“Quiet Zone” เขตปลอดสัญญาณโทรศัพท์ในสหรัฐ
ปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องปกติ แค่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็สามารถใช้งานได้ แต่สำหรับชาวเมืองในรัฐเวสต์ เวอร์จิเนียของสหรัฐ กลับใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ เพราะอาศัยอยู่ในเขตปลอดสัญญาณโทรศัพท์และคลื่นไมโครเวฟ
หากเดินทางไปทางตะวันตกของกรุงวอชิงตัน ดีซี มุ่งหน้าสู่เทือกเขาอัลเลเกนี ก็จะพบว่าวิทยุและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปลอดสัญญาณวิทยุ National Radio Quiet Zone ของสหรัฐฯ ที่กินเนื้อที่ 34,000 ตารางกิโลเมตร ใน 3 รัฐคือ เวสต์เวอร์จิเนีย เวอร์จิเนีย และแมริแลนด์
พื้นที่นี้ถูกก่อตั้งเมื่อปี 2501ให้เป็นเขตปลอดคลื่นสัญญาณรบกวน เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์และหน่วยข่าวกรองของสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์ (Robert C. Byrd Green Bank Telescope หรือ GBT) ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ซึ่งมีพื้นผิวกว้างใหญ่กว่า 5 ไร่ หรือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร และมีความสูง 135 เมตร
ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการตรวจจับคลื่นวิทยุ นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวมากและถูกรบกวนได้ง่ายจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่มนุษย์ผลิตขึ้น ทำให้ชาวเมืองกรีนแบงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของกล้อง และเมืองอื่นๆภายในรัศมี ต้องอยู่โดยห้ามใช้อุปกรณ์ใดๆที่มีการรับส่งคลื่น ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์เฝ้าระวังเด็กทารก, เตาไมโครเวฟ หรือแม้แต่ระบบ wi-fi
ทั้งนี้ กล้อง GBT จะใช้สำหรับค้นหาความถี่คลื่นวิทยุเฉพาะ เพื่อรวบรวมหลักฐานการยืนยันว่า บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยไฮโดรเจนไอออน และเป็นบริเวณกำเนิดดวงดาว รวมถึงจะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาราจักรอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชาวอเมริกันที่อาศัยในส่วนอื่นๆของประเทศมาก โดยชาวบ้านในเขตนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจส่งสัญญาณรบกวนจีบีที อาทิ โทรศัพท์มือถือ เตาไมโครเวฟ กริ่งประตูไร้สาย และอุปกรณ์ต่างๆที่ก่อให้เกิดประกายไฟ เช่น เครื่องดูดฝุ่น อย่างไรก็ดี มีการยกเว้นให้หน่วยกู้ภัยสามารถใช้วิทยุสื่อสารในช่องความถี่ที่กำหนดเป็นพิเศษ ขณะที่พนักงานของจีบีที ได้รับอนุญาตให้ใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารในอาคารที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นวิทยุรั่วออกมาภายนอก
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉินให้สามารถใช้คลื่นวิทยุความถี่ธรรมดาได้ ส่วนอินเทอร์เน็ตก็ใช้ระบบบรอดแบรนด์ ขณะที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมดูแล GBT จะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้มีคลื่นใด ๆ ทะลุผ่านออกจากตัวบ้าน และทำให้พวกเขาสามารถทำงานได้ตามปกติ
เจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่อาศัยในเขตนี้บอกว่า การใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลานั้นช่วยให้พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัวและคนที่อยู่รอบตัว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองเจ็บป่วยจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดีวิถีชีวิตของพวกเขาอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปในเร็วๆนี้ เพราะมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการดำเนินงานของ GBT เตือนว่าอาจมีการตัดลดงบสนับสนุนครั้งใหญ่ภายในปี 2560
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายพยายามคิดหาโครงการที่จะช่วยสร้างรายได้เพื่อให้ GBT สามารถดำเนินงานต่อไปได้ เพราะอนาคตของ GBT ไม่เพียงแต่สำคัญต่อเจ้าหน้าที่ราว 200 คน แต่ยังมีความสำคัญต่อชุมชนรอบๆ ที่มีรายได้จากการดำเนินการของ GBT และจากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้