นารายา อยู่คู่กับไทยมา 33 ปี จากร้านเล็กๆ ปิดม่าน ของเก็บไว้ข้างใน ค่อยๆ ขยับขยาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน จากนั้นก็สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เป็นของที่ระลึกอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องซื้อ “วาสนา รุ่งเเสนทอง ลาทูรัส” เจ้าของแบรนด์กระเป๋าพันล้าน “NaRaYa” นารายา หรือที่ชาวจีนเรียก ม่านกู่เปา Ribbon Bag ที่ชาวญี่ปุ่นเรียก มาแชร์ประสบการณ์การทำงานสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ
1.ทำให้ดี ให้มีคุณภาพ
นารายาไม่เคยมีแผนก Marketing มา 30 ปี จนภายหลังมีลูกชายเข้ามาช่วย ถ้าถามว่าดังได้ยังไง อันที่ 1.เรามีวาไรตี้เยอะมาก 2. สินค้าของเรคุณภาพดี และ 3. ราคาไม่แพงจนเกินไปสามารถซื้อได้ (affordable) สามหลักนี้ทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก ตอนนี้นารายาเข้าปีที่ 33-34 แล้ว ถ้าถามตรงๆ คือ แบรนด์เราขายตัวเอง ทุกคนรู้จักเพราะขายความสวยงาม ทำให้คนอยากจะได้
2.ทุกครั้งที่มีปัญหา เจอช่องทางใหม่ๆ เสมอ
พี่เชื่อเสมอว่า ในความเลวร้าย มันมีช่องประตูของความโชคดีอยู่นิดหน่อย สำหรับนารายาเอง ทุกครั้งที่มีปัญหา เจอช่องทางใหม่ๆ เสมอ ตอนนี้นารายาเองเหมือนเป็นมือหนึ่งในการจ่ายงานชาวบ้าน เริ่มมาจากที่ พอเราตั้งโรงเย็บแล้ว เด็กเย็บ 15 คน พอสงกรานต์กลับบ้าน ทำนากลับบ้าน เกี่ยวข้าวกับบ้าน ประมาณปลายปี ไฮซีซั่นแบบนี้เรากำลังขายดีเลย แต่คนเย็บต้องกลับบ้าน เราก็เลยคิดว่า เอาจักรไว้ที่บ้านคนเย็บมั้ย นั่นทำให้เราได้ไอเดียว่า เอาจักรไปตั้งบ้านเลยมั้ย แล้วเดี๋ยวชั้นหาวิธีส่งให้ ทำให้เราหาโลจิสติกส์ก็ไปดูจังหวัดนั้นๆ มีโลจิสติกส์อะไรที่วิ่งมากรุงเทพ คือเราบริหารจัดการให้เสร็จเลย ชาวบ้านก็นั่งเย็บอยู่ในบ้านเขาได้เลย และก็สอนให้เขาแพ็ค ให้เขาคิวซี ขอให้เขาส่งมาถึงรถไฟหรือขนส่ง ค่ารถเดี๋ยวเราจ่ายให้ เขาก็แฮปปี้ไม่ต้องทิ้งบ้านละ เราก็ใช้วิธีนั้นหาไปเรื่อยๆ และจะบอกว่า
“ปัญหาทุกปัญหามันมีสิ่งดีซ่อนอยู่เสมอ หามันให้เจอ”
3.การเป็นผู้บริหารคือการบริหารปัญหา
ตำแหน่งผู้บริหารคือการบริหารปัญหา ปัญหาที่เจอหนักที่สุดถ้าในตอนนี้คือโควิด แต่ถ้าก่อนหน้านี้คือ บริหารคน คนที่จะต้องสื่อสารกันให้เข้าใจ ใช้ภาษาเดียวกัน เช่น บอกคนเย็บว่าอันนี้เย็บเบี้ยว แต่คนเย็บบอกไม่เบี้ยว อันนี้คืองั้นเราต่างคนต่างไป
ของนารายาคือ ต้องควบคุมคนเย็บหลายรอยคนซึ่งอยู่ห่างกันออกไป วิธีเราคือต้องฝึกเขา สมัยก่อนเราไปฝึกเขาที่้บ้าน แต่สมัยนี้คือถ้ามีแพทเทิร์นใหม่ๆ ก็ให้เขามาฝึกที่นี่ ฝึกโดยการบอกเขาว่าแบบนี้เอา แบบนี้ไม่เอา ฝึกตรงนี้เสร็จก็ให้กลับไปทำที่บ้านสัก 4-5 ใบ ส่งมาให้คุณครูดู ว่าถูกไหมก็มีการคอมเมนท์กลับไป เดี๋ยวนี้ดีใช้โทรศัพท์กันเป็นเปิดวิดีโอเปิดกล้องดูอันนี้ผิดอันนี้เบี้ยว ถ้าใช้ได้แล้วก็จะบอกเค้าอะเอาไป 50 ใบ เราก็ให้กำลังใจเค้านะว่า ถ้าเมื่อไรยูได้เย็บกระเป๋า 500 ใบนะ กระเป๋ายูได้ส่งออก
4.มีแพชชั่นแล้วสนุก และคิดอะไรที่แตกต่าง
พอมีแพชชั่นแล้วสนุก เหมือนกับว่าเป็นคนชอบทำอาหารด้วย และทำกระเป๋าเนี่ยก็เหมือนทำอาหารให้กับคนทาน มีอยู่ครั้งนึงจำได้ขายที่พัฒพงษ์ เมื่อ 20 ปีแล้ว คนทำกระเป๋าแบบนี้จะมีผ้าลายอย่างเดียวไง ผ้าลายช้าง ลายดอกไม้ สมัยนั้นเราเริ่มเป็นคนที่เอาลายผ้าเลขคณิตมาทำ คือเริ่มคิดให้มันแตกต่างออกไป มันก็ทำให้เราสนุกไง เหมือนทำกับข้าวแล้วมีคนมาทานอะ เสิร์ฟมาจานก็หมด สามจานก็หมด
อยากเห็นนารายาอยู่คู่กับสังคมไทย อนาคตอยากมีร้านในฝรั่งเศส อิตาลี ในยุโรปให้มีร้าน ในฐานะแม่มีหน้าที่คอยซัพพอร์ตลูกให้ไปถึงฝัน ก็อยู่ที่เค้าว่าจะฝันอะไร