หากไม่นับเนื้อเรื่องหม่นหมอง ตัวละครผู้แบกปมปัญหาขนาดเขื่อง และโทนภาพหนักอึ้งทุกรายละเอียด เอกลักษณ์อีกอย่างที่เราเห็นได้เสมอในหนังของ แซ็ค ชไนเดอร์ คืองานวิชวลสุดตระการตา อันจะเห็นได้จากหนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง Dawn of the Dead (2004) และยิ่งปรากฏชัดในหนังมหาสงคราม 300 (2006) ที่ชไนเดอร์ถมหนังทั้งเรื่องด้วยงานวิชวลจัดจ้านหนักมือจนกลายเป็นจุดขายของหนังอีกประการ ภายใต้การกำกับภาพของช่างภาพคู่บุญอย่าง แลร์รี ฟอง
ชไนเดอร์มักทำฉากต่อสู้ให้ช้าลงด้วยเทคนิคสโลวโมชั่นฉากทั้งฉาก และแม้มันจะเป็นเทคนิคที่เก่าแก่ (จนสุ่มเสี่ยงจะถูกมองว่าเชย) แค่ไหน แต่หากปราศจากการควบคุมงานภาพที่ดี การดึงภาพเคลื่อนไหวให้ช้าลงก็จะกลายเป็นงานหยาบที่ไม่น่าประทับใจ และดูเหมือนว่าชไนเดอร์จะรู้ดีว่าควรทำอย่างไรจึงจะคุมงานภาพอันแสนละเอียดอ่อนนี้ให้อยู่หมัดได้ ทั้งยังรู้ดีว่าควรดึงให้ช้าในเวลาแบบไหนคนดูถึงจะจำ ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่ฉาก “This is Sparta!” ที่ คิงลีโอไนดัส (เจอร์ราด บัตเลอร์) ถีบผู้ส่งสารตกบ่อมืดจะกลายเป็นฉากที่คนดูประทับใจจนทุกวันนี้ และยิ่งถูกตอกย้ำอีกครั้งใน Watchmen (2009) หนังซูเปอร์ฮีโร่สุดดาร์คที่ชไนเดอร์เปิดเรื่องด้วยฉากสโลวโมชั่นสุดขีด เพื่อเน้นย้ำถึงความรุ่งโรจน์ ความเสื่อมโทรมของสหรัฐอเมริกาในยุค 70 กับเพลงที่แสนจะเข้าธีมหนังอย่าง The Times They Are A-Changin’ ของ บ็อบ ดีแลน
วิชวลของเขายังโดดเด่นอยู่ที่ความ “แน่น” ของภาพ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือชไนเดอร์มักจะให้เฟรมภาพในหนังของเขาแทบทุกเฟรมนั้นเต็มแน่นไปด้วยสรรพสิ่งหรือผู้คนเสมอและแทบไม่ปล่อยให้มันมีพื้นที่ว่างใดๆ เลย และแม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนดูหนังหลายคนไม่ชอบใจหนังของเขานัก เพราะงานภาพเช่นนี้ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด (แถมบวกรวมกับงานซีจีดำมืดอีก!) แต่ในอีกด้าน มันก็มีกลุ่มแฟนๆ ที่พออกพอใจกับความหนาแน่นเหล่านี้ไม่น้อย เพราะมันช่วยทำให้พวกเขาเข้าใจสภาพแวดล้อมและบริบทที่ตัวละครอยู่ได้ดียิ่งขึ้น แถมเขายังย้ำชัดถึงเอกลักษณ์ในการทำหนังของตัวเองด้วยการใส่วิชวลสุดเดือดในหนังแอนิเมชั่นน่ารักน่าชังอย่าง Legend of the Guardians: The Owls of Ga’Hoole (2010) ที่หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้าหนังที่ว่าด้วยนกฮูกผู้พิทักษ์ที่หลงใหลในเรื่องเทพนิยายแบบนี้ ชไนเดอร์ยังจะใส่ภาพหนักๆ มืดหม่นมาอีกเหรอ! คำตอบคือใช่จ้า ไม่เสียยี่ห้อหนังชไนเดอร์ แถมการที่มันเป็นแอนิเมชั่นยิ่งเปิดช่องให้เขาใช้ CGI เพื่อเล่าเรื่องได้ถนัดมือมากกว่าหนังคนแสดงด้วย อย่างไรก็ตาม มันนับเป็นหนึ่งในหนังที่แสนจะสดใสที่สุดแล้วของชไนเดอร์ แถมมันยังเป็นหนังที่นักวิจารณ์รักอีกต่างหาก
งานภาพหนักหน่วงของเขายังปรากฏชัดยิ่งขึ้นใน Sucker Punch (2011) หนังที่ว่าด้วยการลุกขึ้นต่อสู้จากการกดทับของหญิงสาว และ CGI ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่องอีกครั้ง เมื่อแทบทั้งเรื่องดำเนินไปด้วยความหม่นมืด การผสานสีเขียวเข้ากับสีดำของฉากหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งขับเน้นภาวะถูกกดดันอย่างหนักของตัวละครได้เป็นอย่างดี ขณะที่หนังซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Man of Steel (2013) แม้วิชวลของหนังจะไม่ดำมืดเท่าเรื่องก่อน หากแต่ชไนเดอร์ยังคงใช้การตัดกันของแสงและเงาอย่างหนักมือเช่นเคย ผสานรวมกับการใช้คอมพิวเตอร์สร้างฉากการต่อสู้ระเบิดระเบ้อไปครึ่งเมือง
อย่างไรก็ตาม ชไนเดอร์ถูกวิจารณ์หนักพอสมควรในหนังเรื่องหลังๆ โดยเฉพาะจากหนังแฟรนไชส์ในจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่อย่าง Batman v Superman: Dawn of Justice (2016) และ Justice League (2017) ที่ถูกแซวว่านี่ใจคอจะทำให้หนัง ‘มืด’ เพื่อรับกับธีมของดีซีหรือเปล่า เพราะหลายๆ ฉากนั้นไม่เพียงแต่เล่าผ่าน CGI เป็นฉากหลังเป็นหลัก แต่ยังมืดทึบและแน่นไปด้วยสารพัดสิ่งประกอบฉากไปหมด แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบงานกำกับของชไนเดอร์ เราก็คงต้องยอมรับว่า งานวิชวลที่หนักแน่นและสวยงามเช่นนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามันไม่ได้มาจากคนทำหนังที่สร้างภาพไว้ชัดเจนในจินตนาการ และหาวิธีถ่ายทอดภาพเหล่านั้นได้อย่างแจ่มชัดบนจอภาพยนตร์ ซึ่งดูเหมือนว่านี่เป็นสิ่งที่คนทำหนังอย่างชไนเดอร์ทำมาได้ดีโดยตลอดทีเดียว
ติดตามรับชม
Justice League จัสติซ ลีก
วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. ทางช่อง MONO29
สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com/