คัดลอก URL แล้ว
หลอกหลอนเมื่อตอนจบกับ 6 หนังหักมุมยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

หลอกหลอนเมื่อตอนจบกับ 6 หนังหักมุมยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

“ผมไม่ได้ใจจดใจจ่ออยากให้หนังมันต้องหักมุมขนาดนั้น มันไม่เหมือนการเต้นที่เราตั้งใจไว้แล้วว่าเราต้องลงจังหวะนั้นจังหวะนี้ สิ่งที่ทำให้หนังหักมุมได้คือตัวละคร พล็อตแบบนี้มันจะมาจากตัวละคร” เอ็ม. ไนต์ ชยามาลาน หนึ่งในคนทำหนังที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อหนังหักมุมสาธยาย “แต่สิ่งที่แย่หน่อยสำหรับหนังแบบนี้คือไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบมันน่ะสิ”

หลายคนคิดว่ายุครุ่งโรจน์ของหนังหักมุมหรือ “plot twists” นั้นจบลงไปพร้อมความเรืองรองของหนังที่เน้นทุนสร้างมหาศาลกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ควบคู่กันอย่างแทบจะขาดไม่ได้ในหนังยุคใหม่ๆ การดำเนินเรื่องที่ว่าด้วยพล็อตอันแข็งแรง ทั้งยังพร้อมจะสร้างความประหลาดใจให้คนดูในตอนจบจึงค่อยๆ หมดบทบาทลงอย่างน่าเศร้า ทั้งที่ในเวลาก่อนหน้าการมาเยือนของซีจีไอ ฮอลลีวูดและหนังโลกล้วนเต็มไปด้วยหนังชวนช็อคแบบ Psycho (1960, อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อค -กับความสะเทือนสุดขีดเมื่อคนดูพบโฉมหน้าที่แท้จริงของคนร้าย!), Sleepaway Camp (1983, โรเบิร์ตฮิลต์ซิค -ตระกูลหนังเชือดที่ทำให้ตาค้างกันสุดๆ เมื่อมือมีดเฉลยตัว), The Usual Suspects (1995, ไบรอัน ซิงเกอร์ -หนังโจรกรรมที่เราไม่มีทางเดาได้เลยว่าใครกันแน่คือ ‘ผู้บงการ’ เบื้องหลัง), Fight Club (1999, เดวิด ฟินเชอร์ -ใครคือ ไทเลอร์ เดอร์เดนต์ กันแน่วะ!)

แต่หนังหักมุมมันก็ไม่ได้ตายจากไปจากอุตสาหกรรมหนังเสียทีเดียว และนี่คือรวมมิตรหนังหักมุมชวนช็อคในศตวรรษที่ 21!

The Others (2001, อเลฆันโดร อเมนาบาร์)

หากว่าปลายยุค 90 เราต่างเคยช็อคตาค้างมาแล้วกับ The Sixth Sense (1999, ชยามาลาน) ศตวรรษที่ 21 ก็ประเดิมความเซอร์แตกด้วยหนังร่วมสี่สัญชาติ (สเปน-สหรัฐอเมริกา-ฝรั่งเศส-อิตาลี) ของอเมนาบาร์อย่าง The Others ที่ทำเงินไปได้ 209 ล้านเหรียญฯ (จากทุน 17 ล้านฯ) ส่งให้เขากลายเป็นคนทำหนังหน้าใหม่น่าจับตา ที่ปั่นประสาทคนดูด้วยเรื่องราวของ เกรซ (นิโคล คิดแมน) หญิงสาวที่อยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่กับลูกสองคน ภายใต้ความระส่ำระสายเมื่อประเทศเดินหน้าเข้าสู่สงคราม บ้านหลังใหญ่ทั้งหลังจึงอ้างว้างและโดดเดี่ยวท่ามกลางหมู่บ้านร้างหมอกจัด และมืดทึบอยู่เสมอเนื่องจากลูกทั้งสองของเกรซแพ้แสงแดด เธอจึงไม่เคยยอมให้แสงแดดเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน จะใช้ก็เพียงแต่ไฟจากตะเกียงดวงน้อยเท่านั้น

ความเรียบง่ายของเธอสั่นคลอนเมื่อวันหนึ่ง คนแปลกหน้าสามรายมาเคาะประตูบ้านเพื่อขอทำงานกับเธอตามที่เธอประกาศไว้ในหนังสือพิมพ์ เกรซจึงรับพวกเขาเข้าไว้ทำงานในฐานะคนดูแลบ้าน ก่อนที่ต่อมา เธอจะพบว่ามีเรื่องแปลกปลอมเกิดขึ้นในบ้าน ทั้งเปียโนที่บรรเลงเพลงได้เอง บานหน้าต่างที่ปิดสนิทเสมอกลับเปิดรับแสง หรือเสียงลั่นเอียดอาดของไม้กระดานในห้องว่าง นำไปสู่การพยายามไขปริศนาถึงความแปลกปลอมเหล่านั้น ทั้งคนงานทั้งสาม ทั้งประกาศหางานที่เธอจำไม่ได้ว่าไปประกาศตั้งแต่เมื่อไหร่ สงครามที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามีผู้หายลับไปกับการต่อสู้ จนเธอได้รู้ความจริงว่า มี ‘คนอื่น’ อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้… เพียงแต่ ‘คนอื่น’ นั้นคือใครกัน

นี่คือหนังที่หักมุมได้ทรงพลังในระดับเดียวกับ The Sixth Sense และนับเป็นการประเดิมศตวรรษที่ 21 ด้วยการประเดิมหนังที่ว่าด้วยพล็อต การถ่ายทำที่เน้นภาษาภาพยนตร์และการแสดงอันทรงพลังได้อย่างสวยสดงดงามจริงๆ

Oldboy (2003, ปาร์ค ชานวุค)

ทันทีที่มันออกฉายในเกาหลีใต้ที่บ้านเกิด ก็สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลสุดขีดโดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงที่ปรากฏในหนังตามสไตล์ชานวุค เจ้าพ่อหนังรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อแห่งแดนตะวันออก และเมื่อมันข้ามพรมแดนไปฉายยังโลกตะวันตก มันยิ่งถูกพูดถึงทั้งในแง่ความดิบเถื่อนและพล็อตหนังที่หักมุมจนชวนคนดูเป็นบ้าตามตัวละคร แดซู (ชอย มินซิก) พนักงานออฟฟิศธรรมดา วันหนึ่งเขาหยุดพักซื้อของขวัญให้ลูกสาวแต่กลับถูกลักพาตัว ตื่นขึ้นมาอีกทีในห้องแคบๆ ที่มีเพียงโทรทัศน์เครื่องเดียวเท่านั้น ทุกวัน จะมีคนนำอาหารมาส่งเขาใต้ประตู และแม้เพียรพยายามหนีหรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย เขาจะถูกช่วยชีวิตไว้และขังในห้องแห่งนี้อยู่อย่างยาวนานนับสิบปีโดยไม่ได้พูดคุยกับใคร ทุกวันของแดซูผ่านไปอย่างทรมานและกลวงเปล่า มีเพียงคำถามที่ไม่เคยได้รับคำตอบของคนที่จับเขามาขังไว้เท่านั้น

ลำพังพล็อตของมันก็แสนจะอึดอัดและชวนประสาทเสียมากพออยู่แล้ว แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับฉากจบอันแสนทิ่มแทงและเลือดเย็น เพราะมันได้ขยับขยายความหดหู่ โหดร้ายไปจนแตะระดับศีลธรรม ประกอบกับการกำกับของชานวุคที่เน้นแสงสีหม่นทึม ไร้หวังของตัวละคร ยิ่งขับให้คนดูรู้สึกเห็นใจและหวาดหวั่นมากยิ่งขึ้นไปอีก จนการรีเมคของฮอลลีวูดภายใต้ชื่อเรื่องเดียวกันโดย สไปค์ ลี เมื่อปี 2013 นั้นถูกวิจารณ์รุนแรงว่าเทียบชั้นกับต้นฉบับไม่ได้เลย แม้ว่าจะยังคงตอนจบอันแสนชวนช็อคไว้เช่นเดิมก็ตามที

Orphan (2009, เฆาเม คอลเลต์-เซร์รา)

ต้นกำเนิด ‘นังเด็กเปรต’ ที่หลายคนเกลียดกลัวหนักหนา เมื่อสองสามีภรรยาโคลแมนมีดำริอยากอุปการะเด็กมาเลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนลูกสาวและลูกชายของทั้งคู่ จึงเดินทางไปหาตัวเด็กกำพร้าที่น่าจะเข้ากับครอบครัวตัวเองได้ และพวกเขาได้เจอกับ เอสเธอร์ (อิซาเบลล์ ฟูห์แมน) เด็กหญิงบุคลิกดี พูดจาฉะฉานที่ทั้ง จอห์น (ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) และ เคต (เวรา ฟาร์มิกา) สองผัวเมียเอ็นดูมากและรับเอสเธอร์มาอยู่ด้วยกันที่บ้าน ก่อนที่ครอบครัวโคลแมนจะค่อยๆ เผชิญเรื่องชวนเหวอมากมาย นับตั้งแต่บุคลิกประหลาดของเอสเธอร์ อุบัติเหตุมากมายในสนามเด็กเล่น ไปจนกระทั่งการถูกค้อนทุบตายอย่างทารุณของแม่ชีแถวบ้าน ยังไม่นับพฤติกรรมเฮี้ยนๆ ที่ส่งผลให้ทั้งจอห์นและเคตต้องแตกคอกันรุนแรง (นำไปสู่ฉากในโรงพยาบาลที่หลายคนแสนจะสะใจ)

แน่นอนว่าเราล้วนรู้กันดีตั้งแต่ตัวอย่างหนังว่ามีบางอย่างปิดปกติกับเอสเธอร์แน่ๆ (มันเป็นคำโปรยบนโปสเตอร์หนังด้วยนะ!) แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความลับที่แท้จริงของเด็กหญิงเอสเธอร์คืออะไร และเมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดเฉลยก็ทำได้อย่างเยี่ยมยอด เสียจนหากเราไม่ลุ้นจนมือเย็น ก็อยากลุกไปช่วยคุณแม่เคตฟาดนังเด็กเอสเธอร์ด้วยคนอีกแรง!

Shutter Island (2010, มาร์ติน สกอร์เซซี)

ผลงานการกำกับของปู่ซ่าบ้าพลังที่เราเคารพรักเหลือเกิน หลังจากที่วนเวียนกับการทำหนังมาเฟียหรือหนังที่ว่าด้วยอาชญากรรมมานาน สกอร์เซซีก็หันมาทำหนังนีโอ-นัวร์ สร้างจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ เดนนิส เลอฮาน พาเราย้อนกลับไปยังปี 1954 ภายใต้บรรยากาศสงครามเย็น ทางการสหรัฐฯ ออกหมายจับผู้ต้องหาฆาตกรต่อเนื่องผู้ชาญฉลาดที่หายตัวไปจากห้องขังในเกาะชัตเตอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยยามรักษาการแน่นหนาเสียจนเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าตัวจะหายไปจากสายตาของเจ้าหน้าที่ เท็ดดี (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) และคู่หูใหม่เอี่ยม ชัค (มาร์ค รัฟฟาโล) จึงถูกส่งมายังเกาะแห่งนี้ซึ่งเต็มไปด้วยคนไข้และนักโทษที่มีอาการป่วยทางจิต เพื่อสอบสวนการหายตัวไปของฆาตกรต่อเนื่อง

หากแต่ยิ่งสืบสวนลึกเข้าไป เท็ดดีกลับยิ่งพบเงื่อนงำที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าประเด็นที่ทางการมอบหมายให้เขามาทำ นั่นคือการทำการทดลองบนร่างกายมนุษย์โดยโรงพยาบาล, การกักขังอย่างไม่เป็นธรรม, เจ้าหน้าที่ลับที่คอยดูแลผู้ป่วย และสิ่งลี้ลับที่ทำให้เท็ดดีหวนนึกถึงภรรยาผู้จากไป

และเช่นเดียวกับหนังหลายๆ เรื่องของสกอร์เซซี มันเต็มไปด้วยภาษาภาพยนตร์และการเล่าเรื่องอันเฉียบขาด ที่เมื่อถึงจุดคลายปมอันแสนจะหักมุมและทรงพลังนั้น นอกเหนือจากมันจะทำให้เราช็อคตาค้าง เรายังอดสงสารในชะตากรรมรันทดของตัวละครที่ต้องเลือกระหว่างการอยู่อย่างเป็นปีศาจ หรือจากไปอย่างเป็นมนุษย์

Gone Girl (2014, ฟินเชอร์)

การกลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งของเจ้าพ่อหนังหักมุมอย่างฟินเชอร์ หลังจากหันไปเล่าเรื่องดราม่าและขับเน้นความเป็นมนุษย์ใน The Curious Case of Benjamin Button (2008) กับ The Social Network (2010) ฟินเชอร์ก็จับเอาเรื่องผัวๆ เมียๆ มาขยี้และผสานกับพล็อตหนังสืบสวนแบบที่เขาถนัด เมื่อวันหนึ่ง นิค (เบน แอ็ฟเฟล็ค) อดีตนักเขียนดังพบว่าเมียรัก เอมี (โรซามุนด์ ไพค์) หายตัวไปอย่างลึกลับในรั้วบ้านของเขาเองในวันครบรอบแต่งงานห้าปี และทันทีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พวกเขาก็ได้เจอกับ ‘สมุดบันทึก’ ของเอมีที่บอกเล่าถึงชีวิตรันทดและความบอบช้ำในการใช้ชีวิตคู่กับนิค ผู้เป็นเสมือนชายในฝันของหญิงสาวหลายคน ตลอดจนคราบเลือดแห้งกรังที่ถูกเช็ดบนพื้นบ้าน และมีดที่ยังเหลือดีเอ็นเอของเอมี พวกเขาจึงสรุปว่านิคอาจเป็นฆาตกรที่ฆ่าเมียรัก สื่อมวลชนเริ่มตามสืบเรื่องระหองระแหงที่เกิดขึ้นในรั้วบ้านของพวกเขา เพื่อความบริสุทธิ์ใจ นิคจึงออกแถลงการณ์ให้สื่อช่วยตามหา ‘เมียรัก’ ที่หายสาบสูญไปของเขา ด้วยเชื่อว่าเอมียังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง และนำไปสู่การเปิดโปงข้อเท็จจริงอันน่าตื่นตะลึง

แน่นอนว่าหนังประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่าฟินเชอร์คือคนทำหนังธริลเลอร์ที่เล่าเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิงได้เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของโลกภาพยนตร์ วัดจากความงุนงงง พิศวงเมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดเฉลยนี่แหละ!

Get Out (2017, จอร์แดน พีล)

หนังที่พีล นักแสดงคอมิดี้ชื่อดังหันมารับบทกำกับครั้งแรก และประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ ด้วยการเข้าชิงออสการ์สี่สาขาและคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยม (พีล) กลับมาได้ เพราะมันไม่เพียงเป็นหนังหักมุมอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังวิพากษ์การเหยียดผิวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกาด้วยท่าทีชวนพิศวง ผ่านเรื่องราวของ คริส (แดเนียล คาลูยา) หนุ่มผิวสีที่มีนัดไปเจอครอบครัวของ โรส (อัลลิสัน วิลเลียมส์) แฟนสาวผิวขาวที่ชานเมือง ทุกสิ่งดูปกติสุขตามครรลองของการไปมาหาสู่ครอบครัวคนรัก กระทั่งเมื่อคริสสังเกตเห็นความ ‘เพี้ยนคลั่ง’ บางอย่างในครอบครัวของโรส เป็นต้นว่างานปาร์ตี้ที่ชายหนุ่มผิวสีไม่ยอม ‘ชนหมัด’ กับเขา, ข่าวการหายตัวไปของคนดำในละแวกนั้น, การสะกดจิตที่พาเราดำดิ่งไปสู่จุดที่ไม่อาจควบคุม ราวกับว่าชุมชนนี้คือค่ายกลใหญ่ที่ซ่อนกับดักและเหลี่ยมมุมต่างๆ ไว้มากมาย

Get Out อาจเป็นหนังที่ประกาศโต้งๆ อยู่แล้วว่า “ฉันจะหักมุมนะ” ผ่านหน้าหนัง หากแต่ความเยี่ยมยอดคือ ทั้งที่รู้อย่างนั้น แต่หลายคนกลับเดาไม่ได้เลยว่ามันจะลงเอยด้วยท่าทีแบบนี้ และนี่เองคือสิ่งที่ทำให้มันได้กลายเป็นหนังอีกเรื่องที่น่าจับตามากๆ ในยุคสมัยนี้

ติดตามรับชม


Shutter Island เกาะนรกซ่อนทมิฬ
วันเสาร์ที่ 14 มกราคม เวลา 14.10 น. ทางช่อง MONO29


สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
https://movie.mthai.com/bioscope/


Movie & Series Talk