“เฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช” เจ้าของแบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” ในวัย 29 ปี เส้นทางการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างยอดขายระดับพันล้านบาทในระยะเวลาอันรวดเร็ว จุดเริ่มต้นของเธอกว่าที่จะมีวันนี้ทำอย่างไร ต้องเจอปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เผื่อเป็นแรงบันดาลใจและแง่คิดให้คนที่กำลังอยากทำธุรกิจของตัวเอง
อีก 5 ปี จะอายุ 30 แล้ว จึงต้องเริ่มธุรกิจของตัวเอง ที่คิดไว้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ต้องทำอะไรที่มั่นคง ซึ่งมองว่าสุกี้เป็นอะไรที่ไม่ได้ยากในการทำ แต่ก็มีอุปสรรคด่านแรกอยู่ตรงที่ ไม่เคยมีประสบการณ์การทำร้านอาหารมาก่อน
อยากทำธุรกิจของตัวเอง จุดเริ่มต้น สุกี้ตี๋น้อย
มีความฝันตั้งแต่เด็ก จะทำธุรกิจของตัวเอง จนอายุ 22 ปี ก็คิดว่ายังไม่มีประสบการณ์ จึงไปทำงานออฟฟิศทั่วไปก่อน ทำงานได้ 3 ปี อายุ 25 ก็มองว่าอีก 5 ปี จะอายุ 30 แล้ว มันต้องเริ่มในสิ่งที่เราคิดไว้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยมองว่าทำอะไรได้บ้าง
ที่บ้านมีแบลคกราวน์ทำธุรกิจเป็นร้านอาหาร เราก็มองว่าต้องทำอะไรที่มันอยู่แล้วมั่นคง ก็ไปศึกษาก่อนว่าจะทำอาหารอะไรประเภทไหนที่สามารถควบคุมมาตราฐานได้ ก็มองว่าสุกี้เป็นอะไรที่ไม่ได้ยากในการทำ
เรียนต่างประเทศ/กลับไทยทำงานออฟฟิศ/รู้สึกลำบาก/ไม่แฮปปี้กับงาน
ตอนเรียน เป็นคนที่ชอบเที่ยวต่างประเทศ เรียนมาทั้งหมด 4 ประเทศ ก็ไปเรียนที่ออสเตรเลียจบปริญญาตรี ก็เรียนต่อที่จีนอยู่เซี่ยงไฮ้ 1 ปี ไปเรียนภาษาจีน ไปฝรั่งเศส คือเฟิร์นชอบความชาเลนจ์ ไปแต่ละประเทศหลังจากออสเตรเลียจะเลือกที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
จากนั้นกลับมาเป็นสาวออฟฟิศที่ไทย รู้สึกไม่ค่อยชินตอนกลับมาไทย ตอนนั้นมองว่าการเดินทางทำไมลำบากจัง ต้องขับรถตลอดเวลา ทำไมเดินไปโน่นไปนี่ไม่ได้ ทำไมอะไรก็ไกล เราก็ไม่ได้รายได้เยอะอะไร ก็อยู่บ้าน ไปทำงาน อาจจะกินข้าวกับเพื่อนอาทิตย์ละครั้ง ไปดูหนังอะไรอย่างนี้ ก็ค่อนข้างเบสิคมากๆ
ตอนทำงานออฟฟิศรู้สึกไม่แฮปปี้กับตัวงาน เพราะว่าทุกวันคือรูทีนมาก เรารู้ว่าวันนี้ทำอะไร เลิกงานกี่โมง ไม่ได้มีการใช้ความคิด เสนอไอเดีย คือน่าเบื่อมากๆ บางทีก็มีเวลาว่างก็ไม่รู้จะทำอะไร พอมาทำสุกี้ตี๋น้อยได้ทุกอย่างที่ต้องการเลยค่ะ ชาเลนจ์สุดๆ ไม่มีคำว่ารูทีน ท้าทายได้ทุกจุด ทำงานไม่มีวันเสาร์อาทิตย์ ยิ่งวันหยุดวันนักขัตฤกษ์ยิ่งยุ่ง ไม่มีเวลาไปทานข้าวกับเพื่อนนะคะ เมื่อก่อนเพื่อนจะชอบนัดเจอ วันศุกร์หรือเสาร์อาทิตย์ เหมือนพนักงานทั่วไป แต่พอทำสุกี้ตี๋น้อยก็ไม่ได้ไปเจอเพื่อน ต้องขอให้เพื่อนมาหาที่ร้านสุกี้มาทานที่ร้าน ก็ประมาณเกือบ 2 ปี ที่เป็นแบบนี้ ไม่มีวันหยุด ไปไหนไม่ได้ โทรศัพท์คือต้องอยู่กับเราตลอดเวลา เราเปิดถึงตีห้า ถ้าใครมีปัญหาอะไร ต้องติดเราได้ แต่ก็สนุกนะคะ สนุกมากๆ
สุกี้ตี๋น้อย สาขาแรก บ้านบางเขน
ตอนแรกเรายังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จไหม เพราะยังไม่เคยทำ สุกี้มีมานานแล้ว คือเราไม่ได้ทำอะไรใหม่ แต่เราเพิ่มจุดอื่นต่างๆ อย่างเช่น สถานที่ ทั้งการบริการ อันนี้ที่เรา add เข้าไป เลยคิดว่านี่คือเหตุผลที่สุกี้ตี๋น้อยมีทุกวันนี้ได้
อุปสรรค ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน
มีแม่ครัวที่เป็นเชฟมาจากคุณพ่ออยู่หนึ่งคน ตอนเริ่มต้นอายุ 25 ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน ไปเปิดร้านวันแรกก็มีพนักงานจำนวนนึง เฟิร์นก็ถามพนักงานต้องทำอะไรยังไง ก็เข้าไปจัดเตรียม จัดวาง จัดโต๊ะ รอต้อนรับลูกค้า อยู่ทั้งหลังร้าน หน้าร้าน
ความที่เราเป็นบุฟเฟ่ต์ เราจะช้าไม่ได้ เพราะเวลามีจำกัด ก็อยู่ปีกว่าๆ ในร้าน อยู่ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ทำอะไรยังไง เป็นทั้งแคชเชียร์ พนักงานครัว ไปอยู่ตรงล้างจาน ทุกอย่างมันมีขั้นตอนการทำงาน เราอาจจะไม่รู้ตอนเราเป็นลูกค้า แต่พอได้ไปบริหารโอเปอเรชั่นของร้านอาหารจะเห็นได้ว่าทุกจุดสำคัญมาก พอได้ทำจริงๆ ทุกจุด มันทำให้เราบริหารได้จนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ใส่ใจทุกรายละเอียด เรียนรู้ทุกขั้นตอน เพื่อเข้าใจถึงปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุด
เลือก Stand alone มากกว่าไปอยู่ในห้าง
ถ้าจะจับได้ทุกกลุ่มทุกวัย การเปิด-ปิดเวลาทั่วไป ตามห้างเนี่ย ลูกค้าที่เลิกงานดึกเค้าจะทานอะไร ทานได้เมื่อไร การที่เปิด ถึงตีห้าเนี่ย ปกตก็ไม่ได้อยู่ในห้างได้อยู่แล้ว เราเลยทำแบบ stand alone เพื่อสะดวกกับลูกค้าด้วย ถ้าเข้าห้างก็วนหาที่จอดรถยากอะไรแบบนี้ค่ะ
จุดเด่นของร้านคือทุกองค์ประกอบ
ทุกองค์ประกอบนะคะ ทั้ง เวลาเปิดปิด เที่ยงคืน-ตีห้า ทั้งบรรยากาศการตกแต่งร้านตกแต่งอย่างเต็มที่ ที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มไหนก็ตามรู้สึกว้าวกับสถานที่ คือเรามองว่าสิ่งที่ลูกค้าจ่ายไปมันได้มากกว่าเงินที่จ่ายไป คือความคุ้มค่าของเค้า
ปี 2562 ปีแรกที่ขาย ขยายถึง 10 สาขา
ยอดขายได้ 499 ล้าน ขยายสาขาถึง 10 สาขา ช่วงที่โตเร็วที่สุดคือ ช่วงที่บล็อกเกอร์มารีวิว คือคิวต่อคิวยาวมากกก ในตอนแรก กลุ่มลูกค้าที่เรามองไว้ คือกลุ่มลูกค้ากลางๆ ที่ทำงานเลิกดึกอะไรแบบนี้ คือไม่ว่าจะอยู่กลุ่มไหนก็สามารถมาทานได้อย่างสบายใจ คือเปิดถึงเที่ยงคืนถึงตีห้าเพื่อรองรับทุกกลุ่มอยู่แล้ว ทำอย่างทำให้ได้มาตราฐาน ทำให้ทุกคนสบายใจในการมาทานที่สุกี้ตี๋น้อย
ช่วงแรกๆ ตอนนั้นเฟิร์นแค่ดูค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในการซื้อวัตถุดิบ แล้วก็ยอดขาย ก็ดูรวมๆ กัน ถ้าเรายังมีเงินเหลืออันนั้นก็คือแฮปปี้แล้วในช่วงนั้น
เราอยากให้ลูกค้ามีความสุขในการทานก่อน ก็คือทำวัตถุดิบที่ดี และกินได้อย่างสบายใจ ลูกค้ากินบุฟเฟ่ต์แล้วต้องรู้สึกคุ้ม สบายใจที่จะสั่งเท่าไรก็ได้ กินได้ไม่อั้น
โควิดที่ผ่านมาคือโจทย์ยาก เหนื่อยแต่ฟีดแบคดีมาก
ช่วงโควิดหนักมากๆ อยู่ดีๆ วันนึงต้องปิดร้าน คือไม่มีช่องทางหารายได้เลย ต้องมาคิดว่าจะทำยังไง ขายอะไร ให้มีรายได้กลับเข้ามาและเลี้ยงพนักงานต่อไปได้ ผ่านไปได้ประมาณ 1 เดือน ก็มีลูกค้าถามเข้ามาเยอะว่า ไม่ขายเซ็ตสุกี้สั่งกลับบ้านเหรอ ซึ่งตอนนั้นเป็นโจทย์ยากมากๆ เพราะไม่รู้จะทำเซ็ตราคายังไงให้กลุ่มลูกค้าของเราที่ทานบุฟเฟ่ต์แฮปปี้กับราคาเซ็ตที่สั่งกลับบ้านแบบอะลาคาร์ท
เราจึงทำเป็นเซ็ตราคาเริ่มต้น 179 บาท ก็ได้ทุกอย่าง ทั้งลูกชิ้น ทั้งหมู ทั้งผัก น้ำจิ้ม น้ำซุป ราคาก็ถูกกว่าบุฟเฟ่ต์ ซึ่งมั่นใจว่าอิ่มกว่าบุฟเฟ่ต์แน่นอน ตอนแรกไม่มั่นใจเลยทำพรีออเดอร์ก่อน ตอนแรกไม่มีแอดมินเพจ และเฟิร์นทำเองทุกอย่าง ถ่ายรูปเอง ทำเองทุกอย่าง และก็โพสต์ไป ฟีดแบคดีมาก ตกใจมาก คือหนักมากตอนนั้น เพราะว่าพรีออเอร์และมีเดลิเวอรี่ให้ด้วย ตอนนั้นเหนื่อยแต่ประทับใจมาก ที่มีลูกค้าพร้อมที่จะซื้อเราขนาดนี้ ทำให้เรามั่นใจในแบรนด์สุกี้ตี๋น้อยมากขึ้นค่ะ
ชีวิตคือสุกี้ตี๋น้อย
ตอนนี้ ชีวิตคือสุกี้ตี๋น้อย เฟิร์นลืมตาตื่นขึ้นมาอย่างแรก เช็คโทรศัพท์ เช็คยอดขายของเมื่อคืน มีใครไลน์มาเรื่องอะไรบ้าง ตอนนี้เฟิร์นมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ดีขึ้น คือตอนแรกต้องอยู่กับร้าน เราต้องอยู่กับปัญหา เพราะเรายังไม่มีใครมาจัดการอะไร เราเป็นเจ้าของเราต้องทำเอง แต่พอตั้งแต่กลางปีที่แล้วก็เริ่มมีพนักงานฝ่ายออฟฟิศมากขึ้น มีจัดแผนกดูอันนี้ ดูอันนั้น ทำให้เรามีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้นอ่าค่ะ
ถ้าถามว่าชอบทำอะไร คืออยากแรกต้องมีเวลาออกกำลังกายนิดนึง ถึงแม้ว่าจะตอนทำงานตอนแรกๆ นะคะ ก็จะไปออกกำลังกายบ่ายสองบ่ายสาม อีกอย่างคือถ้าว่างจะช้อปปิ้งค่ะ ชอบช้อปปิ้งมาก เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า มีอิสระในการใช้เงินมากขึ้น ถ้าถามว่าชอบช้อปปิ้งกับอะไร ก็คือจะชอบช้อปปิ้งกับไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ในหัวก็จะคิดตลอดเรื่องงาน ว่าปัญหาจะแก้ยังไง เพิ่มรายได้ยังไง ทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น
ไม่ได้สนใจชื่อเสียง แต่สนใจคำติของลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนา
เฟิร์นมองว่า สุกี้ตี๋น้อยก็ใช่ค่ะที่ประสบความสำเร็จ แต่ในระดับหนึ่งเท่านั้น คือเรามองว่า ลูกค้าเข้ามา ต่อคิวเข้า เราไปเปิดตรงไหน ลูกค้ารู้จัก อันนี้คือประสบความสำเร็จของแบรนด์ แต่เฟิร์นไม่เคยเอาจุดนี้มาทำให้ตัวเองมั่นใจกับทุกๆ อย่างในธุรกิจ เฟิร์นอ่านสิ่งที่ลูกค้าติ ลูกค้าติเรื่องนั้นเรื่องนี้ และเฟิร์นจะทำยังไงให้ลูกค้าไม่ติดเรื่องนั้นไม่ติเรื่องนี้ เรื่องดังเรื่องอะไรไม่ได้สนใจเท่าไร เพราะว่ามันไม่ยั่งยืนอ่าค่ะ
ธุรกิจร้านอาหารมันสูงมาก การเปิดร้านในประเทศไทยมันง่ายมาก ใครจะทำอะไร มีเงินซื้ออะไรมันก็ไม่ได้ยากนะคะ ทำยังไงเราถึงจะเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา โดดเด่นกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ตลอดเวลา อันนี้มันเหมือนทำให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้อ่าค่ะ ต้องเหมือนมีอะไรมาจี้เราอยู่ตลอด เพื่อสร้างความกดดันให้ตัวเองจะพูดอย่างนั้นก็ได้ เรามีความกลัวด้วย กลัวที่จะไม่ประสบผลสำเร็จ กลัวที่จะล้มเหลว กลัวที่จะไม่มีอะไรในอนาคต ต้องวิเคราะห์ข้อเสียของเราตลอดอ่าค่ะ
สเต็ปต่อไปของสุกี้ตี๋น้อย
ตอนนี้สาขาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีลูกค้าอยู่ต่างจังหวัดก็เยอะ เราก็อยากที่จะขยายไปทั่วประเทศไทย อันนี้คือเป้าหมายในระยะ 3-5 ปี ต้องวางแผนให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ขยายการรองรับออกไปได้ ต่อไปวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยอันนี้ก็คือหนึ่งในแผนที่เรามองไว้ตั้งแต่ต้นๆ เหมือนกัน
เราอยากได้ความมั่นคง คือธุรกิจที่บ้านที่ผ่านมาไม่เคยมั่นคงเลย มันขึ้นลง ขึ้นลง เรามองว่าเราอยากได้ความมั่นคงตรงนี้ด้วย เพื่อพนักงาน เพื่อตัวเราเองด้วย
เราต้องสู้ เราต้องมีความอดทน ต้องมั่นใจว่าเราพร้อมแล้วนะ พร้อมที่จะเจอ อุปสรรคต่างๆ เราไม่ยอมแพ้ ห้ามยอมแพ้ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม ต้องวิเคราะห์ตลอด ใครเป็นคู่แข่ง เค้าทำอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้เด่นกว่าเค้า ใครจะอยู่ในธุรจกิจอะไรเราวิเคราะห์ได้เสมอ แล้วพยายามทำยังไงให้เราเป็นที่หนึ่ง