ยาน DSCOVR ถ่ายภาพ “ด้านหลังดวงจันทร์”
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือนาซ่าใช้กล้องจากดาวเทียม ดีพ สเปซ ไคลเมต ออบเซอร์วาทอรี่ (Deep Space Climate Observatory) หรือ DSCOVR ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าด้านที่โดนแสงอาทิตย์ของโลกและเผยแพร่ให้เราได้ชม นอกจากนี้ยังเป็นภาพของอีกด้านของดวงจันทร์ที่ไม่มีทางมองเห็นได้จากพื้นโลกด้วยภาพนี้ถูกถ่ายไว้ด้วย กล้อง เอิร์ธ โพลี่โครมาติก อิเมจิ้ง คาเมร่า (Earth Polychromatic Imaging Camera) หรือ EPIC ของนาซ่าเป็นกล้อง CCD ความละเอียด 4 ล้านพิกเซลและกล้องดูดาวที่ติดไปกับดาวเทียม DSCOVR ที่โคจรรอบโลกที่ระยะห่าง 1.6 ล้านกิโลเมตรจากโลกในตำแหน่งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์โดย DSCOVR นี้เป็นภารกิจของนาซ่าที่จะสำรวจลมสุริยะในเวลาจริงเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลให้กับกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
EPIC ให้ภาพของโลกคงที่ในขณะที่โลกหมุนรอบตัวเองทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลของโอโซน พืช ความสูงของเมฆ และละอองของเหลวในชั้นบรรยากาศ เมื่อ EPIC เริ่มขั้นตอนสำรวจในเดือนหน้า กล้องของดาวเทียมจะให้ภาพของโลกเป็นชุดๆที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกในแต่ละวันได้และกล้องจะสามารถจับภาพดวงจันทร์กับโลกได้พร้อมๆกันประมาณ 2 ครั้งต่อปีในขณะที่วงโคจรของดาวเทียม DSCOVR นี้เคลื่อนที่ผ่านระนาบการโคจรของดวงจันทร์ภาพที่เห็นถูกถ่ายขึ้นระหว่างเวลา 15:50 น. และเวลา 20:45 น. ตามเวลาในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมแสดงถึงภาพของดวงจันทร์ที่อยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนขั้วโลกเหนือสามารถมองเห็นได้ที่มุมซ้ายบนของภาพ
สำหรับด้านไกลของดวงจันทร์นั้นก่อนหน้าปี 2502 ยังไม่มีมนุษย์คนใดที่เคยเห็นมาก่อนจนกระทั่งยานอวกาศลูนา 3 ของสหภาพโซเวียตได้โคจรไปถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์แล้วส่งภาพกลับมายังโลกครั้งแรก นับจากนั้นมา องค์การนาซาก็ได้ถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์มาอีกหลายครั้งด้วยความละเอียดสูง ส่วนภาพด้านใกล้ของดวงจันทร์นั้นเราเห็นกันได้เป็นปกติเพราะแรงดึงดูดของโลกกับดวงจันทร์นั้นทำให้คาบการหมุนรอบตัวเองและคาบการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์นั้นเท่ากันเราจึงเห็นอยู่ด้านเดียวตลอดเวลา