คัดลอก URL แล้ว
ความสำเร็จคือของเช่า “อูน ชนิสรา” นักร้องเพลง เฮอร์ไมโอน้อง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ไดมอนด์เกรนส์

ความสำเร็จคือของเช่า “อูน ชนิสรา” นักร้องเพลง เฮอร์ไมโอน้อง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ไดมอนด์เกรนส์

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ อูน ชนิสรา ตอนนี้ผลงานอันดับแรกที่นึกถึงก็ต้องเป็นเพลงฮิตอย่าง เฮอร์ไมโอน้อง สาวน่ารักเสียงดีคนนี้ ยังมีความสามารถอีกด้านคือการเป็นนักธุรกิจ เธอเป็นเจ้าของสินค้าหลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ ไดมอนเกรนส์ (Diamond Grains) กราโนล่าคลีน หรือ ธัญพืชกรุบกรอบ ชื่อดังเจ้าแรกในประเทศไทย ไปติดตามเรื่องราวของเธอกันว่า กว่าจะประสบความสำเร็จเธอเริ่มต้นเดินทางอย่างไร มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างมั้ย? อาจจะได้แง่คิดหรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ต้องการทำธุรกิจนำไปปรับใช้หรือเห็นหนทางใหม่ๆ

นักธุรกิจที่มองเรื่องเงินเป็นเรื่องสุดท้าย

ปัจจุบัน อูน เป็นนักธุรกิจด้วย ตอนนี้มีสินค้าหลายแบรนด์ และกำลังจะมีแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาด้วย อาทิ ไดมอนเกรนส์, อาหารเสริม Moleculogy, ร้านอาหารผักฉ่ำคําหอม, Auroraspotion เครื่องหอมสินค้าสมุนไพร, Hometomyheart สินค้าไลฟ์สไตล์, และ serioussnack ขนมเฮลท์ตี้ ฯลฯ

อูนมองว่าตัวเองเป็นคนที่หาเงินได้ง่าย แต่ไม่ได้ชอบหาเงิน อูนทำงานเก่ง แต่อูนไม่ชอบทำงานเพื่อที่จะได้เงินมา เพราะอูนกดดันค่ะ เวลาทำอะไรจึงมองเรื่องเงินเป็นเรื่องสุดท้าย

ตั้งใจทำกราโนล่าตั้งแต่ตอนเรียนปี 3

เพราะอูนรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นโอกาสได้หมด อูนเคยอยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรเลย ตั้งใจทำกราโนล่าตั้งแต่ตอนที่เรียนปี 3 เริ่มทำขนมแล้ว แต่มีจุดนึงที่โรงงานไม่มีค่าน้ำค่าไฟจ่าย ต้องเอาทองไปจำนำ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเมื่อไรก็ตามที่เรามีพื้นที่ มีแรง มีลมหายใจ เราต้องหาเงินได้

เราใช้พื้นที่เล็กๆ ในห้องเรา ถ่ายรูปโพสต์ไปก่อนว่า เนี่ยเรารับทำแสน็กบ็อกซ์นะ มองว่ามันเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ คือเรารับเงินจากลูกค้ามาก่อน เพื่อที่จะเดินไปซื้อขนมแล้วนำมาจัดใส่กล่องให้เค้า เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องลงทุนอะไรเลยสักบาทเดียว หาความดีงามของมันให้เจอ มันมีคนที่พร้อมจะรับความดีงามเหล่านั้น

ไม่โลภ สิ่งที่ทำให้มองเห็นโอกาสในธุรกิจ

อูมว่าสิ่งที่ทำให้มองเห็นโอกาสในธุรกิจที่ทำตอนนั้น คือ อูมไม่โลภ ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าเรามีเงินในบัญชีเท่าไร ทั้งหมดนั้นพี่แพ็ค (สามี) เป็นคนจัดการหมดเลย พอเราไม่รู้เรื่องเงิน สิ่งที่เรามองเห็นจากเค้ามันจะเป็นความพิเศษบางอย่าง คือก็คิดแบบนั้นว่าเพราะความไม่โลภไม่คิดเรื่องเงินนี่แหละมันเลยกลายเป็นธุรกิจก่อน และธุรกิจนั้นถึงจะหาเงินได้

ฟังดูง่ายสำหรับคนมีเงิน แล้วคนไม่มีเงินเค้าจะมองยังไงให้สำเร็จ?

อูนอยากให้ทุกคนมีคือ ความรู้พื้นฐาน ในการพิมพ์ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คืออูนรู้สึกโชคดีตรงที่มีสิ่งที่ใครเอาไปจากอูนไม่ได้เลยคือ ความรู้ในหัว ขอยกตัวอย่างรีเซต ไปวันที่อูน เอาสินค้ามาขายให้ลูกค้าจีนวันนั้น อูนเปิดเว็บไซต์ตั้งเว็บขึ้นมาเป็นชื่อบริษัทแยกออกมาเลย และก้อไปลงในเว็บอาลีบาบา (Alibaba) ปรากฏว่ามีคนจีน reply เมสเสจกลับมา ก็ปิดออเดอร์นั้นได้ ทำให้เรารู้ว่า อ๋อ! ต้นทุนไม่ใช่เงิน ต้นทุนคือความที่เราเห็นอะไรบางอย่าง สิ่งเนี่ย คือสิ่งที่เค้าควรจะได้มันจากเรา

อูน ชนิสรา นักร้องเพลง เฮอร์ไมโอน้อง ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ไดมอนด์เกรนส์

สรุปคือ 1.มองให้เห็นว่าโอกาสอยู่ตรงไหน 2. ศึกษาอย่างละเอียด 3. อย่ายอมแพ้ คือต้องมองว่ามันเป็นไปได้เสมอ

สามปีแรกเท่ากับศูนย์ เพราะไม่เข้าใจธุรกิจที่ทำ

อูนกับพี่แพ็คไม่ซื้ออะไรเลย 3 ปี เสื้อผ้ายังส่งกลับไปให้ที่บ้านช่วยซักให้ มีอะไรเอาไปจำนำได้ก็ไปจำนำ อย่าง แหวนเพชร ที่ได้มาตอนรับปริญญา ช่วงแรกก็พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ ช่วงหลังๆ เริ่มไม่พอ หลายคนถามอูนว่าทำไมยังทำต่อ ไม่กลัวเหรอ ช่วงแรกที่ทำ อย. ไม่ผ่าน ก็คิดว่าต้องทำไงให้ผ่าน คือแค่อยากรู้ว่าต้องแก้ปัญหายังไง

จริงๆ ขอเงินพ่อแม่ได้ แต่เพราะรู้สึกเกรงใจและเข้าใจกันกับพี่แพ็คสองคนก็พอแล้ว เคยร้องไห้ด้วยกันกับพี่แพ็คในวันที่อูนเริ่มล้มรู้สึกเหนื่อยๆ ก็จะสลับกันให้กำลังใจ จำได้ว่าก่อนที่ Diamond Grains จะเป็น Diamond Grains อาทิตย์เดียวตอนนั้นรู้สึกเหนื่อยมากที่สุด เดือนนั้นค่าน้ำค่าไฟไม่พอ เปลี่ยนขนมมาหลายรูปแบบจนได้เป็นแพ็คเก็จแบบฝาใสที่ทุกคนได้เห็นกัน อูมก็เอาไปให้เพื่อนชิมก่อน ระหว่างทางจะไปเงินสดที่อยู่ในกระเป๋ามีประมาณสี่พันบาท

Diamond Grains แบบฝาใสที่ออกสู่ท้องตลาดครั้งแรก

ตอนนั้นกำลังขับรถไปก็มีคนขับมอเตอร์ไซค์มาทุบรถเรา ตึง! ตึง! ตึง! บอกว่า ออกมาๆ เพราะเราไปทับขาเค้า เราตกใจมาก ก็ให้สี่พันนั้นกับเค้าไปหมดเลย พอไปถึงบ้านเพื่อน เพื่อนบอกว่าให้เค้าทำไมเค้าเป็นโจร เลยทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก คือไม่เหลือเงินแล้ว แต่ที่โรงงานยังมีถ้วยขนม ยังมีวัตถุดิบ มีเครื่องซีล รู้สึกเหนื่อยเหมือนเป็นเงินก้อนสุดท้ายแล้ว เหนื่อยเกินกว่าที่จะไปหาอย่างอื่นทำ

พี่แพ็คพูดว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เหตุเดียวทำให้นั่งสั่นร้องไห้แบบเนี่ย ทำธุรกิจไม่ได้ ยังต้องเจอมากกว่านี้อีกเยอะ ที่เราเจออะยังน้อย เลยทำให้รู้เลยว่าวันนั้นอะ เพิ่งเริ่ม! นั่นหมายความว่า ความอดทนเราน้อย! ธุรกิจไม่ใช่ปัญหา เราทนได้น้อยเอง

ตอนนั้นก็เลยหยุดทุกอย่าง และคิดว่า เราเข้าใจธุรกิจหรือยัง หรือเราแค่อยากเล่นขายของ คือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธุรกิจคืออะไร ก็มานั่งคิดและทำให้เราตื่นเลย หมายความว่าวันนั้น เราตื่นคือเราหยุดทุกอย่าง หยุดคิด หยุดทำแบบเดิม

เลยนั่งคุยกันจริงจังว่าเราทำอะไรพลาดไปบ้าง แล้วก็มาเอะใจตรงที่พอเงินมันไม่เหลือเลยและเราอยากได้เงินจากลูกค้ามาหาเราเนี่ย ทำไมเราไม่เคยคิดถึงลูกค้าเลย สมมติเหมือน เราขอเงินพี่ได๋ร้อยนึง อยู่ๆ พี่ได๋ก็คงไม่หยิบมาให้อูน คือคงสงสัยว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ก็เหมือนกับลูกค้าเขาก็คงสงสัย คือหนึ่งเลย ลูกค้าไม่ได้เป็นครอบครัวเรา เค้าต้องเอาเงินมาให้เรา แล้วเราต้องเอาอะไรให้เค้า ก็เลยเหมือนโลกที่เคยคิดในการขายของมันถล่มลงมาว่า เห้ย เรากำลังยัดเยียดในสิ่งที่เค้าไม่ต้องการและเหมือนไปบังคับเอาเงินจากเขา นั่นคือสาเหตุที่สามปีแรกทุกอย่างเท่ากับศูนย์

ในวันนั้นพอย้อนกลับไปที่โรงงานมันก็มีถ้วยเหลืออยู่ วัตถุดิบต่างๆ ทำให้เป็นตะกอนความคิดที่ผ่านซ้ำๆ มาสามปีว่า อ๋อ

ลูกค้าเค้าใส่ซองไม่สะดวกไง เราเลยเปลี่ยนเป็นถ้วยไง ลูกค้าจะได้กล่องไปรษณีย์ไปแต่กล่องไปรษณีย์มันน่าเบื่อไง เราเลยลงทุนไปปริ้นท์กล่อง เปิดดูยูทูบว่าโฟโต้ช้อปทำยังไงเลยทำกล่องใหม่ให้มันมีดีไซน์ และก็ไปเปิดเว็บไซต์ของตัวเองเพื่ออธิบายให้ลูกค้าเข้าใจด้วยตัวเราเองว่าสินค้าเราเป็นยังไง

ความต้องการของลูกค้าคือที่หนึ่ง

พอได้กล่องไปรษณีย์ดีไซน์ในแบบของเราเอง และก็มีเพื่อนเป็น่างภาพมาช่วยถ่ายภาพให้ เพราะบัทเจ็ทเราน้อย จำได้ว่าโพสต์ภาพไปปุ๊บ มีออเดอร์แรก 150 บาท มันคือความรู้สึกที่ไม่ใช่แค่การได้เงิน คือย้อนกลับไปที่อูนบอกว่าเงินได้มาง่าย ใช่เงินอะได้ง่ายจริงๆ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือขั้นตอนที่ทำให้เขาเอาเงิน 150 นั้นมาให้เรา แล้วอันนั้นเหมือนเป็นการได้ลายเซนต์ที่บอกว่า ธุรกิจที่เธอทำถูกต้อง! คนที่มีค่าเลยคือลูกค้าที่จะเอาเงินมาให้เรา เราต้องแก้ปัญหายังไงก็ได้ที่ให้ลูกค้าได้ของที่ดีที่สุด ความต้องการของลูกค้าที่หนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาที่เข้าใจก็โตมาได้เรื่อยๆ

หิวการยอมรับ ความกลัวที่เกิดขึ้นทุกวัน และเราไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดนั้น

เรารู้สึกหิวการยอมรับ คือตอนนั้นถ้าทำพลาดอะไรนิดนึงจะร้องไห้หนักกว่าเดิมเพราะกลัว ว่าถ้าเสียไปจะเป็น ยังไง คือถ้าเราได้ออเดอร์มาถ้วยละ 28 บาท กล่องนึงมัน 150 บาท เราได้ 3 กล่อง ถ้าพรุ่งนี้มันเหลือศูนย์จะทำยังไง

มันเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ในใต้ความกลัวนั้นมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าก็จริงอย่างที่เราคิดจากจุดที่จากศูนย์กลายเป็นหนึ่ง เราคิดถูกแล้วที่สุดท้ายมันไม่ได้เกี่ยวกับเรา ธุรกิจนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเราและเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น เราไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดนั้น

ความสำเร็จคือของเช่า

สำหรับอูน ถ้าถามว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง อูนคิดว่า

ความสำเร็จมันคือของเช่า สมมติวันนี้ขายได้เท่านี้ อันนี้อูนเช่าลูกค้ามา พรุ่งนี้อูนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เขาอยากเช่าเราต่อ ถ้าเกิดว่าวันไหนก็ตามที่มีร้านเช่าที่ดีกว่าของอูน เขาก็ไปเช่าร้านอื่น ถือเป็นชาเลนจ์ที่สนุกดีค่ะ

คู่ชีวิตสำคัญมาก

อูนเองเป็นเด็กที่รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองมาตลอด เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้สวย เราไม่ได้เก่ง รู้สึกว่าถ้าเราอยากได้การยอมรับเราต้องขยันมากๆ และความขยันมันไม่มีที่สิ้นสุดของมัน เด็กที่ขยันแล้วต่อให้เราสอบได้ เกรดเท่าไร ได้ท้อปของคลาส มันจะไม่มีวันพอ เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องเก่งขึ้นไปอีกๆ ต้องได้กว่านี้อีก

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ไม่มีอะไร กินข้าวก็แบ่งกันสองคนกับพี่แพ็ค อูนก็พูดกับเขาว่า ขอโทษที่ต้องเป็นอูน ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะได้ไปแล้วในสามปีนั้น ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะดีกว่านี้ ขอโทษหม่าม๊าด้วยที่ไว้ใจ ขอโทษที่ทำได้แค่นี้

สิ่งที่พี่แพ็คตอบกลับมาคือไม่มีน้ำตา แค่บอกว่าพิสูจน์ทำไม ไม่ต้องพิสูจน์แล้ว เพราะที่ชวนมาทำด้วยกันอันนั้นคือพิสูจน์แล้วไม่รู้ตัวเหรอ คืออูนไม่เคยรู้ว่ามันมีความรักแบบนี้ ไม่เคยรู้ว่ามันมีความไว้ใจในระดับนี้ ยิ่งใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ ก็ทำให้รู้ว่าทั้งครอบครัวเราและครอบครัวเค้า ทำให้รู้ว่าอ๋อจริงๆ เราไม่ต้องเก่งขนาดนั้น เลยรู้สึกว่าจากเดิมที่ทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองกลายเป็นทำงานเพื่อลูกค้าได้อย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่ได้โฟกัสที่ตัวเองขนาดนั้น

เพราะว่าเค้าแค่รักเรา เค้าไม่ได้อยากให้เราเก่ง ไม่ได้มองว่าเราเป็นเครื่องมือ ไม่ได้รู้สึกว่าอ๋อเพราะเก่งแบบนี้เลยเลือกมาเป็นคู่ชีวิต เค้าแค่เชื่อว่าอยู่ด้วยกันแล้วจะมีความสุข

อูนคิดว่าคู่ชีวิตสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ได้ความเชื่อตรงนี้ อูนก็คงยังทำงานเพื่อตัวเองไปเรื่อยๆ มันมีจุดนึงที่เราหันไปถามเขาว่า จุดปลายทางอยู่ตรงไหนเหรอ ช่วงนึงมีคุยกันเรื่องตลาดหลักทรัพย์ และพี่แพ็คเป็นคนที่ชอบเงินมาก อูนแอบกังวลว่า ถ้าเค้าชอบเงินมากๆ เราจะไต่ไปถึงระดับที่เค้าต้องการได้ไหม พี่แพ็คบอกว่า จริงๆ แค่ทำงานในจุดที่เราพอใจก็พอแล้ว ถ้าวันนึงเรามีเงินเยอะๆ เราก็บิน Business Class ไม่ต้อง First Class ทุกอันก็ได้ ในส่วนที่เหลือเราก็เอาไปให้คนอื่นบ้างก็ได้ คือรู้สึกว่าถ้ามุมมองของพี่แพ็คไม่ได้เป็นแบบนี้มันจะยากมาก เลยถามว่า อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์มากทำไมอยู่ๆ ไม่อยากเข้าแล้ว เค้าบอกว่าก็รับไม่ได้เหมือนกัน ถ้าวันนึงเข้าไปตลาดแบบรีบๆ ไม่ได้พร้อม กลายเป็นว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจลำบากแล้วเราต้องลดทอนทุกอย่างให้ลูกค้าเพื่อแค่ให้ตัวเลขปลายปีมันดี แทนที่เราจะยอมลดฝั่งของเราเพื่อให้ลูกค้าได้เท่าเดิม

เลยรู้สึกว่า ต่อให้นิสัยเราจะต่างกันแค่ไหน เรามีสิ่งที่เชื่อมกันไว้คือ ความตั้งมั่น ในการทำงานของเรา และก็รู้สึกว่ายังหล่อเลี้ยงให้บริษัทยังเป็นอย่างทุกวันนี้

ความสุขกับความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

ทุกธุรกิจอยู่ได้ เพราะลูกค้าให้เงินเรา สามปีที่เดินทางโดยปฏิเสธตลอด และทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่ามันดี นั่นหมายความว่าอูนยังมีโอกาสอีกช่วงในการทำงานต่อ ทุกวันนี้นั่งทำงานโดยที่รู้สึกว่าทำไมเราโชคดีจังวะ ที่เค้าให้โอกาสเราทำงาน ได้เสกสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองออกมา นี่คือความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ก็คุ้มแล้ว พรุ่งนี้ตายก็ไม่เสียใจ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง