ธอส.สนองรัฐปล่อยกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยพิเศษ เริ่ม 19 ต.ค.นี้
นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้เตรียมวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท จัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยให้กู้สำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน หรือวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เปิดให้ประชาชนยื่นขอกู้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ธนาคารจะใช้เงื่อนไขผ่อนปรนในการพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) เพิ่มเป็น 40-50% จากเดิมอยู่ที่ 33% ของรายได้สุทธิต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยปีแรกเท่ากับ 3.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) –1 % ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ –0.75% ต่อปี ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ 6.75% ต่อปี ซึ่งให้เวลาการผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี และหากวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทหมดลง ก็จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง
ผู้มีรายได้สุทธิ 10,000 บาทต่อเดือน และขอกู้เงิน 1 ล้านบาท ในปีแรกต้องผ่อนชำระ 5,000 บาทต่อเดือน ปีที่ 2 ผ่อน 5,700 บาทต่อเดือน และปีที่ 3 ผ่อน 7,000 บาทต่อเดือนส่วนผู้ที่มีรายได้สุทธิ 20,000 บาทต่อเดือน ขอวงเงินกู้ 2 ล้านบาท ปีแรกต้องผ่อน 10,000 บาทต่อเดือน ปีที่ 2 ผ่อน 11,400 บาท และปีที่ 3 ผ่อน 14,000 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้สุทธิ 30,000 บาทต่อเดือน ขอวงเงินกู้ 3 ล้านบาท ปีแรกผ่อนชำระ 15,000 บาทต่อเดือน ปีที่ 2 ผ่อน 17,000 บาท และปีที่ 3 ผ่อน 21,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตามกรรมการผู้จัดการ ธอส.ยังมั่นใจว่าการปล่อยกู้นี้จะไม่เพิ่มหนี้เสียในระบบธนาคารจากปัจจุบัน 5.4% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากธนาคารยังคงพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ตามเงื่อนไขเดิม เช่น ตรวจสอบเครดิตบูโร หลักทรัพย์ค้ำประกัน และรายได้สุทธิ หลังหักภาระหนี้ต่างๆ ก่อนนำมาคำนวณและพิจารณาวงเงินสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง พร้อมย้ำว่าธนาคารจะติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงเกิดเอ็นพีแอล
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นห่วงว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ กรณีกำหนดระยะเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง 6 เดือน อาจทำให้ผู้ประกอบการเร่งก่อสร้างงาน และเร่งผู้บริโภคโอนกรรมสิทธิ์ จนเกิดปัญหาฟ้องร้องรับงานที่ไม่เรียบร้อยในภายหลัง จึงเตือนผู้บริโภคเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว