สะเทือนวงการตร. ยักยอกของกลางขายเอง
ความคลุกคลีระหว่างยาเสพติดกับตำรวจชุดสืบสวนและปราบปรามขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดถือเป็นเรื่องที่ต้องแฝงตัวกว่าจะได้การข่าวที่แน่นอนจนบางนายอาจแยกกันไม่ออกเมื่ออยู่ในเส้นทางนี้ หนำซ้ำยิ่งได้สัมผัสกับวงการธุรกิจที่เงินหมุนไปมาอย่างรวดเร็วและนี่อาจเป็นจุดดึงดูดให้ตำรวจระดับนักสืบดีเด่นผู้บังคับหมู่งานสืบสวนในสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยาตัดสินใจยักยอกของกลางกว่า 12,000 เม็ดเก็บไว้ขายเสียเอง
ดาบตำรวจ บุญสืบ ชุ่มยิ้ม ผบ.หมู่ งานสืบสวนสภ.พระนครศรีอยุธยา
เบื้องต้นดาบตำรวจนายนี้สารภาพทำเป็นครั้งแรกแต่ก็มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งแอบกระซิบมาว่าได้ตั้งข้อสงสัยกับทีมสืบชุดนี้มาสักระยะแล้ว โดยสังเกตจากทรัพย์สินมีค่าส่วนตัวเพิ่มขึ้นผิดวิสัยจึงได้ตั้งทีมทำงานขนานกันอย่างลับจนพบพฤติกรรมน่าตกใจนี้ทั้งนี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ต้องลงมาคุยด้วยตัวเองเพื่อศึกษาข้อจำกัดและจุดบกพร่องต่างๆที่กลายเป็นจุดอ่อนไหวของตำรวจผู้ต้องทำใกล้ชิดกับยาเสพติด
ภรรยาของตำรวจทั้ง 4 นายซึ่งถูกออกหมายจับความผิดฐานเดียว
ขณะที่บรรดาภรรยาของตำรวจทั้ง 4 นายซึ่งถูกออกหมายจับความผิดฐานเดียวกันต่างร้องขอความเป็นธรรมซึ่งพลตำรวจเอกพงศพัศก็อธิบายขอให้ช่วยติดต่อเข้ามอบตัวเพื่อมาต่อสู้กันตามกระบวนการหากมั่นใจว่าบริสุทธิ์ แม้จะมีแรงจูงใจจากรางวัลนำจับที่มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสินบนให้แก่ทีมจับกุม แต่ก็ไม่อาจดึงดูดให้ตำรวจบางนายที่ใกล้ชิดกับยาเสพติดมากเกินไปจนเกินห้ามใจได้โดยพลตำรวจเอกพงศพัศก็ยอมรับว่าเงินรางวัลนำจับนั้นยังจ่ายให้แต่ละหน่วยที่ทำงานล่าช้าเกินไปแต่นั้นก็ยังไม่ใช่ข้ออ้างเงินรางวัลนำจับมีอัตราการจ่ายเงินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน เงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2537 เช่นในประเภทยาบ้ามีเกณฑ์การจ่ายต่อผู้ยื่นขออยู่ที่เม็ดละ 1-2 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของสารตั้งต้นในเม็ดนั้นๆและรวมจ่ายครั้งละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยหัวหน้าหน่วยเป็นผู้เบิกซึ่งก็มักมีเรื่องราวว่าตำรวจชั้นผู้น้อยไม่ค่อยได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลหรือได้รับไม่เท่าความเป็นจริง