“กรมสุขภาพจิตแนะประชาชนเสพข่าวสลดแต่พอดี เตือนคนใกล้ชิดผู้ประสบเหตุใช้ความเข้าใจ อย่ากดดันให้รีบเข้มแข็ง ขณะบรรยากาศล่าสุดในพื้นที่ยังเต็มไปด้วยความโศกเศร้า”
…
ในรายการเจาะข่าวเด็ด The Day News Update Special ทางช่อง Mono 29 พิธีกร คุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พูดคุยกับพญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่จะมาแนะนำการดูแลเด็กและญาติที่ประสบกับเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู รวมทั้งติดตามสถานการณ์ในพื้นที่กับ พ.ต.อ.จักรพรรดิ วิจิตรไวทยะ ผกก.สภ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู
พิธีกร : มีหลายคนติดตามข่าวสารและรับเหตุการณ์ไม่ได้ อยากให้พูดถึงผู้ก่อเหตุว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่
พญ.วิมลรัตน์ : การก่อเหตุ มีวิจัยของสหรัฐอเมริกาก็จะพบว่ามีเหตุกาณณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะ ผู้ก่อเหตุโดยใช้อาวุธปืนและทำร้ายผู้อื่น พบว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชน้อยกว่า 1% ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเวช แต่อาจเป็นคนที่ไม่รู้ว่าเข้าถึงการรักษาหรือไม่ แต่เป็นคนที่มีปัญหาอาจจะควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีในตอนนั้น หรือมีภาวะอะไรบางอย่างในตอนนั้นที่มีโอกาสที่จะก่อความรุนแรง ซึ่งยังไม่ใช่ผู้ป่วย
พิธีกร : เป็นไปได้หรือไม่ว่าเมื่อนำคนเหล่านี้ไปวิเคราะห์แล้วเค้าอาจจะเข้าข่ายผู้ป่วย
พญ.วิมลรัตน์ : ต้องว่ากันอีกที เพราะเราไม่เคยรู้ว่าจริงๆแล้วเป็นยังไง แต่จากที่เราพบไม่ใช่ว่าเป็นผู้ป่วยชัดเจนแล้วออกมาทำอย่างนี้ ทุกครั้งที่มีเหตุไม่ใช่แค่รุนแรงต่อคนอื่น รุนแรงต่อตนเองก็มีเช่นกัน ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายก็มี เราจะพบว่าคนกลุ่มนี้จะมีสัญญาณเตือนมาก่อนเสมอ
พิธีกร : ผู้ก่อเหตุรายนี้ก็มีสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้
พญ.วิมลรัตน์ : ทุกคนค่ะ นึกถึงเรามีความสุขดี ชีวิตดี ตื่นเช้ามาบอกว่าวันนี้อยากจะทำร้ายคนอื่นมันคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีอะไรบางอย่างเช่นช่วงนี้มีปัญหาความเครียด มีวิกฤติในชีวิต ช่วงนี้อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป หรือมีคำพูดคำจาอะไรบางอย่างว่าอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากทำร้ายคนอื่น มีความแค้น มีความชัง หรือมีอะไรบางอย่างที่มันจะนำมาก่อนหน้านั้นแล้ว จะไม่ใช่เรียกว่าอยู่ดีๆมีความสุขแล้วก็อยู่ดีๆพลิกหน้ามือเป็นหลังมืออยากจะมาทำเรื่องที่มันแย่ๆ
พิธีกร : คนที่อยู่รอบข้างถ้าเห็นพฤติกรรมหรือว่าการแสดงออกที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ มีข้อสังเกตุยังไงบ้างว่าน่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ต้องเข้าไปดู เพราะบางคนแค่คิด
พญ.วิมลรัตน์ : จริงๆคนรอบข้างจะพอรู้อยู่แล้วว่าคนที่อยู่ข้างตัวเราเป็นคนแบบไหน แต่ถ้าสังเกตเขาจะมีพฤติกรรมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างชัด เช่นเมื่อก่อนอาจนานๆหงุดหงิดที แต่ตอนนี้หงุดหงิดทุกเรื่อง หรือมีเหตุการณ์ที่วิกฤติในชีวิต มีสถานการณ์นำที่ชัดเจน พฤติกรรและอารมณ์เปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน เป็นจุดที่น่าห่วง
พิธีกร : อย่างเคสนี้ก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและแสดงออกรุนแรงในช่วงหลัง คนรอบข้างควรทำยังไง
พญ.วิมลรัตน์ : คนรอบข้างสำคัญมาก ต้องเข้าใจก่อนว่าคนใกล้ชิดอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล ไม่ใช่นิสัยไม่ดี ต้องมีทัศนคติก่อนว่าเค้าเกิดอะไรขึ้นเราจึงอยากจะลงไปช่วยเหลือ เพราะความช่วยเหลือที่พูดถึงสำคัญมาก การคุยการรับฟัง แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับเค้า เค้ารู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตทุกข์ยังไงเจอความไม่ยุติธรรมยังไง เค้ารู้สึกถูกกดดันยังไง ถ้าเราเข้าใจจะช่วยแก้ได้ แต่สิ่งนั้นต้องเป็นการฟังแบบไม่ตัดสิน ฟังแบบเข้าใจแบบอยากช่วยเหลือ ถ้าทัศนคติที่ไปคุยตั้งแต่แรกคือไม่อยากยุ่ง ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเค้าก็จะรู้สึกได้ว่าเราคิดอย่างงั้นกับเค้า เค้าก็จะไม่คุยอะไรกับเรา เค้าก็จะไม่สามารถที่จะขอความช่วยเหลือ จริงๆเชื่อว่าทุกคนไม่ได้อยากทำสิ่งไม่ดี ถ้าเราซึ่งเป็นคนใกล้ชิดสามารถช่วยเหลือได้ เหตุการณ์ร้ายๆก็จะเกิดได้ยากขึ้น
พิธีกร : การไปเข้าใจเค้าต้องทำยังไง ส่วนใหญ่คนที่ฟังเหตุการณ์ก็จะแนะนำหาทางออกให้ คนเหล่านี้เค้ายินดีทำตามคำแนะนำ หรือไม่ต้องการคำแนะนำ
พญ.วิมลรัตน์ : คนทั่วไปก็ไม่ยินดีเดินตามคำแนะนำ เพราะสถานการณ์ที่เค้าเกิดขึ้น ไม่ใช่สถานการณ์เดียวกับที่เราเกิดขึ้น หรือความเข้มแข็งของเรากับเค้าก็ไม่เท่ากัน สิ่งที่สำคัญจริงๆคือเราต้องฟังว่าโลกของเค้าคืออะไรเราจึงจะเข้าใจ ถ้าตอนนี้ยังไม่ได้เยอะมากนัก แค่มีคนซักคนหนึ่งเข้าใจแค่นั้นดีขึ้นเยอะแล้ว แต่ถ้าเราฟังแล้วมีความคิดว่าเค้ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น เราถึงต้องรีบจัดการป้องกันก่อน เช่นเข้าสู่กระบวนการอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการจัดการก่อนเกิดปัญหาได้
พิธีกร : การฟังอย่างเข้าใจกับการฟังปกติ ต่างกันมั้ย
พญ.วิมลรัตน์ : ต่างกัน ถ้าฟังอย่างเข้าใจเค้าเรียกว่าฟังถึงอารมณ์ความรู้สึก สำคัญจริงๆคือฟังก่อนแล้วถามเค้าว่าอยากให้ช่วยอะไรบ้าง ถ้าเค้าบอกมาว่าช่วยแนะนำหน่อย อันนั้นเราแนะนำได้ แต่ถ้าเค้าไม่ทำตามที่เราแนะนำก็อย่ารำคาญ เพราะถ้าเค้าทำได้ เค้าไม่ปรึกษาเราตั้งแต่แรกแล้ว
พิธีกร : ในพื้นที่มีความเคลื่อนไหวยังไงบ้าง
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ทุกจุดเต็มไปด้วยความโศกเศร้า หลายส่วนก็กำลังให้ความช่วยเหลือทั้งส่วนราชการและเอกชนกำลังเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูแลจิตใจและช่วยเหลือเยียวยา
พิธีกร : ความต้องการของคนในพื้นที่ ที่คนที่อยู่โดยรอบสามารถช่วยเหลือได้บ้าง
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ตอนนี้ต้องการการดูแลจิตใจ ยังมีการพูดคุยถึงเหตุการณ์เมื่อวานอยู่ทุกส่วนของ อ.นากลาง มีแต่ความโศกเศร้าและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ส่วนความต้องการอย่างอื่นยังไม่มี
พิธีกร : ผู้บาดเจ็บ 10 รายตอนนี้อาการเป็นยังไงบ้าง
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : มีผู้บาดเจ็บรายหนึ่งส่งต่อไปรพ.อุดร อาการสาหัส และมีที่ยังรักษาตัวที่รพ.หนองบัวลำภูประมาณ 4 ราย และรพ.นากลางประมาณ 3 ราย นอกนั้นออกจากโรงพยาบาลหมดแล้ว มีที่ปลอดภัยแล้วกลับบ้านได้บางส่วน
พิธีกร : ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ อย่างผู้กำกับต้องลงไปทำหน้าที่อะไรยังไง ณ ตอนนี้
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ตอนนี้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาในที่เกิดเหตุเรื่อยๆ ต้องมีการจัดการจราจรและดูแลความสะดวก ความปลอดภัยและรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้
พิธีกร : ยังมีเหตุการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องหรือไม่ในพื้นที่เหล่านั้น
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ไม่มี
พิธีกร : ต้องพูดโยงไปถึงบุคลากรในสำนักงานตำรวจว่าอนาคตยังมีการเฝ้าระวังเหตุการณ์ลักษณะนี้ยังไงบ้าง
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : คงมีการเฝ้าระวังเรื่อยๆ เพราะว่าปัญหาของบุคลากรในองค์กร แต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องหนี้สิน อาจจะมีปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความกดดันที่จะทำให้ทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่นได้ เราก็ต้องคอยเฝ้าดูผู้ใต้บังคับบัญชาเรื่อยๆ
พิธีกร : ตอนนี้ได้มีการสื่อสารกับตำรวจในสังกัดยังไงบ้าง
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ตอนนี้ทุกคนกำลังยุ่งอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ ดูแลที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวนและอำนวยความสะดวกให้ผู้บังคับบัญชา รวมทั้งสถานการณ์ต่างๆในพื้นที่เพื่อดูแลประชาชน
พิธีกร : มีความต้องการด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาตำรวจที่อาจจะอยู่ในภาวะความเครียดในช่วงเวลานี้บ้างมั้ย
พ.ต.อ.จักรพรรดิ : ตอนนี้ยังไม่มี
พิธีกร : ตอนนี้ความสนใจอยู่ที่จ.หนองบัวลำภู โดยวันนี้ช่วงบ่ายนายกฯจะเดินทางไปประชุมสรุปสถานการณ์ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จากนั้นประมาณ 19.30 น. นายกฯจะเป็นประธานรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีที่จะเสด็จลงพื้นที่ด้วย หัวใจของคนทั้งประเทศไปอยู่ที่หนองบัวลำภูเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายและทำให้คนที่นั่นได้รับความดูแลอย่างทั่วถึง
วันนี้เราคงเป็นห่วงคนในพื้นที่หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมคนในพื้นที่ต้องทำยังไง เพราะยังมีการพูดคุยกัน ยังมีความโศกเศร้าอยู่ ซึ่งการจะตัดความโศกเศร้าไปเลยก็คงจะทำยาก แต่การพูดคุยระหว่างกันและกัน จากนี้เค้าจะ มูฟออนต่อไปยังไงดี
พญ.วิมลรัตน์ : หลักการคือในพื้นที่ต้องไม่ตอกย้ำกันเอง ไม่มีการพูดถึงในเชิงลบ เช่นทำไมต้องเกิด ทำบุญมาไม่ดีรึเปล่า อะไรแบบนี้ ในเชิงที่ไม่รู้ว่าจะก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้ยังไงวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เดือนแรกบางทีคุยกันก็ยังวน เสลาเราเจอเรื่องร้ายๆ เราให้เวลาประมาณ 1 เดือนในการค่อยๆทำให้มันดีขึ้น คือจะต้องดีขึ้น แต่ภายใน 1 เดือนยังมีความวนเวียน ภาพติดตา ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกที่นึกถึงแล้วรู้สึกถึงความสูญเสีย ภายในเดือนจะค่อนข้างมากอยู่และมันถึงจะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ
พิธีกร : คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่อยากจะรับรู้เรื่องราว รายละเอียดก็จะไปสอบถามกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตรงนั้น ซึ่งจะทำให้เค้ายังติดอยู่ในหัว
พญ.วิมลรัตน์ : จริงๆไม่อยากให้ทำ ถ้าทางการแพทย์เราเวลาไปถามเรามีกระบวนการในการถาม พอเราถามเสร็จเราจะมีกระบวนการที่จะถามคำถามให้เกิดความหวังหรือปิดด้วยความหวัง แต่ถ้าเกิดว่าเราไปถามแค่สถานการณ์ว่าตอนนี้แย่ยังไง มันก็คือไปเปิดแผลว่าฉันแย่อย่างงั้นอย่างงี้ เสร็จแล้วเปิดแผลทิ้งไว้เลย ซึ่งมันเป็นการทำให้คนในพื้นที่จะต้องมาหายาปิดแผลตัวเอง ทั้งที่จริงๆตอนแรกแผลอาจจะแค่นี้ แต่เราไปแหวกไปย้ำจนกระทั่งแผลมันใหญ่
พิธีกร : เหมือนจะทำให้เค้าคิดอยู่กับเรื่องนั้นวนอยู่ตลอด
พญ.วิมลรัตน์ : ใช่ เพราะหลักอย่างหนึ่งของการทำสิ่งนี้ นอกจากคุยถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึกว่าเราจะก้าวต่อไปยังไง สิ่งที่สำคัญคือเค้าต้องกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติให้เร็วที่สุด เพราะถ้าวันๆยังต้องมาเจอแต่เรื่องแย่ๆ ไม่ได้กลับไปทำงาน ไม่ได้กลับไปเรียน ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ มันจะข้ามไปไม่ได้
พิธีกร : ความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ที่มีแต่คนรุมล้อมเข้าไปสอบถาม เค้าจะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตแค่ไหนยังไง
พญ.วิมลรัตน์ : แล้วแต่คน บางคนก็อาจจะมีความเข้มแข็ง แต่บางคนที่มีความเปราะบางคือเป็นคนคิดมากหรือว่ารับไม่ได้อยู่แล้วพอไปตอกย้ำมากๆมันจะทำให้ขั้นตอนของการเยียวยาใจตัวเองสะดุดไป พอสะดุดก็เท่ากับทำภารกิจเยียวยาตัวเองไม่เสร็จก็หมายความว่าสิ่งนี้จะอยู่ติดตัวเค้าไป เหมือนมีแผลเป็นไปเรื่อยๆ
พิธีกร : ถ้าเราเป็นคนที่อยู่โดยรอบ อยากไปพูดคุย ให้กำลังใจ อยากช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่เข้าไปไม่ถูก ต้องทำยังไงดี
พญ.วิมลรัตน์ : ไม่ต้องพูดอะไร หรือถ้าจะถามก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เป็นห่วงจังเลย วันนี้รู้สึกอะไร วันนี้เป็นยังไง ต้องเป็นคำถามที่ไม่ใช่การอยากรู้ว่าเรื่องเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องเป็นคำถามที่อยากให้เค้าได้พูดออกมาว่าจริงๆตอนนี้เค้าเป็นยังไง
พิธีกร : เชื่อว่าหลายคนแม้กระทั่งสื่อมวลชนก็อยากรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นยังไงจะได้ไล่เรียงถูก
พญ.วิมลรัตน์ : อยากรู้เหตุการณ์กับอยากรู้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน อยากรู้ความรู้สึกถ้าไปถามว่าตอนนี้ทุกข์ขนาดไหนแต่ไม่ได้หมายความว่าให้เค้าเล่าว่าตอนนี้เค้าเป็นยังไง เค้าอาจจะบอกว่าตอนนี้ไม่ได้ทุกข์อาจจะวุ่นๆ มันเป็นการใส่ความคิดของเราลงไป ถ้าเป็นแบบนั้นอาจจะไม่ได้ช่วยคนที่กำลังแย่ คนที่กำลังแย่เค้าต้องการความเข้าใจ เค้าต้องการที่จะเล่าว่าเค้าเป็นยังไง แล้วทุกคนเข้าใจเค้าหน่อยว่าเค้ากำลังรู้สึกแย่แค่ไหน แต่ถ้าเค้าไม่อยากเล่า เราก็ไม่ควรไปบังคับให้เค้าเล่า เพราะเค้าอาจจะอยากเล่าเฉพาะกับคนที่เค้าไว้ใจ คนที่เค้าสนิทเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้อยากเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟังมากมาย เราเข้าไปถามแค่เค้าอยากให้ช่วยอะไร เป็นห่วงแต่ไม่ใช่ให้เค้าต้องลุกยืนให้ได้ ต้องสู้ๆนะ ถ้าทำได้เราก็คงไม่ต้องให้กำลังใจ เราต้องยอมรับต้องยอมให้เค้าอ่อนแอ ต้องยอมให้เค้าได้แสดงออกถึงความรู้สึกเสียใจ อย่างที่เมื่อกี้บอกว่าบรรยากาศในพื้นที่มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ ถ้าไม่มมีสิแปลกเป็นการแสดงออกของอารมณ์ที่ไม่ถูกต้องคือการต้องบอกตัวเองว่าฉันเสียใจแต่ฉันแสดงออกว่าเสียใจไม่ได้ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง
พิธีกร : ถ้าคนที่แข็งแกร่งเร็ว เราจะรู้สึกว่าแปลกหรือเปล่าที่เค้าไม่เศร้าโศก เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พญ.วิมลรัตน์ : ไม่ค่ะ แข็งแกร่รงเร็วก็มาช่วยคนอื่นได้ เพราะแต่ละคนล้มแล้วสามารถลุกยืนได้แตกต่างกัน ความแข็งแกร่งทางใจเปรียบเทียบไม่ได้ และต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงเศร้า แม้กระทั่งคนใกล้ชิดเราป่วย หรือเป็นโรคร้ายแรงเรายังเศร้าเลยยังต้องใช้เวลา อันนี้เป็นมากกว่านั้นเพราะฉะนั้นการใช้เวลาที่อยู่กับอารมณ์ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ บางทีเราจะบอกว่าจงเข้มแข็ง ไม่ต้องร้องไห้ ทำนู่นทำนี่เดี๋ยวก็ลืม คือพวกนี้ทำให้การจัดการอารมณ์ไม่เรียบร้อย จริงๆคือเค้าจะต้องเศร้า ต้องรับรู้ว่าตัวเองเศร้า เค้าจะต้องรู้ว่าความเศร้าในอารมณ์ของเค้ามันจะค่อยๆหายไป แต่ไม่ใช่เป็นการปิดบังไว้แล้วไม่รู้ว่าตัวเองเศร้า
พิธีกร : อยู่เป็นเพื่อนได้ แต่อย่าตอกย้ำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พญ.วิมลรัตน์ : ใช่ นั่งข้างๆ คอยรับฟัง คอยดูแล คอยช่วยเหลือในสิ่งที่เค้าขอให้เราช่วยเหลือ
พิธีกร : มีประเด็นในโซเชียล คนที่อยู่ในที่เกิดเหตุแล้วยังมีชีวิตรอด รู้สึกเสียใจด้วย แล้วโทษตัวเอง
พญ.วิมลรัตน์ : ใช่ เจอได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะในคนที่รักผู้ที่เกิดเหตุ ถ้าเป็นไปได้ฉันยอมแทนปฏิกิริยาตรงนี้ไม่ใช่รู้สึกผิดอย่างเดียว เวลาเจอเรื่องแย่ๆแบบนี้จะเจอหลายๆอย่างปนกัน โกรธแค้น เกลียด เสียใจ เศร้า รู้สึกชีวิตหมดหวัง รู้สึกผิด
พิธีกร : คนรอบข้างต้องทำยังไง
พญ.วิมลรัตน์ : ต้องเข้าใจว่าความคิดเค้าจะวนไปวนมาอย่างนี้ จะเป็นอยู่ในช่วง 1 เดือนนี่ถือว่าปกติ แต่มันควรจะน้อยลงเรื่อยๆ คือสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน เพราะช่วงเหตุการณ์ใหม่ๆบางทีไม่มีเรี่ยวแรง แต่มันจะมีขึ้นมากเรื่อยๆ และใน 1 เดือนนี้เราจำเป็นที่จะต้องรับฟัง คอยดูแลไม่ตำหนิ อย่าไปเร่ง แค่อยู่เป็นเพื่อน เดี๋ยวเค้ายืนด้วยตัวเค้าเองได้ คนรอบข้างต้องรอ
พิธีกร : คนเสพข่าวต้องทำยังไง
พญ.วิมลรัตน์ : ถ้าดูข่าวมากเกินไปอาจจะต้องปิด เปลี่ยนไปดูอย่างอื่นบ้าง อันนี้สำคัญ เพราะถ้าเราจมอยู่กับอะไรซักพัก มันเยอะเกินไป ไม่ใช่แค่เรื่องข่าว อย่างเราดูซีรีย์บางทีก็จมจนเสียการเสียงานก็มี ต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม และที่สำคัญคือไม่อยากให้แชร์ภาพความรุนแรง เพราะเป็นการตอกย้ำ พอมันอยู่ตลอด บางคนถึงเวลาครบปีก็ขึ้นมาเตีอน นึกถึงจิตใจว่าถ้าเป็นญาติของเราเราคงจะอยู่ไม่ไหวเหมือนกัน ถ้าไม่ไหวจริงๆต้องรับรู้อารมณ์ตัวเองก็ออกจากข่าวแล้วไปคุยกับคนอื่นหรือทำอย่างอื่น นี่เป็นพื้นฐานการผ่อนคลายความเครียด เป็นการชาร์ตแบตให้ชีวิตมีพลังงาน
พิธีกร : โรงเรียนที่มีเด็กเล็กควรดำเนินการยังไงเพื่อป้องกันตัวเอง
พญ.วิมลรัตน์ : ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่ทำบรรยากาศหรือกิริยา อารมณ์ คำพูดของเราออกไปให้เค้ารู้ว่าทุกอย่างปลอดภัย เด็กเล็กจะเชื่อเราว่าปลอดภัย อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่ดูแล อย่าตื่นตระหนก ดูแลอารมณ์ตัวเอง ตั้งสติดีๆ