คัดลอก URL แล้ว

“ความหวังใหม่ ยารักษามะเร็งฝีมือคนไทย”

“ศูนย์ชีววิทยา ม.จุฬาฯ เผยกำลังวิจัยวัคซีนรักษามะเร็ง ส่วนปี 2570 ผู้ป่วยอาจได้ใช้แอนติบอดี้รักษาในราคาหลักหมื่นต่อเข็ม ด้านแพทย์แนะปรับพฤติกรรมการกินป้องกัน ก่อนเป็นมะเร็ง”

ในรายการเจาะข่าวเด็ด The Day News Update Special ทางช่อง Mono 29 พิธีกร คุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พูดคุยกับ นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับความหวังใหม่ให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษา ที่เน้นด้านภูมิคุ้มกันบำบัดและวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเป็นรายบุคคล เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้นานขึ้น รวมทั้งลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งบางชนิด

พิธีกร : ยารักษามะเร็งโดยคนไทย ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของไทย และ ณ วันนี้อยู่ในขั้นจะทดลองในมนุษย์แล้ว อยากให้คุณหมอไล่เรียงวิธีการรักษาอาการผู้ป่วยมะเร็งในปัจจุบันว่ามีทางเลือกอย่างไรบ้างในปัจจุบัน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : สำหรับยุคใหม่ตอนนี้จะมียากลุ่มใหม่ที่ใช้ภูมิต้านทานของตัวเอง มาใช้เป็นตัวฆ่ามะเร็ง เพื่อมาเสริมซึ่งไม่ใช่การนำมาทดแทนวิธีการเก่า

พิธีกร : วิธีการเก่า คือ ฆ่าทั้งมะเร็ง ฆ่าทั้งเซลล์ดี ทั้งการให้เคมีบำบัด ซึ่งบางคนอาจจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม แล้ววิธีใหม่เป็นอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : วิธีใหม่ คือ เสริมจากยาเคมี หรือ การฉายแสงที่ไปฆ่าทั้งมะเร็งและเซลล์ปกติ ปัญหา คือ เซลล์มะเร็งเอง วันหนึ่งก็พยายามปรับตัว เหมือนเชื้อโควิดพยายามจะหลบเลี่ยง วันหนึ่งอาจจะดื้อต่อยาก็ยังได้ ถึงวันหนึ่งแม้ว่ายาพยายามจะฆ่า มันฆ่าได้แต่เนื้อปกติ แต่ถึงวันหนึ่งมะเร็งอาจจะไม่ถูกฆ่าแล้ว มันจะปรับตัว อันนี้เป็นอันดับแรก ส่วนอันที่สอง มะเร็งจะกลายพันธุ์เพื่อหลบยาต่างๆ มันออกลูกออกหลานมาเป็นยี่สิบ สามสิบ ร้อยแบบ พันแบบ ถ้าเราไปให้ยาสูตรใดสูตรหนึ่งมันอาจจะเวิร์คแค่บางแบบ เพราะฉะนั้นอันนี้ คือ ปัญหาว่าทำไมเรารักษามะเร็งได้ยาก และไม่หาย รวมถึงการรักษา ทำยังไงให้ฆ่าเฉพาะเนื้อมะเร็ง ไม่ไปฆ่าเซลล์ปกติ จริงๆ คำตอบมีอยู่แล้ว ก็คือในระบบร่างกายของเรา ระบบภูมิต้านทานที่เรามีอยู่ ไม่ใช่แค่ป้องกันเชื้อโรค แต่ว่าเพื่อป้องกันเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นด้วย

พิธีกร : ภูมิต้านทานที่ว่า คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวของเราเอง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : เซลล์เม็ดเลือดขาวแล้วก็ระบบแอนติฟบอดี้ต่างๆ ทั้งหมดรวมกัน จริงๆร่างกายมนุษย์ หรือ ว่าสัตว์ที่ผ่านมา ในสัตว์ก็เป็นมะเร็ง จริงๆก็มีประวัติศาสตร์มาหลายร้อยล้านปี ว่ามีการเกิดเนื้อมะเร็งมาได้ ที่เราดำรงอยู่ได้ เพราะร่างกายระบบภูมิต้านทานมันสร้างขึ้นมา

พิธีกร : เข้าใจว่าถ้าภูมิต้านทานดี โอกาสที่จะเป็นมะเร็ง หรือ โอกาสที่จะฆ่าเซลล์มะเร็งก็ทำได้
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ถูกต้อง

พิธีกร : ทำให้เซลล์มะเร็งไม่เกิดพิษร้ายกับเรา
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : หรือว่าภูมิต้านทาน พอเจอเนื้อร้ายเกิดขึ้นมานิดนึง รีบฆ่าเลย

พิธีกร : เทคโนโลยีใหม่ที่ว่านี่ คือ “แอนติบอดี้” แอนติบอดี้ในร่างกายเราก็มี แล้วแอนติบอดี้ที่ต้องฉีดเข็มละ 2 แสน เป็นอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ตอนนี้เราพยายามที่จะให้ภูมิต้านทานของเรา มันฆ่ามะเร็ง เสริมจากยา ต้องสร้างกลไกตรงนี้ก่อนว่า มันมีกลไกหนึ่งที่มะเร็งมันหลบเม็ดเลือดขาว ปกติเม็ดเลือดขาวก็จะกินเนื้อมะเร็งเข้าไปเพื่อจะได้เรียนรู้ ได้กระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้กลับมาฆ่ามะเร็ง ซึ่งมะเร็งมีกลไกอันหนึ่ง จะพยายามไปเบรคไม่ให้เม็ดเลือดขาวที่พยายามจะมาฆ่า มันไปบอกว่าอย่าไปฆ่ามัน สร้างเกราะป้องกัน หรือ ว่า ไปหลอกว่าเป็นเนื้อปกติ

พิธีกร : แบบนี้คือ มะเร็งเรียนรู้ที่จะปรับตัว และอยู่ในร่างกายเรา แล้วมันก็ขยายเผ่าพันธุ์สิ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ถูกต้อง ทีนี้ตัวแอนติบอดี้เนี่ย เรามีแอนติบอดี้อยู่ แต่ตัวแอนติบอดี้ที่มาทำเป็นยาเป็นแอนติบอดี้ที่มีความสามารถในการไปทำให้เบรคที่มะเร็งพยายามจะบล็อค แอนติบอดี้จะไปทำให้ตรงนี้หมดไปเป็นแอนติบอดี้เฉพาะเท่านั้น

พิธีกร : ทำให้เซลล์ของเรา เม็ดเลือดขาวแอนติบอดี้ของเรา
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : รู้จักว่านี่คือ เนื้อมะเร็ง

พิธีกร : เห็นมะเร็งว่าหลบ แล้วเราก็เห็น และเป็นเกราะป้องกัน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : เรียกว่าทำให้เกราะป้องกันมันสลายไปก็ได้

พิธีกร : ดังนั้นแอนติบอดี้ก็จะเข้าไปจัดการได้
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ไปร่วมจัดการกับเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งแอนติบอดี้ หลายคนอาจจะคิดว่าเรามีแอนติบอดี้ในร่างกายอยู่ แต่แอนติที่นำมาใช้รักษา เป็นแอนติบอดี้ที่สกัดมาแล้วเป็นแบบเดียวเลย คือ จะต้องมีหน้าตาแบบนี้ ที่มีความสามารถในการสลายเกราะ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นยาแอนติบอดี้ นำแอนติบอดี้มาผลิตให้อยู่ในขวด

พิธีกร : เพราะแอนติบอดี้ของเราสลายเกราะมะเร็งไม่ได้ มันก็เลยเกิดมะเร็ง ดังนั้นมะเร็งที่หลบอยู่ เราก็เลยต้องการแอนติบอดี้อีกสักตัวหนึ่งนี่แหละที่เข้าไปในร่างกายเรา
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ ที่มีการวิเคราะห์วิจัยมาแล้วว่า ตัวนี้สามารถออกฤทธิ์แบบนี้ได้

พิธีกร : ซึ่งอันนี้เข็มละ 2 แสน และนำเข้าจากต่างประเทศ ตอนนี้มีใช้ในประเทศไทยอย่างแพร่หลายไหมครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : มี ก็คือ เข้าโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีทั้งหมด

พิธีกร : สิทธิ์ 30 บาท(บัตรทอง) ได้แอนติบอดี้แบบนี้ไหมครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ไม่ได้ครับ เพราะอย่างที่คุณบ๊อบพูดเข็มหนึ่ง 2 แสนบาท เพราะฉะนั้นตอนนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินเรามีจำกัด เรายังไม่ได้มีการจ่ายให้กับคนไข้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง

พิธีกร : เพราะฉะนั้นคนที่มีกำลังทรัพย์ อยากจะฉีดยาตัวนี้ก็สามารถฉีดได้
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ถูกต้อง

พิธีกร : ระยะเวลาในการฉีดนานแค่ไหน และจะจัดการกับมะเร็งแล้วหาย ค่าใช้จ่ายจะเป็นยังไง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : มันจะได้ผลในกรณีเช่น ได้ยาเคมีหรืออะไรต่างๆอาจจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว แพทย์ก็จะเลือกว่าโอเคจะลองตัวนี้ดู ซึ่งตรงนี้โดยสถิติจะทำให้คนที่ไม่มีทางรักษา อาจจะเพิ่มโอกาสหายได้มากขึ้นอีกสัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้ถ้าเราลองให้ดู เราก็จะประเมิน เช่น ฉีดไปสัก 3 – 4 เดือน ถ้ามะเร็งเริ่มอยู่ตัว แบบนี้แสดงว่ายามันได้ผล มีทิศทางที่ดี เราก็ต้องให้ยานี้ต่อเนื่องไป เพื่อให้มะเร็งไม่หลบเม็ดเลือดขาว ถ้าแบบนี้ก็ต้องใช้ระยะยาว

พิธีกร : คือ ให้แยกแยะได้ว่านี่คือมะเร็งในร่างกายเรา จะได้เข้าไปจัดการได้
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ แล้วไม่ถูกมันบล็อค ไม่ถูกสร้างเกราะ กลุ่มนี้ คือ ถ้าได้ผล ก็ต้องเป็นระยะยาวหลายปี

พิธีกร : ใช้เวลาหลายปี
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ตามทั่วไป ก็อย่างน้อย 2 ปี

พิธีกร : เข็มละ 2 แสน กี่เดือนให้ทีครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ประมาณสักเดือนละหน

พิธีกร : 2 แสนเดือนละหน ปีหนึ่ง 12 หน หรอครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ก็สัก 3 เดือน ก็ซื้อรถยนต์ได้ 1 คันแล้ว

พิธีกร : ปีหนึ่งก็เป็นล้าน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ครับ ปีละหลายล้าน

พิธีกร : 2 แสน เดือนละ 1 เข็ม ก็ 12 เข็ม ก็ 2.4 ล้านแล้วนะครับ แล้วต้อง สองปีเป็นอย่างน้อย
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ต้องสองปีอย่างน้อย สำหรับคนที่ได้ผล

พิธีกร : สำหรับคนที่ได้ผล แล้วถ้ามีระยะยาวมากไปอีกไหมครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : มีครับ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่คนไข้

พิธีกร : คือถ้าได้ผล ต้องฉีดไปเรื่อยๆ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ถ้าได้ผลแล้วก็มะเร็งยังเหลืออยู่ มันยังไม่ยุบ แต่ยายังได้ผลอยู่ เราก็ยังไม่อยากจะหยุดยา

พิธีกร : ผมมีตัวเลขตัวหนึ่งครับ จากเว็บไซต์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นงานวิจัยของอาจารย์ ค่าเฉลี่ยที่ได้ผล เข็มละ 250,000 บาท ณ ปัจจุบัน แล้ว 8,500,000 บาท คืออะไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : 8,500,000 บาท คือ ถ้าต้องใช้ 2 ปีเป็นอย่างน้อย เป็นค่าเฉลี่ย

พิธีกร : เงิน 8,500,000 บาท สำหรับบางคนอาจจะตายดีกว่า เพราะถ้าหายมา ก็อาจจะใช้หนี้ไม่หมด ทำให้คนทั่วไปไม่สามรถเข้าถึงยาได้ ณ วันนี้มีคนเข้าถึงกี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยของเราครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : คำนวณแล้วน่าจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

พิธีกร : แต่ ณ ตอนนี้มีอีกทางครับ แอนติบอดี้ที่เรานำเข้าจากต่างประเทศเข้มละ 2-3 แสนบาท คนไทยกำลังทำอยู่
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ครับ

พิธีกร : คุณหมอเป็นหัวหน้าคณะวิจัยเรื่องนี้เลย
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ครับ เป็นหัวหน้าทีมที่พัฒนาตรงนี้

พิธีกร : ตอนนี้มันยังไงบ้างแล้วครับ มีความหวังที่จะให้คนไทยได้เข้าถึงยาแอนติบอดี้นี้ ด้วยคนไทยด้วยกันเองที่ผลิตมา ราคาถูกลงในอนาคตข้างหน้า
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ต้องเรียนว่าจริงๆ ต้องขอบคุณคนไทยทุกคนที่เมื่อช่วงก่อนโควิด ช่วงนั้นเรามีการเริ่มดำเนินโครงการ มีผู้ให้การสนับสนุนหลั่งไหลเข้ามา และที่ผ่านมาช่วงโควิดเราก็ไม่ได้หยุด เราก็วิเคราะห์ วิจัย จนถึงในจุดที่เราฉีดในสัตว์ทดลองในลิงเรียบร้อยแล้ว

พิธีกร : ได้ผลเป็นอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ได้ผลก็ คือ ลิง ปลอดภัยดี เราฉีดในหนูทดลอง พบว่ายาสามารถฆ่ามะเร็งในหนูทดลองได้เรียบร้อย ข่าวดี คือเราทำงานมาถึงจุดที่เราวางแผนที่จะทดสอบในมนุษย์ในเวลาอีกไม่นาน ตอนนี้อยู่ในช่วงเวิร์คเอาท์ เราจะผลิตเพื่อลงในมนุษย์ในระยะคิดว่า ปีหน้าเราจะเริ่มผลิตนะครับ เพื่อทำให้สำเร็จออกมามีความปลอดภัย เพื่อทดสอบในมนุษย์อาจจะได้เป็นปลายปีหน้า(2566) หรือ ต้นปี 2567

พิธีกร : ตอนนี้ คือ กระบวนการผลิตหลังจากนี้ ปลายปีหน้าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ หรือ อย่างช้าก็ต้นปี 2567 แล้วกว่าจะถึงขั้นให้คนไทยได้ใช้งานกันอีกนานไหมครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : โดยทั่วไป ทุกคนเคยได้ยินจากวัคซีนโควิด มันจะมีเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 เราก็คงต้องทำเช่นกันตารมมาตรฐานการทดลองแบบนั้น

พิธีกร : กว่าจะถึงเฟส 3 ต้องใช้เวลากี่ปีครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : โดยทั่วไปถ้าไม่ติดอุปสรรคอย่างน้อยก็ 3 ปี

พิธีกร : ถ้าเราสตาร์ทต้นปี 2567 อีก 3 ปี ก็คือ ปี 2570 ถึงจะสามารถใช้งานได้ในประเทศไทยด้วยแอนติบอดี้ที่คนไทยผลิตเอง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : แต่ว่าขั้นตอนเหล่านี้ยังไงก็แล้วแต่ ปกติองค์การอาหารและยาของไทย จะเข้ามาช่วยวางแผนในส่วนของรายละเอียด วันนี้ก็จะเป็นข้อมูลคร่าวๆก่อน

พิธีกร : แล้วเรื่องราคาล่ะ ถ้าเราผลิตเอง ราคาจะแตกต่างแค่ไหนอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : แน่นอน ถ้าดูจากต้นทุนการผลิต ในส่วนของค่าของและค่าคนมันหมื่นต้นๆ ไม่กี่หมื่น ที่ต้องฉีดเข็มละ 2 แสน เพราะว่าเขามีการบวกค่าการตลาดเข้าไปด้วย ค่าวิจัย และค่าขนส่ง

พิธีกร : แต่ถ้าบ้านเราทำเอง และได้ผลดีเหลือหลักหมื่น
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ทางคณะแพทย์เราเองเป็นองค์กรการศึกษา เราคงต้องให้บริษัทที่จะไปผลิตต่อ เราต้องเลือกบริษัทที่เขาอยากจะทำให้คนไทยเข้าถึงในราคาที่ถูกที่สุด

พิธีกร : เริ่มมีความหวัง เพราะว่าจาก 2 แสนกว่าบาทต่อ 1 เข็ม หรือ ค่ารักษาประมาณ 8,500,000 ต่อคน ที่จะทำให้ใช้ชีวิตยืนยาวขึ้นได้ ถ้าบอกว่าจาก 2 แสนบาท เหลือสัก 2 หมื่น ลดลงมา 10 เท่า เราก็อาจจะรักษามะเร็งได้ประมาณ 8 แสนบาท ไม่ถึงล้าน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : คิดว่าให้มันลดลงมาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็ยังดี

พิธีกร : อีกตัวหนึ่ง เห็นบอกว่าจะมีวัคซีนรักษามะเร็ง วัคซีนรักษามะเร็งกับแอนตี้บอดี้ที่ไปรักษามะเร็ง มันต่างกันอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ทุกคนน่าจะได้รับวัคซีนโควิดเป็นส่วนใหญ่แล้ว วัคซีนโควิด คือ ทำให้ภูมิต้านทานรู้จักเชื้อโควิด เหมือนกันเลยครับ วัคซีนมะเร็ง คือ ทำให้ร่างกายเรา เม็ดเลือดขาวเรารู้จักเนื้อมะเร็งของเรา เพราะฉะนั้นเวลามะเร็ง จะหลบเลี่ยงภูมิต้านทาน บางทีหลบและทำให้หน้าตาเหมือนกับเซลล์ปกติ เราต้องไปสอนเม็ดเลือดขาว

พิธีกร : คือ มันปลอมตัว
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : วัคศีนก็คือ เราต้องไปเอาเนื้อมะเร็งของคนไข้ มาเรียนรู้ว่าหน้าตาผู้ร้ายเป็นยังไง แล้วทำเป็นวัคซีนฉีดเข้าไปให้เม็ดเลือดขาวคนไข้ เขารู้จักว่าหน้าตาของมะเร็งเป็นแบบนี้

พิธีกร : เหมือนกับวัคซีนโควิดที่เอาเซลล์โควิด เอามาเรียนรู้และฉีดเข้าไป เพื่อทำให้เม็ดเลือดขาวรู้จัก
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ใช่ครับ

พิธีกร : แล้วตัวแอนติบอดี้ ก็ทำหน้าที่นั้นหรือเปล่าครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : แอนติบอดี้มันทำทีหลัง ขั้นแรก เม็ดเลือดขาวต้องรู้จักก่อนว่าเชื้อมะเร็งเป็นผู้ร้ายตัวไหน ลองใช้วัคซีนช่วย พอล็อคเป้าได้แล้ว ผู้ร้ายซึ่งเป็นมะเร็ง บอกว่าอย่าไปฆ่ามัน แต่ตัวแอนติบอดี้จะมาแก้ตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นการรักษาด้วยวัคซีนกับยาแอนติบอดี้มันต้องเสริมกัน เพราะว่ามันเป็นขั้นตอนที่มะเร็งมันมีวิธีหลบหลายแบบ

พิธีกร : แต่ว่าเราต้องเอาเซลล์มะเร็งของแต่ละบุคคล แสดงว่าในการสร้างวัคซีนเพื่อให้เรียนรู้มะเร็ง ก็คือต้องเชื้อมะเร็งในร่างกาย ออกไปสร้างวัคซีน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ถูกต้อง

พิธีกร : แล้วถึงจะฉีดกลับมาที่ร่าง ทำให้เรียนรู้ว่าเซลล์เหล่านี้ คือ มะเร็ง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : อันนี้ คือ ทำไมมะเร็งถึงรักษายาก เพราะว่าปกติการกลายพันธุ์ของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน

พิธีกร : สมมุติว่ามะเร็งตับของนายเอ กับ นายบี ไม่เหมือนกัน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งในก้อนเดียวกัน อย่างที่บอกมันออกลูกออกหลานออกมา อาจจะมีก้อนทั้งฝั่งซ้าย มันกลายพันธุ์แบบหนึ่ง ฝั่งขวามันกลายพันธุ์อีกแบบหนึ่งก็ได้ หรือ ว่ามันกระจายไป เช่นอยู่ในตับ และกระจายไปสมอง ไปปอด มันกลายพันธุ์ไม่เหมือนกัน

e

พิธีกร : ตอนไปอยู่ที่ปอดเป็นอีกแบบหนึ่ง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : อันนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมะเร็งจึงรักษายาก ความยาก นอกจากมันจะแข็งแกร่งแล้ว วิธีการหลบของมัน มันหลบเพราะต้องอยู่รอด

พิธีกร : การที่เอาเซลล์มะเร็งของเราออกมาเรียนรู้ สร้างวัคซีน เพื่อให้ร่างกาย แอนติบอดี้ของเรารู้จักว่านี่คือมะเร็ง แล้วเวลาใส่แอนติบอดี้เข้าไปเพิ่มเติม ทำให้เซลล์มะเร็ง เกราะป้องกันอ่อนแอลง แล้วเรื่องผลลัพธ์ของการใช้แบบเดิมเคมีบำบัด กับผลลัพธ์ของแอนติบอดี้พวกนี้ พ่วงกับวัคซีนเข้าไปด้วย แตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ตอนนี้ก็มีการศึกษาว่า การให้ยากลุ่มแอนติบอดี้ที่มีขายแพงๆ มันยังได้ผลอยู่ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ชนิดมะเร็งก็เลยมีแนวคิดว่า มันต้องหาอะไรมาเสริม เพราะฉะนั้นวัคซีนก็เป็นหนึ่งอันที่จะมาเสริมทำให้เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพตรงนี้เพิ่มมากขึ้น

พิธีกร : ตอนนี้วัคซีนขายทั่วโลกหรือยังครับ
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ยังครับ จะมีแค่ทีมวิจัย หรือ บริษัทชั้นนำที่กำลังศึกษากันอยู่

พิธีกร : ประเทศไทยของเราก็กำลังศึกษาอยู่ด้วย
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : กำลังศึกษาอยู่ และเราเห็นแล้วว่าคนที่กำลังศึกษาอยู่ เรียกได้ว่ามีเทคโนโลยีและเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการ ก็คิดว่าแนวคิดตรงนี้น่าจะมาถูกทาง และก็มีงานวิจัยจากทีมวิจัยต่างๆก็โชว์ว่าถ้าใส่วัคซีนเข้าไป มันเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของการตอบสนองเกินกว่าแอนติบอดี้อย่างเดียว

พิธีกร : แล้วมะเร็งระยะไหน หรือ การเป็นมะเร็งส่วนไหนของร่างกายที่ใช้หลักการนี้แล้วได้ผล
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ทุกการรักษามะเร็งคิดเหมือนกันหมด คือ ยิ่งเป็นช่วงแรกๆ ยิ่งรักษาง่าย ระยะ 1-2 ง่ายกว่า ระยะ 3-4 เพราะว่าร่างกายผู้ป่วยยังแข็งแรงอยู่ พอแข็งแรงอยู่ภูมิต้านทานก็ยังดีอยู่ พอไปกระตุ้นก็ยังทำงานได้ แต่ถ้าเป็นระยะ 4 คนไข้อยุ่ในระยะโทรม กินอาหารอะไรก็ไม่ได้ให้ยาเคมีเข้าไปก็เกิดพิษ เกิดเอฟเฟกต์จากยา ก็กินไม่ได้เข้าไปอีก

พิธีกร : แล้วแอนติบอดี้ หรือ วัคซีนกลุ่มนี้ มีเอฟเฟกต์ไหม
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ก็มีอีกแบบหนึ่งครับ ถ้าเป็นเคมีบำบัดหรือฉายแสง จะมีเอฟเฟกต์ เพราะไปฆ่าเซลล์ปกติ แต่ยาแอนติบอดี้ไปกระตุ้นภูมิ ทีนี้พอไปกระตุ้นภูมิมากๆ อาจจะแอคทีฟเยอะเกิน อาจจะไปทำร้ายชิ้นเนื้อร่างกายก็เป็นแพ้ภูมิตัวเองขึ้นมาได้บ้าง

พิธีกร : แล้วผลจะเป็นจะเป็นยังไง ถ้าแพ้ภูมิภูมิตัวเอง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : ก็ได้หลายอย่าง แต่อาจจะไม่ได้เจอเยอะ อาจจะมีปอดอักเสบ ไทรอยด์อักเสบ ลำไส้อักเสบ พวกนี้พอภูมิเยอะเกินไปหน่อย เราก็สามารถที่จะลดปริมาณยา หรือ หยุดยาชั่วคราวได้เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร

พิธีกร : ถ้าเราอยากจะป้องกันเชื้อมะเร็ง ตอนนี้คุณหมอเริ่มมีการวิจัยการป้องกันมะเร็งบ้างหรือยัง
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล : การป้องกันมะเร็ง เอาที่มันใช้ได้กับทุกคน อันแรก คือ เรื่องพฤติกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เรื่องการสูบบุหรี่ ดื่มสุราเยอะๆ เราควรหลีกเลี่ยง อีกอันหนึ่งที่เป็นแนวใหม่ที่ทั่วโลกกำลังสนใจและเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งก็คือ การบริโภคอาหาร พวกโรคอ้วน การที่เราบริโภคฟาสต์ฟู้ด หรือ อะไรที่เราทำให้เราน้ำหนักตัวเยอะ มีค่าดัชนีมวลกายสูงเกินปกติ พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ 16-17 ชนิด เป็นเรื่องที่เจอเยอะในหมู่คนไทย คนไทยอ้วน มีจำนวน 1 ใน 3 ไม่ใช่แค่โรคอ้วน แต่ตามมาด้วยเบาหวาน ความดัน ถ้าเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ป้องกันไว้ดีกว่า ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกายต่างๆ การปรับพฤติกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องเทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อมะเร็งต่อไปก็อาจจะหาเชื้อมะเร็งได้เพียงแค่การเจาะเลือดก็รู้ว่ามีเชื้อมะเร็งซ่อนอยู่ ตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกามีการให้ทุนในหาวิธีให้ทราบว่าใครเป็นมะเร็ง เป็นการหาเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ในอนาคตคงจะได้เห็นกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง