พบชายชาวโอมานติดเชื้อเมอร์สคนแรกในไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลตรวจเชื้อโรคเมอร์สจากห้องปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 2 ของผู้ป่วยชายชาวโอมานอายุประมาณ 70 ปี เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง โดยพบว่าติดเชื้่อไวรัสเมอร์สซึ่งผู้ป่วยคนนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อรักษาโรคหัวใจกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแต่พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบและอาการไม่ดีขึ้น จึงย้ายผู้ป่วยมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูรและได้ส่งเสมหะไปตรวจและพบว่าติดเชื้อไวรัสเมอร์สซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยคนนี้อยู่ในห้องแยกโรครวมถึงญาติ 3 คนด้วยซึ่งผู้ป่วยมีอาการทรงตัว รวมถึงญาติได้มาอยู่ในห้องแยกโรคนอกจากนี้ยังได้ประสารติดตามผู้สัมผัสโรคซึ่งเป็นผู้โดยสารเดินทางมาเครื่องบินลำเดียวกันกับผู้ป่วยและคนขับรถแท็กซี่ 2 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน 20 คนกำลังติดต่อมาสังเกตอาการพร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะเป็นผู้ป่วยมาจากต่างประเทศขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยป้องกันดีอยู่แล้ว
ตรวจหาเชื้อเมอร์สในตัวบุคคล
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องตรวจเชื้อซ้ำเป็นรอบที่สองเนื่องจากผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 4 แห่งให้ผลที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกันทำให้ต้องตรวจยืนยันผลซ้ำอีกครั้งโดยให้เก็บตัวอย่างที่ตรงกัน กำหนดให้เก็บสารคัดหลั่งตั้งแต่จมูกไปจนถึงคอหอยเพื่อให้ผลแน่ชัดและแม่นยำซึ่งก่อนหน้านี้เก็บสารคัดหลั่งแค่โพรงจมูกกับน้ำล้างปอด ด้าน นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำโรงพยาบาลรัฐและเอกชนรวมทั้งคลินิกซักประวัติคนไข้ว่าเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงหรือไม่หากมีอาการป่วยหรือมีไข้ต้องสวมหน้ากากอนามัยแบบเอ็น 95 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหรือหากต้องการมาโรงพยาบาลให้ติดต่อ สายด่วน 1669 เพื่อรับตัวมาส่งที่โรงพยาบาลส่วนญาติที่สัมผัสใกล้ชิดจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลพร้อมย้ำว่าประเทศไทยมีโอกาสได้รับเชื้อเพราะไม่มีการจำกัดการเดินทางเช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ต้องปฏิบัติตามคู่มืออย่างเคร่งครัด
เจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อเมอร์สในสนามบิน
นายแพทย์สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่าขณะนี้มีการเดินทางเข้าออกประเทศส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไป-กลับตะวันออกกลางมากกว่าเกาหลีใต้ถึง 2 เท่าจึงย้ำให้ 67 ด่านทั่วประเทศเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นขณะที่พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่านายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนอย่าตกใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ต้องติดตามข่าวสารเป็นระยะโดยรัฐบาลได้ตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีเผชิญเหตุเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ