คัดลอก URL แล้ว
สายลับ 007 และ สาวบอนด์ชาวฝรั่งเศส การเมืองและการตลาดหลังยุคสงครามเย็น

สายลับ 007 และ สาวบอนด์ชาวฝรั่งเศส การเมืองและการตลาดหลังยุคสงครามเย็น

เราอาจกล่าวได้ว่า เจมส์ บอนด์ คือวรรณกรรม คือหนังที่ให้ภาพแทนโลกในช่วงเวลาสงครามเย็นได้อย่างเห็นภาพที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นอาจทำให้บอนด์-สายลับจากอังกฤษ ขับรถอังกฤษ สวมเสื้อผ้าและสูตจากอังกฤษ-เป็นตัวแทนโลกเสรีที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ (ทำให้ศัตรูของเขาเป็นชาวรัสเซียอยู่บ่อยๆ) รวมถึงเป็นพันธมิตรหรือไปปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศเสรีก็บ่อยครั้ง

แต่นั่นอาจรวมถึงเหตุผลทางการตลาดอันแยบยลไม่น้อยไปกว่าการเมือง โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่ดูจะเป็นประเทศที่บอนด์สนิทและใกล้ชิดมาตั้งแต่ยุค 50 เมื่อบอนด์ใน Casino Royale-เวอร์ชั่นนิยายปี 1953 ของเฟลมมิง-เขาพูดภาษาฝรั่งเศสและปฏิเสธชาอังกฤษ ทั้งยังมีบุหรี่ฝรั่งเศส ดื่มแชมเปญสัญชาติฝรั่งเศส (หรือในเวลาต่อมา ฌอน คอนเนอรี-ทีชีวิตจริงแต่งงานกับจิตรกรสาวชาวฝรั่งเศส-และเล่นหนังบอนด์เจ็ดเรื่องด้วยกัน ทั้งยังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ด้วย)

ใน James Bond (2)007: Cultural History and Aesthetic Stakes of a Saga งานวิจัยของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยแวร์ซายให้เหตุผลว่า สิ่งที่ทำให้บอนด์ “จูน” กันกับความเป็นฝรั่งเศสคือมายาคติบางอย่าง “ในฝรั่งเศสมีมายาคติเกี่ยวกับ นโปเลียน โบนาปาร์ต (นายพลช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส) มีมายาคติเกี่ยวกับนายพลเดอ โกล (นายทหารที่เป็นผู้นำการปลดปล่อยฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง)” อูว์แบร์ โบนิน นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์จากบอร์โดกล่าว “เราเลยมองหาฮีโร่แบบที่พระเจ้าจะทรงประทานให้ และเจมส์ บอนด์ก็ดูจะเป็นแบบอย่างที่คนฝรั่งเศสมองหาพอดี”

รายการโทรทัศน์ฝรั่งเศสเองฉาย The World Is Not Enough (1999, ไมเคิล แอ็ปเท็ด) ด้วยยอดคนดู 7.1 ล้านคน มีแฟนคลับบอนด์ในฝรั่งเศสรวมตัวกันพิมพ์นิตยสารเกี่ยวกับบอนด์โดยเฉพาะอย่าง ‘Le Bond’ ที่รวบรวมเอาเรื่องราวของบอนด์ทั้งวรรณกรรมและหนังออกมาให้ได้อ่าน ปี 1973 มี The Man from Acapulco หนังของ ฟิลลิปป์ เดอ โบรกา ที่สร้างล้อหนังบอนด์ขึ้นที่แสดงโดย ฌ็อง-พอล เบลมองโด นักแสดงชาวฝรั่งเศสด้วย

นั่นเองที่ทำให้เราได้เห็นว่าในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ มีนักแสดงสาวจากฝรั่งเศสหลายรายที่รับบทเป็น “สาวบอนด์” คนแรกคือ คลอดีน อูเกอร์ จาก Thunderball (1965, เทอร์แรนซ์ ยัง) และ เดอนิส เพอร์เรียร์ ใน Diamonds Are Forever (1971, กาย ฮามิลตัน) ฟร็องซัวร์ เธียรี ใน The Man with the Golden Gun (1974, ฮามิลตัน) โครีน เคลรี ใน Moonraker (1979, เลวิส กิลเบิร์ต) การอล บูเกต์ จาก For Your Eyes Only (1981, จอห์น เกล็น) โซฟี มาร์กซู จาก The World is Not Enough (1999, แอ็ปเท็ด)

เรื่อยมาจนถึงทศวรรษหลังๆ ที่เราก็ยังได้เห็นสาวบอนด์สัญชาติฝรั่งเศสอยู่ ทั้ง เอวา กรีน ใน Casino Royale (2006, มาร์ติน แคมป์เบลล์) โอลกา คูรีเลนโก จาก Quantum of Solace (2008, มาร์ก ฟอร์สเตอร์) เบเรนิซ มาร์โลห์ ใน Skyfall (2012, แซม แมนเดส) มาจนถึงสาวบอนด์ใน Spectre (2015, แมนเดส) ก็ยังเป็นสาวฝรั่งเศสอย่าง ลีอา เซย์ดู

แม้มันอาจจะแฝงเหตุผลทางการตลาดหรือการเมืองบ้าง แต่นักวิจารณ์หลายสำนักก็ลงความเห็นว่า ส่วนหนึ่งนั้นเพราะนักแสดงสาวชาวฝรั่งเศสเปี่ยมเสน่ห์และดูเป็นธรรมชาติ ดึงดูดมากกว่าสาวอเมริกันหรือสาวอังกฤษ จนอาจเป็นสาเหตุหลักๆ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังบอนด์ยังหลงใหลในตัวสาวๆ เหล่านี้ แต่เหนืออื่นใด มันย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่าอิทธิพลของหนังบอนด์นั้นเป็นสากลเหลือเกิน

ติดตามรับชม

Casino Royale 007 พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก
วันศุกร์ที่ 1 กันยายน เวลา 20.45 น.

Quantum of Solace 007 พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก
วันเสาร์ที่ 2 กันยายน เวลา 12.00 น.


ทางช่อง MONO29

 สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
https://movie.mthai.com


Movie & Series Talk