คัดลอก URL แล้ว
10 เรื่องเบื้องหลังที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับการถ่ายทำ Saving Private Ryan ของสตีเวน สปีลเบิร์ก

10 เรื่องเบื้องหลังที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับการถ่ายทำ Saving Private Ryan ของสตีเวน สปีลเบิร์ก

Saving Private Ryan (1998) ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก คือหนึ่งในหนังสงครามที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่(และโหด)มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด ด้วยการเข้าชิงออสการ์ 11 สาขาและคว้ารางวัลกลับมาได้ 5 สาขา

หนังเล่าถึงช่วงเวลาในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้นายทหารจากตระกูลไรอันเสียชีวิตทั้งหมด เหลือเพียงพลทหาร เจมส์ ไรอัน (แม็ตต์ เดมอน) ลูกชายคนเล็กของบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่ในระหว่างการรบพุ่งแนวหน้า และเพื่อจะยับยั้งไม่ให้บุตรชายจากตระกูลนี้ต้องเสียชีวิตจากสงครามหมดทั้งสี่คน กองทัพสหรัฐฯ จึงได้มอบหมายให้ร้อยเอก จอห์น มิลเลอร์ (ทอม แฮงค์ส) ออกตามหาพลทหารไรอันและให้พากลับบ้านให้ได้อย่างปลอดภัยที่สุด

แม้ด้านหนึ่ง หนังจะเต็มไปด้วยความดุเดือด โดยเฉพาะฉากยกพลขึ้นที่หาดนอร์ม็องดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าชวนขวัญเสียไม่น้อยด้วยภาพอวัยวะของเหล่าพลทหารฉีกขาดด้วยแรงระเบิดหรือกระสุน แต่มันก็เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นความโหดร้ายของสงครามและความหวังในฐานะมนุษย์ที่ถูกส่งผ่านจากมิลเลอร์ไปสู่ไรอัน ในฉากจบที่แสนสะเทือนใจ และจากนี้คือ 10 เบื้องหลังการทำหนังฉบับสปีลเบิร์กใน Saving Private Ryan ผ่าสมรภูมินรก

1.) หนังอิงเค้าโครงเรื่องมาจากชีวิตจริงของพี่น้องนีแลนด์ สี่พี่น้องที่เข้าร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสามในสี่คน –โรเบิร์ต, พรีสตัน และ เอ็ดเวิร์ด – เสียชีวิตในสงคราม คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตคือ ฟริตซ์ ถูกกองทัพส่งกลับบ้านในทันทีเพื่อไม่ให้ครอบครัวนีแลนด์ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปทั้งหมด ก่อนที่ในเวลาต่อมา เอ็ดเวิร์ดที่ทุกคนเข้าใจว่าเสียชีวิตไปแล้ว จะถูกพบอีกครั้งที่พม่าหลังจากหลบหนีออกจากค่ายกักกันในญี่ปุ่น ทำให้ทั้งเขาและฟลิตซ์คือสองคนพี่น้องที่เหลือรอดจากสี่คน

2.) สปีลเบิร์กอยากได้นักแสดงหน้าใหม่และมีลุคแบบอเมริกันจ๋าๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักมารับบทเป็นพลทหารไรอัน เขาจึงติดต่อ แม็ตต์ เดมอน ที่ตอนนั้นยังเป็นนักแสดงเบอร์เล็กๆ อยู่ แต่อนิจจา หนึ่งปีก่อนหน้าที่ Saving Private Ryan จะเริ่มออกฉาย เดมอนก็ทำให้โลกทั้งโลกรู้จักเขา(กับเพื่อนรัก เบน แอฟแฟล็ค)ในฐานะมือเขียนบทรางวัลออสการ์จาก Good Will Hunting (1997) ดังนั้นตอนที่หนังของสปีลเบิร์กออกฉายนั้น เดมอนก็ได้กลายเป็นดาวรุ่งคนใหม่ของฮอลลีวูดไปแล้วเรียบร้อย

3.) เพื่อจะสร้างบรรยากาศให้หนังดูมาจากยุคสงครามโลกจริงๆ สปีลเบิร์กและ จานุสซ์ คามินสกี ผู้กำกับภาพจึงตะลุยดูฟุตเตจเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในยุคนั้นจำนวนมาก ก่อนจะแปลงสีฟิล์มให้เหมือนถ่ายทำด้วยกล้องสมัย 1940

4.) สปีลเบิร์กลดความอิ่มตัวของสีในฟุตเตจหนังลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์เพื่อเสริมอารมณ์แห้งแล้งให้กับคนดู ซึ่งเมื่อมันถูกฉายบนจอภาพยนตร์นั้นก็ดูสวยงามดี หากแต่มันนำความปวดหัวมาให้เหล่าผู้ให้บริการเคเบิลเมื่อนำหนังเรื่องนี้มาฉายทางโทรทัศน์ เพราะเมื่อพวกเขาฉายเวอร์ชั่นที่สีจางลง คนดูต่างร้องเรียนว่าภาพมันจางจนแทบจะดูไม่รู้เรื่อง จนพวกเขาต้องเพิ่มความอิ่มตัวของสีในหนังจนเทียบเท่ากับหนังเรื่องอื่นๆ ก่อนนำมันมาออกฉายทางโทรทัศน์

หาดนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส กลุ่มพลทหารชาวอเมริกันกลุ่มแรกที่รุกคืบเข้ามาได้ คาปาถ่ายไว้วันที่ 6 มิถุนายน 1944

5.) ภาพถ่ายสงครามโลกของ โรเบิร์ต คาปา ช่างภาพชาวฮังการี ถูกใช้เป็นภาพอ้างอิงเพื่อถ่ายทำฉากวัน D-Day หรือวันยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี อย่างไรก็ตาม ลำพังฉากนี้เพียงฉากเดียวก็ตีเป็นเงินทุนทั้งสิ้น 12 ล้านเหรียญฯ เนื่องจากความอลังการของมัน จำนวนนักแสดง หรือแม้กระทั่งการขนย้ายอุปกรณ์ถ่ายทำมากมายที่กินเวลาและเงินเป็นจำนวนมาก

6.) ฉากสุดท้ายของ กัปตันมิลเลอร์ ซึ่งรับบทโดยแฮงค์สนั้น ตามสคริปต์เดิมที่สปีลเบิร์กเขียนนั้น มิลเลอร์ต้องพูดเรื่องชีวิตของตัวเองยาวมากๆ หากแต่แฮงค์สกลับรู้สึกว่า ทั้งเรื่อง ตัวละครของเขาแทบไม่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองเลย และในฉากอันสำคัญนี้ มิลเลอร์ก็อาจจะไม่ปริปากเรื่องของตัวเองด้วยเช่นกัน เขาจึงนำไอเดียนี้ไปปรึกษากับสปีลเบิร์ก ซึ่งเห็นด้วยกับเขาและยอมตัดไดอะล็อกยาวเหยียดนั้นออกตามความเห็นของแฮงค์ส

7.) หากสังเกตให้ดีจะพบว่ากล้องสั่นสะเทือนอยู่หลายครั้งด้วยกันระหว่างถ่ายทำฉากรบพุ่งซึ่งขับให้คนดูยิ่งรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหตุการณ์มากขึ้นไปอีก ซึ่งเทคนิคของมันนั้นง่ายดายมาก สปีลเบิร์กเอาสว่านแนบกับกล้องถ่ายหนัง และเปิดให้สว่านทำงานเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อให้เกิดความสั่นสะเทือนนั่นเอง

แฮงค์สกับไดย์

8.) เดล ไดย์ คือนายทหารผ่านศึกที่ถูกส่งมาให้ดูแลและฝึกซ้อมเหล่านักแสดงนำของเรื่อง แก๊งนักแสดงต้องเข้าค่ายกับนายทหารจริงๆ ฝึกแบกปืน วิ่ง และใช้ชีวิตอย่างหฤโหดเป็นเวลาติดต่อกันหลายสัปดาห์ตามคำสั่งของเดย์ อย่างไรก็ตาม คนเดียวที่ดูจะทำใจกับการฝึกซ้อมเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือแฮงค์ส เพราะเขาเคยฝึกกับเดย์มาแล้วสมัยแสดงเรื่อง Forrest Gump (1994) “ตอนแรกนักแสดงคนอื่นๆ ก็คิดว่าอาจจะแค่เข้าไปนั่งในป่าในดง ไม่ก็จดเล็กเชอร์ชีวิตในกองทัพรอบกองไฟอะไรแบบนั้นอะนะ” แฮงค์สกล่าว อย่างไรก็ตาม นักแสดงบางส่วนโหวตปฏิเสธจะฝึกต่อเพราะอดทนต่อความโหดของการฝึกไม่ไหว แต่แฮงค์ส -ซึ่งออกตัวว่าพอใจกับการเข้าค่ายฝึกมาก- ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการฝึกซ้อมกลางคันเช่นนี้ และยืนกรานว่าจะฝึกต่อไปจนนักแสดงคนอื่นๆ ที่เคยโหวตขอถอนตัว ยอมกลับมาเข้าค่ายฝึกต่อแต่ดี

9.) ความโหดของการซ้อมนั้นรวมถึงส่งแก๊งนักแสดงเข้าไปนั่งแช่ในหลุมท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายและพายุฝนถล่มโดยไม่ให้ขึ้นมาจากหลุม (แบบเดียวกับที่พลทหารต้องเผชิญหากอยู่ในสถานการณ์จริงเมื่อฝนตกลงในสมรภูมิรบ) และถุกบังคับให้เรียกเพื่อนนักแสดงด้วยกันด้วยชื่อตัวละครที่พวกเขาสวมบทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไดย์เรียกพวกเขาด้วยชื่อเดียวเหมือนกันหมดว่าไอ้เจ้า “ขี้เปียก” (“turds”)

10.) เพื่อจะฉายหนังเรื่องนี้ โรงหนังต้องเพิ่มเสียงขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะซาวด์เอฟเฟ็กต์สของเรื่องนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญมากที่สุดประการหนึ่ง โดยเฉพาะเสียงปืนที่สปีลเบิร์กไปอัดมาจากเสียงปืนซึ่งใช้ในยุคสงครามโลกจริงๆ

ติดตามรับชม

Saving Private Ryan ผ่าสมรภูมินรก
วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม เวลา 18.00 น.ทางช่อง MONO29

สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
https://movie.mthai.com/


Movie & Series Talk