คัดลอก URL แล้ว

“ไถเงินญาตินักโทษ แลกอยู่สบายในคุก”

ท่ามกลางความหนาแน่นผู้ต้องขังจำนวนมากในเรือนจำและทัณฑสถานในประเทศไทย ส่งผลให้การใช้ชีวิตอยู่ในภายเรือนจำ จึงต้องเผชิญกับความแออัด ยัดเยียด และปัญหาอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง มากกว่าที่ควรจะได้รับเพียงการต้องไปชดใช้ความผิดในเรือนจำ

ด้วยความลำบากที่เกิดขึ้นหลายอย่าง จึงทำให้บรรดาญาติของผู้ต้องขังต้องการให้ญาติของคนที่อยู่ในเรือนจำได้รับการดูแลที่ดี จึงกลายเป็นช่องที่ถูกนำมาแอบอ้าง หาประโยชน์จากญาติผู้ต้องขังบางส่วน จากเจ้าหน้าที่บางรายที่เห็นแก่ตัว ซึ่งก็เกิดเป็นประเด็นที่ร้อนแรงนี้ขึ้นมา เมื่อญาติร้องถูกผู้คุมเรือนจำไถเงินเป็นค่าดูแลนักโทษให้อยู่สุขสบายในคุก แฉมีพฤติกรรมซ้ำซาก ในรายการ The Day News Update Special ซึ่งทางด้านราชทัณฑ์จ่อลงโทษขั้นเด็ดขาด ร่วมหาวิธีป้องปรามกับทนาย ผู้เสียหายและอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ญาติระบุ ต้องตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ เอาให้ถึงที่สุด

น้องบุ้งกี๋ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เล่าว่า ที่ผ่านมาเอาเงินส่งไปให้แม่ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นเงินที่ที่เงินตนเองบ้าง หยิบยืมพี่มาบ้าง เพื่อนพ่อบ้าง ก่อนจะที่โอนเงินยังบัญชีตามเลขบัญชีที่ได้รับมา

จนกระทั่งมีป้าศรี ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในห้องเดียวกับแม่ พ้นโทษออกมา ก็ได้โทรหาพ่อของตน และบอกว่า หากผู้คุมมาขอเงิน อย่าให้ไป เพราะเป็นการหลอกเอาเงินจากญาติ โดยอ้างว่า จะมีดูแลข้างในให้อยู่ดี กินดี ทำงานเบา ๆ

ซึ่งเมื่อมีเรื่องขึ้นมา ทางคุณพ่อก็กลัวว่า ผู้คุมคนนั้นจะไม่ได้ดูแลแม่ รวมถึงกังวลเรื่องความปลอดภัยของแม่ด้วย ผู้คุมเคยบอกกับคุณพ่อว่า ไม่ให้คุณพ่อส่งจดหมายหาคุณแม่ และไม่ให้คุณแม่ส่งจดหมายหาคุณพ่อ แต่เมื่อโทรไปสอบถามกับทางเรือนจำกลับได้คำตอบว่า ลงเยี่ยมออนไลน์ได้ แล้วส่งจดหมายหากันได้

“ทำไมเขาต้องทำกับพ่อขนาดนี้ แค่เขียนจดหมายหากันไม่ได้เลยหรอ หนูก็บอกคุณพ่อว่าจะไม่เก็บผู้หญิงคนนี้ไว้ เพราะว่า เป็นภัยแก่สังคม ถามว่ากลัวไหม ในใจลึกๆก็กลัว หนูกลัวเขาจะไปทำกับคนอื่นในลักษณะนี้ ประชาชนทุกคนก็เดือดร้อน”

ถ้าหลักฐานครบแล้วยังทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีกระทรวงยุติธรรม

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ช ได้กล่าวในรายการระบุว่า ผมมองข้ามเรื่องที่ผู้คุมจะติดคุกไปแล้ว จากหลักฐานที่มีคิดว่าเอาผิดได้ มีการโอนเงิน มีเงินสด มีคลิปเสียง ถ้ามี 3 อย่างขนาดนี้แล้วยังทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอัตราโทษสูงสุดของการเรียกรับสินบน คือ จำคุกตลอดชีวิต แต่โทษหนักขนาดนี้ ก็ยังกล้าเรียกรับสินบน ไม่เข้าใจว่ามายเซ็ทของข้าราชการ ของกระทรวง ของเจ้าหน้าที่ ของกรมราชทัณฑ์ แนะนำปลูกฝังกันมาอย่างไร อันหนึ่งที่น่าสนใจ และทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ คือ การไปรีดไถกับคนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เขารวบรวมเศษเงินมาให้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

เคสแบบนี้ ส่วนใหญ่ผู้เสียหาย คนที่จ่ายเงินจะไม่กล้ามาเป็นพยาน ไม่กล้าเอาเรื่อง ตอนนี้ป้าศรีก็ไม่กล้ามาเป็นพยาน คือ กลัว ส่วนหนึ่ง คือ ผู้ต้องขังอยู่ข้างใน คนร้องเรียนอยู่ข้างนอก บางทีกฎหมายไม่ได้คุ้มครองการกระทืบกันในคุกเสมอไป

โดยทนายรณณรงค์ อยากให้มีการตรวจสอบเรือนจำทุกเรือนจำอย่างจริงจัง ให้นักโทษได้มีการพูดคุยในทางลับกับบุคคนภายนอกเรือนจำ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า มีผู้คุมเรียกรับเงินไหม ซึ่งเรือนจำเราอยากเห็นการตรวจสอบที่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องนี้ก็มีคนบอกว่าควรจะเอาเข้ากรรมาธิการสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปตรวจสอบเรือนจำ

ซึ่งที่ผ่านา เป็นปัญหาที่ระบบ ปัญหาที่ผู้บังคับบัญชา ถามว่าผู้คุมรายนี้มีพฤติกรรมลักษณะนี้ ตั้งแต่ปี 2562 ทำไมปี 65 ยังได้มาทำงานอยู่ในเรือนจำ ย้ายจากแดนนั้นมาอยู่ส่วนงานรับโทรศัพท์ แล้วพอทางนี้โทรไปร้องเรียน เจ้าตัวก็รับเองตลอด และการลงโทษ คือ ย้าย ก็ต้องตั้งคำถามว่า มันพอไหม คุณย้ายแล้วมันพอไหม

สิ่งที่เราคาดหวังไม่ใช่การเอาผิดผู้คุมที่มาเรียกรับเงิน แต่คือทำให้มาตรฐานของเรือนจำทั่วทั้งประเทศ ไม่มีการเรียกรับเงินเลย

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

ทางด้านของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาก็มีการรับฟังอยู่เสมอ เป็นนโยบายของกรมราชทัณฑ์ก็ชัดเจนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ซึ่งก็ได้ลงโทษทางวินัยไล่ออก ปลดออกไปหลายราย

สำหรับเคสนี้กรรมการสอบสวนวินัยก็สอบสวน คาดว่าแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การประชุมอ.ก.พ..กรมราชทัณฑ์ ในรอบหน้าที่จะดำเนินการไล่ออก ซึ่งทางผู้อำนวยการเรือนจำหญิง ได้โทรรายงานมา ทางเรือนจำได้ขยับขยายเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบปะกับผู้ต้องขังมาไว้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยวานนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้ลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย

ส่วนโทษทางอาญาก็ต้องดำเนินการแจ้งความไป ถ้าผิด พ.ร.บ.เรื่องทุจริต จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป ส่วนเคสอื่นๆ ก็ดำเนินการเหมือนกัน ได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการเรือนจำ กรณีถ้ามีเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแบบนี้อีก ให้รีบแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมฯ โดยด่วน เพื่อที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

ส่วนกรณีของการที่มีการร้องเรียนทั้งจากคนภายในเรือนจำ หรือคนนอกก็ตาม จะส่งผลให้เกิดบัญชีม้ารับเงินแทนหรือไม่ ในประเด็นนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดคือ ผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ต้องสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชา และเมื่อทราบพฤติกรรมและพฤติการณ์หากว่ายังจับไม่ได้ด้วยหลักฐานก็ต้องรีบดำเนินการทางลับแจ้งมาที่ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการต่อ โดยจะมีแนวทางคือ

ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ระบุว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ต่อไปจะต้องร่วมบริหารงานเรือนจำกับภาคสังคม จะได้มีการตรวจสอบในระบบของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางทีเจ้าหน้าที่มักไปพบญาติข้างนอก โดยที่ทางเรือนจำไม่ทราบก็มี นัดกันเองบ้างก็มี ถูกหลอกบ้างก็มี

ในอนาคต การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือ ญาติผู้ต้องขัง สามารถที่จะมีส่วนร่วมกับเรือนจำได้เลย เราก็อยากฟังเสียงสะท้อนจากญาติเหมือนกัน เพื่อการประเมินตัวเราเองด้วย ทั้งเรื่องการเป็นอยู่ การปฏิบัติ เรื่องอาหาร ปัจจัย4 เราก็อยากทราบเหมือนกันว่าพึงพอใจระดับไหน บางเรือนจำอาจจะไม่ดี ก็จะได้เปลี่ยนผู้บังคับบัญชาไปเลย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง