตรวจออกมาแล้วว่าแอลกอฮอล์ในเลือด 10.73 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
รศ.นพ.วีระศักดิ์ : คือ ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาว่าเมาสุรา งั้นตำรวจก็ต้องมีหลักฐานอันพอควรเชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุเมาสุรา ทีนี้ตรงนั้นเราไม่ทราบ คือ ตำรวจท่านน่าจะมีหลักฐานอะไรไปประกอบ คำว่าปฏิเสธเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวมองว่า มันยังไม่พอ น้ำหนักมันแค่ระดับหนึ่ง ก็ควรที่จะมีเหตุอันเชื่อได้ว่าด้วย เพราะฉะนั้น คือ มีคนอาจจะบอกว่า คนในที่เกิดเหตุทั้งหมดเป้นพยาน เห็นว่าเมา เพียงพอหรือไม่ ก็อาจจะต้องมีหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า

พิธีกร : ผมถามเลยครับ จากนี้ไป ผมโดนตำรวจเรียกเป่าคนที่ไม่มีเส้นไม่มีสาย ไม่มีสตางค์ ไม่เป่าได้ไหม คนจนทั่วไปขับรถไม่เป่าผิดไหม
พ.ต.ต.ชวลิต : คือ กฎหมายก็เขียนชัด ว่าคนไม่เป่าก็สันนิษฐานว่าเมา การได้รับบาดเจ็บก็ต้องดูว่าเป็นเหตุอันสมควรในการจะปฏิเสธหรือเปล่า ถ้าทำ ผมก็ตีความว่า มันไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะปฏิเสธการเป่าได้โดยที่ไม่ผิด


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง