หากนึกถึงนักแสดงจากเปอร์โตริโก ชื่อแรกๆ ที่ปรากฏย่อมหนีไม่พ้น เบเนซิโอ เดล โตโร นักแสดงร่างสูงที่มาพร้อมรอยคล้ำใต้ตาอันเป็นเอกลักษณ์ น้ำเสียงแหบต่ำและการแสดงแบบถึงลูกถึงคน ตัวละครส่วนใหญ่ที่เดล โตโรรับบทนั้นหนีไม่พ้นชายที่เผชิญมรสุมชีวิตหรือข้องเกี่ยวกับมุมมืดของสังคม แม้ว่าเขาจะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก็ตามทีว่า “ผมชอบรับบทที่มันต่างไปจากที่เคยแสดงนะ หนังโรแมนติกอะไรแบบนี้ก็ดี อยากลองใส่สูทเท่ๆ แล้วควงสาวในตอนจบของหนังเหมือนกัน” เพราะแม้แต่บทแรกๆ ที่เขารับแสดง ก็ยังเป็นมือปืนโฉดจาก Licence to Kill (1989, จอห์น เกล็น) ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่มีชื่อเสียงมากนัก หากแต่เจ้าหนุ่มผมดำหน้าตาเอาเรื่อง ก็เป็นที่สะดุดตาคนดูอยู่ไม่น้อย และจากนั้นเอง ที่ดูเหมือนว่าบทบาทในยุคต่อๆ มานั้น เดล โตโร จะวนเวียนอยู่กับบทที่สะท้อนให้เห็นด้านมืดของมนุษย์อย่างชัดแจ้ง
แฟรงค์กีสี่นิ้ว – Snatch (2000, กาย ริตชีย์)
หนังตลกร้ายประสากาย ริตชีย์ เมื่อเรื่องราววายป่วงทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพชรเม็ดเดียว เดล โตโรรับบทเป็นแฟรงค์กี อาชญากรหัวกะทิที่เดินทางมายังลอนดอนเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญอย่างส่งเพชรเม็ดเขื่องให้เจ้านาย (เดนนิส ฟารินา) แต่ดันไปฝากเพชรไว้กับญาติตัวเอ้ (ไมก์ รีด) ของนายแทน แถมดันจับพลัดจับผลูไปเดิมพันมวยใต้ดินอีก ซึ่งก็ซวยเหลือหลายเพราะบนสังเวียนแห่งนี้ โปรโมเตอร์มวยและนักพนันคนอื่นๆ ล้วนเตรียมตัวหลอกต้มแฟรงค์กีกันทั้งนั้น แถมไปๆ มาๆ ต้นเหตุมันน่าจะมาจากไอ้นักมวยยิปซีคุ้มดีคุ้มร้าย (แบรด พิตต์) ที่ทำให้เขาและพรรคพวกอาจต้องชวดเงินมหาศาลกับเพชรเม็ดงามอีกด้วย
หนังเพียบไปด้วยนักแสดงระดับแถวหน้าของวงการ แถมพล็อตตลบหน้าตลบหลังชวนเวียนหัวหากแต่ก็สนุกจนละสายตาไม่ได้ (และมันยังเป็นหนังที่เดล โตโร ถูกแซวว่าทำให้เขามาเจอกับนักแสดงหน้าเหมือนอย่างพิตต์ในเรื่องเดียวกันด้วย) เดล โตโรถ่ายทอดบทแฟรงค์กีที่เจ้าเล่ห์แสนกลแต่ก็พร้อมจะระเบิดความรุนแรงทุกครั้งที่พบว่าตัวเองอยู่ในความเสี่ยงของการเสียพนัน ทั้งยังไม่แยแสหากว่าจะเกลี่ยทุกอย่างที่ขวางทางเขากับเงินด้วยความรุนแรง!
ฆาเบียร์ ร็อดริเกวซ – Traffic (2000, สตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์)
เมื่อต้นปี เขาคือแฟรงค์กีสี่นิ้วในหนังตลกร้าย หากเมื่อปลายปี เดล โตโรคือนายตำรวจที่ไถลไปกับวังวนของความละโมบ ซึ่งเป็นบทที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ (ขณะที่ตัวโซเดอร์เบิร์กห์เองได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม) โดยหนังซึ่งดัดแปลงมาจากมินิซีรีส์สัญชาติอังกฤษอย่าง Traffik เล่าเรื่องของ ฆาเบียร์ ตำรวจชาวเม็กซิกันที่ประจำการอยู่บริเวณชายแดนซึ่งขึ้นชื่อเรื่องยาเสพติด พร้อมกันนั้น ฝั่งอเมริกาออกนโยบายปราบปรามการค้ายาและส่งเจ้าหน้าที่ไปเพื่อขจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพลจากฝั่งเม็กซิโก เหล่าตัวละครในเรื่องจึงเชื่อมร้อยกันผ่านยาเสพติดและอำนาจ อันเป็นวังวนอันตรายที่ทำให้ความเที่ยงตรงของฆาเบียร์สั่นคลอนอย่างรุนแรง
แม้ว่าในหนังนั้น ฆาเบียร์ไม่ใช่นายตำรวจที่นิยมใช้กำลังเท่าไหร่นัก เขาคือนายตำรวจใจซื่อที่ต้องต่อสู้กับด้านมืดของตัวเองอย่างหนักหน่วง หากแต่กลิ่นอายความรุนแรงในหนังนั้นกลับดุเดือดรุนแรงขึ้นทุกครั้งที่เขาปรากฏตัว ความหินของบทนั้นทำให้แม้แต่โซเดอร์เบิร์กห์ยังออกปากว่า “มันเป็นความรับผิดชอบและแรงกดดันที่หนักหนามากสำหรับเบนิซิโอ มากกว่าผมอีกมั้งครับ”
“เป้าหมายของผมในฐานะนักแสดงคือไต่ระดับฝีมือขึ้นไปเรื่อยๆ” เดล โตโรว่า “และตอนนี้ผมคิดว่าตัวเองมาถึงจุดนั้นแล้ว รางวัลออสการ์ทำให้ผมได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น และสำหรับผม ลำพังตัวหนัง Traffic อย่างเดียวก็ให้อะไรผมมากมายแล้ว มันเป็นบทแบบที่คุณยอมตายได้เพราะรู้ว่ามันจะทำให้ผู้คนสนใจผลงานของเราจริงๆ มันสร้างชื่อให้เราได้เลย”
แอรอน ฮัลแลม – The Hunted (2003, วิลเลียม ฟรีดกิน)
“ผมอยากทำงานกับฟรีดกินมานานแล้วครับ เขาเป็นผู้กำกับที่ใครก็อยากร่วมงานด้วยอะ แถมพอผมรู้ว่า ทอมมี ลี โจนส์ ก็แสดงเรื่องนี้ด้วยเหมือนกันนี่ยิ่งเจ๋งมากเข้าไปอีก” เดล โตโรเล่าถึงการมารับบทเป็นมือสังหารที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่าในหนังธริลเลอร์ของฟรีดกิน คนทำหนังที่เคยคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The French Connection (1971) มาแล้ว
The Hunted จับจ้องไปยังฮัลแลม ชายหนุ่มที่เข้าร่วมสงครามในโคโซโวปี 1999 และเผชิญหน้ากับกองกำลังของเซอร์เบียอันเหี้ยมโหด ภายหลังรอดชีวิตจากสงคราม แม้จะได้รับเหรียญกล้าหาญ หากแต่ฮัลแลมต้องเผชิญหน้ากับภาพหายนะและความรุนแรงจากสงคราม โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กองกำลังฝั่งเซอร์เบียบุกเข้าทำร้ายประชาชน ฮัลแลมจึงต้องทำทุกทางเพื่อเยียวยาตัวเองออกจากฝันร้ายในครั้งนี้ หากแต่การณ์กลับยากลำบากมากขึ้นไปอีก เมื่อในปี 2003 บอนแฮม (โจนส์) เจ้าหน้าที่รัฐพบว่ามีคนถูกสังหารโดยแทบไม่เหลือร่องรอยอะไรทิ้งไว้ ความแยบยลของการกลบเกลื่อนร่องรอยครั้งนี้ทำให้เขาตามสืบจนได้ความว่า คนที่ก่อเหตุนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็น ฮัลแลม ชายที่เยียวยาบาดแผลจากสงครามในอดีตด้วยการสังหารเหยื่ออย่างเลือดเย็น!
“ตอนอ่านบทครั้งแรกผมก็ชอบมันเลย” เดล โตโรว่า “แต่ถึงอย่างนั้น พวกเราก็ยังอยากให้เนื้อเรื่องมันมืดหม่นมากยิ่งขึ้นไปอีก และลงเอยด้วยการมานั่งสุมหัวกันแล้วประชุม หาทางทำให้เรื่องเหล่านี้มันดิบและดำมืดยิ่งกว่าที่เป็น
“สำหรับผม แอรอนพยายามขอความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เขาไม่ใช่ตัวละครประเภทที่เที่ยวไปบอกคนอื่นว่า ‘กูเป็นบ้า ทำใจซะ’ แต่พยายามจะบอกว่า ‘ผมรู้สึกไม่ค่อยดี’ มากกว่า ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ ผมเห็นใจเขาไม่น้อยเลยนะ”
(อย่างไรก็ตาม เดล โตโรลงเอยที่การทำกระดูกข้อมือหักจากการเข้าฉากต่อสู้กับโจนส์ในเรื่องนี้ และต้องพักรักษาตัวระยะยาวทีเดียว)
แจ็ค จอร์แดน – 21 Grams (2003, อเลคันโคร กอนซาเลซ อีนาร์ริตู)
เรื่องราวโศกสลดของคนสามคนที่เชื่อมโยงกันด้วยอุบัติเหตุครั้งใหญ่ พอล (ฌอน เพ็นน์) ชายที่ป่วยหนักและได้รับการบริจาคหัวใจจนรอดชีวิตมาได้, คริสตินา (นาโอมิ วัตต์ส) หญิงสาวที่สามีและลูกถูกรถชนเสียชีวิต เธอบริจาคหัวใจของสามีให้กับคนในโรงพยาบาลคนหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการผลัดเปลี่ยนอวัยวะอย่างเร่งด่วน และแจ็ค (เดล โตโร) หนุ่มร่างสูงที่ขับรถชนชายคนหนึ่งกับลูกของเขา เกี่ยวร้อยโยงชีวิต ความตายและน้ำหนัก 21 กรัมที่จะหายไปจากมนุษย์เสียชีวิต
บทบาทนี้ส่งให้เดล โตโรเข้าชิงสมทบชายจากออสการ์ เพราะตัวละครแจ็คไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกผิดบาปสุดขีด หากแต่ความรู้สึกนี้ยังผลักให้เขากลายเป็นชายผู้ศรัทธาในศาสนาจนแทบจะเรียกได้ว่าบ้าคลั่ง “ผมอยากแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวละครนี้” เดล โตโรว่า “และในเวลาเดียวกันก็อยากให้เห็นด้วยว่าเขาเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ทั้งบ้าคลั่งและสง่างามได้ในเวลาเดียวกัน เขาไม่อนุญาตให้ตัวเองรื่นเริงได้อีกนับตั้งแต่วันที่เหยื่อจากอุบัติเหตุเสียชีวิต และผมว่าในตัวเขาก็มีแง่มุมของความงดงามบางอย่าง โดยทั่วไปแล้วแจ็คเลือกทำในสิ่งที่ถูกเกือบตลอดเวลานะ เพียงแต่เขาเริ่มมันช้าเกินไป หรือไม่ก็เร็วเกินไป และแน่นอนว่าตัวละครนี้ซึมเศร้าอย่างรุนแรง และนั่นแหละประเด็น มันคือสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (Survivor guilt) ล่ะครับ”
สิ่งที่น่าสนใจคือตัวละครแจ็คปฏิเสธจะหลบหนีจากตำรวจทั้งที่ทำได้ และแม้ว่าเมียรักจะห้ามปรามมากเท่าไหร่ แต่สุดท้ายแล้วแจ็คก็มุ่งหน้าตรงไปยังสถานีตำรวจเพื่อสารภาพความผิดที่เขาก่อขึ้น เดล โตโรเชื่อว่าตัวละครทั้งสองต่างรักกันและกันอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่พวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะช่วยเหลืออีกฝ่ายได้เท่านั้นเอง “ผมว่าเขารู้ตัวว่าไม่สามารถจะดูแลครอบครัวที่เขารักได้อีกแล้วน่ะ เพราะติดอยู่กับความเจ็บปวดและความรู้สึกผิด ทั้งยังป่วยด้วยซึ่งผมไม่คิดว่าเมียจะช่วยเหลือเขาจากเรื่องนี้ได้แค่นั้นเอง”
อเลฆันโดร – Sicario (2015, เดอนีส์ วิลล์เนิฟ)
เสียงกระสุนกระหน่ำ, ความดิบเถื่อน หรือฉาก ‘ดินเนอร์’ อันแสนเลือดเย็น ก็ทำให้ Sicario (ภาษาละตินแปลว่า นักฆ่าหรือมือสังหาร) กลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆ คนไปในที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะระห่ำสุดขีดคลั่งเท่านั้น แต่มันยังวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถึงพริกถึงขิง ผ่านเรื่องราวของ เคต (เอมิลี บลันต์) เจ้าหน้าที่ FBI ที่เข้าปฏิบัติภารกิจจับตัวเจ้าพ่อค้ายาตามคำขอของ แม็ตต์ (จอช โบรลิน) เจ้าหน้าที่จากหน่วย CIA โดยมี อเลฆันโดร (เบเนซิโอ เดล โตโร) -ชายผู้อ้างตัวว่าเป็นอัยการจากโคลอมเบีย- เข้าร่วมภารกิจด้วย นำมาสู่การล้างบางขบวนการค้ายาในเม็กซิโกที่เต็มไปด้วยคาวเลือดและความรุนแรง
ฉากการคลายปมบนโต๊ะอาหาร -อันเป็นฉากขึ้นชื่อของหนัง- นั้นกลายเป็นการคลี่ให้เห็นความเลือดเย็นในตัวมนุษย์อย่างถึงแก่น เสียจนเรารู้สึกว่าภายใต้น้ำเสียงนิ่งเนิบและใบหน้าเรียบเฉยของอเลฆันโดร ขณะเฝ้ามองดูคนอีกฝั่งปลายโต๊ะนั้น น่าสยดสยองมากยิ่งกว่ากระสุนทุกนัดที่เขาลั่นมาตลอดทั้งเรื่องเสียอีก เพราะมันคือหลักฐานว่ามนุษย์นั้นสามารถเย็นชาต่อกันได้ถึงขนาดไหน ซึ่งวิลล์เนิฟถ่ายทอดฉากนี้ด้วยการค่อยๆ หรี่เสียงสกอร์หนังลงจนเหลือเพียงความเงียบสงัด และไดอะล็อกยาวเหยียดของเดล โตโรเท่านั้น ซึ่งด้วยการแสดงของเดล โตโรยิ่งขับให้ตัวละครของเขานั้นคุกคามและบ้าคลั่งยิ่งขึ้นอีกเท่าตัว
ติดตามรับชม
Sicario ทีมพิฆาต ทะลุแดนเดือด
วันเสาร์ที่ 10 เมษายน เวลา 18.00 น. ทางช่อง MONO29
สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com/