Fast & Furious Presents: Hobbs & Shaw (2019, เดวิด ลิตช์) ทำเงินทะลุหลัก 600 ล้านเหรียญฯ
The Meg (2018, จอน เทอร์เทิลท็อบ) บุกตีตลาดจีน ทำเงินได้ทั้งในแดนมังกรและสหรัฐฯ ร่วม 500 ล้านเหรียญฯ
Mechanic: Resurrection (2016, เดนนิส กันเซล) สร้างรายได้ 125.7 ล้านเหรียญฯ ซึ่งนับว่ามหาศาลทีเดียวเมื่อเทียบกับทุนสร้างที่ 40 ล้าน
สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของหนังที่เราเพิ่งยกตัวอย่างไปเมื่อข้างต้น หากไม่นับเรื่องที่ว่ามันเป็นหนังแอ็กชั่นระเบิดระเบ้อกระแสหลัก นั่นคือทุกเรื่องล้วนมี เจสัน สเตแธม เป็นนักแสดงนำ และในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดที่ผลิตหนังแอ็กชั่นเกือบจะนับร้อยเรื่องต่อปี การที่หนังของสเตแธมทำกำไรได้เกือบทุกเรื่องคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มันคงต้องอาศัยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง แล้วนี่เรายังไม่ได้พูดไปถึงเรื่องที่ว่า ตัวเขาเองกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักแสดงหนังแอ็กชั่นสุดทรหด ยืนตระหง่านอยู่ท่ามกลางนักแสดงอีกนับพันชีวิตที่แก่งแย่งกันยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขา
เด็กชายจากเดอร์บีไชน์, อังกฤษ หลงใหลในศิลปะการต่อสู้ตั้งแต่ยังเล็ก ก่อนจะโตมาพร้อมการคลุกคลีสารพัดกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลกับดำน้ำจนได้เป็นสมาชิกทีมว่ายน้ำของอังกฤษนานหลายปี แถมยังกระโดดเข้าไปอยู่ในวงการขายของในตลาดมืดสุดเถื่อนด้วย และจังหวะชีวิตขึ้นๆ ลงๆระหว่างตลาดข้างถนนกับการว่ายน้ำก็เป็นอันต้องพลิกผันอีกครั้ง เมื่อทีมงานฝ่ายห้องเสื้อกีฬากำลังมองหานายแบบที่มีรูปร่างเหมาะๆ สักคน ก็ไปเจอตัวสเตแธม เด็กหนุ่มเสียงต่ำพูดจาสำเนีบงอังกฤษจ๋าตอนกำลังซ้อมว่ายน้ำอยู่ในกรุงลอนดอนพอดี จนสเตแธมได้เซ็นสัญญาเป็นนายแบบให้กับแบรนด์ทอมมี ฮิลฟิเกอร์, กริฟฟินและลีวายส์ช่วงกลางปี 90 เพราะแบรนด์ล้วนกำลังมองหานายแบบสักคนที่ “ดูเหมือนชายหนุ่มทั่วๆ ไป แล้วเจสันนี่แหละดูใช่ที่สุดละ เขาดูมีความเป็นผู้ชาย (masculine) มากๆ แต่ก็ไม่ได้ดูเหมือนนายแบบจนเกินไป” ไปพร้อมๆ กันนั้น นอกจากงานถ่ายแบบเสื้อผ้ากีฬา งานที่ติดต่อสเตแธมในตอนนั้นยังเป็นงานภาพเคลื่อนไหวที่เน้นเรือนร่างอย่างมิวสิกวิดีโอบางเพลง ทั้งเพลง Comin’ On ของวงอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติสก็อตต์ The Shamen ที่สเตแธมใส่กางเกงในลายเสือดาวเต้นเข้าจังหวะ (ซึ่งแทบไม่มีใครรู้เลยว่าเขาอยู่ในเอ็มวีตัวนี้ กระทั่งอีกยี่สิบปีให้หลัง), Run to the Sun ของคู่ดูโอซินธ์ป๊อปจากอังกฤษ Erasure ซึ่งเอ็มวีจับจ้องไปยังสเตแธมในสภาพเคลือบสีเงินเงาวับทั้งตัว และสวมเสื้อผ้าปกติเล่นเอ็มวีครั้งแรกใน Dream a Little Dream of Me ของวง The Beautiful South ในปี 1995 และนั่นคือช่วงเวลาก่อนที่ กาย ริชชี จะมาเจอเจ้าหนุ่มสำเนียงอังกฤษร่างกายกำยำผู้นี้
ริชชีที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้กำกับที่มักทำหนังว่าด้วยการโจรกรรมเสมอ กำลังมองหานักแสดงสักคนที่มีบุคลิกดิบเถื่อนทว่าก็ปราดเปรียว และเจอสเตแธมกับประวัติการค้าขายในตลาดมืดสมัยยังเด็ก เขาจึงไม่รอช้าเรียกให้สเตแธมมาออดิชั่นในหนัง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) ทันที หนังว่าด้วยสี่หนุ่มเพื่อนรักนักพนันที่ดันไปท้าเล่นไพ่กับเจ้าพ่อมาเฟียเพราะหวังจะโกยกำไรทางลัด หากแต่โชคชะตาเล่นตลกจนพวกเขาติดหนี้ราวห้าแสนปอนด์จนต้องหนีการตามล่าหัวซุกหัวซุน ซึ่งบท เบคอน เจ้าหนุ่มหัวโล้นเก้ๆ กังๆ ก็ส่งให้สเตแธมกลายเป็นที่จับตาทันที “ผมโตมาแบบที่เจอคนหลากหลายประเภทมาก คนพวกนี้ทำงานที่เสี่ยงคุกตะรางเสมอ ไม่ก็เป็นงานที่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าจริงๆ แล้วพวกเขาทำอะไรแน่และก็ไม่อยากทำตามด้วย” สเตแธมเล่า “ฉะนั้น ผมจึงจินตนาการถึงตัวละครเหล่านี้ตอนแสดงหนังได้เสมอ อย่างคนอื่นๆ ก็อาจจะทำความเข้าใจตัวละครจากการอ่านหนังสือ แต่สำหรับผม ผมเรียนรู้จากประสบการณ์เอา เพราะมันเป็นแค่สิ่งเดียวที่ผมมี”
ริชชียังรักเขาจนจับไปอยู่ในหนังใหญ่อีกเรื่องอย่าง Snatch (2000) ที่คราวนี้เพียบไปด้วยนักแสดงเบอร์ยักษ์ไม่ว่าจะ แบรด พิตต์, เบเนซิโอ เดล โตโร, วินนี โจนส์ โดยสเตแธมรับบทเป็นคนดูแลค่ายมวยที่ต้องไปลากเอา มิกกี (พิตต์) นักสู้ยิปซีฝีมือดีแต่พูดไม่รู้เรื่องมาลงสังเวียน ไปพร้อมกันนั้นก็เข้าไปพัวพันกับคดีเพชรหายที่เหล่ามาเฟียกลุ่มใหญ่ตามล่ากันแทบพลิกแผ่นดิน
และสเตแธมมาดังระเบิดจริงๆ ก็จากบท แฟรงค์ มาร์ติน นักส่งของพูดน้อยต่อยหนักจาก The Transporter (2002, หลุยส์ เลแตร์ริเยร์ กับ คอเรย์ ยอน) และประสบความสำเร็จถึงขั้นมีภาคต่อตามมาอีกสองภาคเลยทีเดียว โดยเส้นเรื่องหลักๆ นั้นพูดถึงภารกิจที่แฟรงค์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าดงมาเฟียไปส่งของ คุ้มครองคน โดยมีกฎเหล็กคือเขาจะไม่ถามและไม่เปิดดูของที่จะส่งเด็ดขาด พร้อมกันนั้นก็จะไม่ผูกสัมพันธไมตรีกับนายจ้าง จนภาพลักษณ์การเป็นหนุ่มเงียบขรึมติดตัวเขามาอีกยาวนาน (ปรากฏในภายหลังว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นคนมีอารมณ์ขันและมักยิงมุกเสียดสีร้ายๆ แบบชาวอังกฤษอยู่บ่อยๆ) พร้อมกันกับภาพการเป็นนักแสดงหนังแอ็กชั่นที่เริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาปรากฏตัวในหนังอย่าง Cellular (2004, เดวิด อาร์ เอลลิส), Revolver (2005, ริชชี), Crank (2006, มาร์ค เนเวลดีน กับ ไบรอัน เทย์เลอร์) และ Death Race (2008, พอล ดับเบิลยู เอส แอนเดอร์สัน) เรื่อยมาจน Homefront (2013, แกรี ฟลีเดอร์) ที่แม้เขาจะรับบทเป็นตัวละครที่มีปมเขื่องในจิตใจจนอยากปลีกวิเวกมาอยู่ในเมืองเล็กๆ ก็ยังไม่วายต้องเจอกับเจ้าพ่อค้ายา (เจมส์ ฟรังโก) จนนำมาซึ่งการต่อสู้สุดเดือดดาล
ใช่ว่าสเตแธมจะไม่รู้ว่าหลายคนมองเขาอย่างไร หลายคนคิดว่าเขารับแสดงแต่หนังแอ็กชั่นฟอร์มใหญ่ ไล่ยิงกันไปครึ่งเรื่อง และละเลยการแสดงในมิติอื่นๆ ไปจนสิ้น “คุณไม่มีทางคว้ารางวัลออสการ์เพราะแสดงหนังอย่าง Crank หรอก รวมถึงหนังเรื่องอื่นๆ ที่ผมเล่นด้วย” เขาว่าหน้าตาเฉย แต่ถึงอย่างนั้น หนังแอ็กชั่นก็มีความยากในแบบของมัน สเตแธมขึ้นชื่อเรื่องการเล่นจริงเจ็บจริง เขาเข้มงวดกับการฝึกซ้อมและคุมอาหาร ใช้ชีวิตราวกับนักกีฬาอาชีพก็ไม่ปาน
“ผมเข้ายิมของสตันต์แมน มันไม่มีโทรทัศน์หรือลู่วิ่งในนั้นเลย เหมือนโรงไม้ใหญ่ๆ มากกว่า มีแต่อุปกรณ์ฝึกซ้อมอย่างแทรมโพลีนหรือกระสอบทราย แล้วก็มีอาวุธมากมาย -ที่ทำให้คุณเจ็บตัวได้จริงๆ- ให้ได้หัดลองใช้ คุณจะลองหัดปามีดจากที่นี่ก็ยังได้” เขาเล่า “ผมทุ่มเทเวลาฝึกฝนทักษะการต่อสู้จริงๆ จนในที่สุด พอคุณทำได้คุณก็จะอยากแสดงฉากแอ็กชั่นเองแล้วล่ะ”
ทั้งหมดนี้น่าจะพอพูดได้ว่ามันเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานจากนักแสดงอาชีพ “สี่เดือนที่ผมไม่แตะเบียร์เลยและฝึกหนักทุกวัน เวลาทำงาน คุณแค่ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ถ้าผมแสดงได้ห่วยแตกมันก็ต้องเป็นเพราะตัวผมเอง มันต้องไม่ใช่เพราะมาจากเตกีล่าแปดช็อตหรือเพราะการไปออกเที่ยวกับคนที่ผมไม่ได้แม้แต่จะรู้จัก”
ฉะนั้น ถ้าหากมีใครสักคนออกความเห็นว่า อย่างเจสัน สเตแธม คงจะวนเวียนได้แต่หนังแอ็กชั่นฟอร์มโต เขาอาจจะยิ้มรับมันอย่างยินดีและไม่ยี่หระ
“มันเหมือนเวลาคุณไปกินร้านซูชิน่ะ คุณคงร้องหาชีสกับขนมปังไม่ได้หรอกใช่ไหม เพราะคนจะถามคุณทันทีว่า ทำอะไรน่ะ เรามากินซูชินะ! เรื่องของเรื่องคือ คุณต้องทำในสิ่งที่คนเขาอยากเห็น ถ้าคุณมีบทหนังที่ว่าด้วยนายแพทย์จิตตกที่เมียอยากขอหย่า แล้วให้ผมไปแสดงในหนังเรื่องนั้น นายทุนก็ไม่มีทางให้เงินคุณมาหรอก แต่ถ้าคุณบอกว่า ‘ไอ้หมอนี่มันจะตระเวนขับรถกระทืบหัวคนแล้วไล่ยิงตีนชาวบ้านในหนัง’ นั่นล่ะใช่เลย พวกเขาพร้อมจ่ายให้คุณมาเลย 20 ล้านเหรียญฯ คุณจะไปโทษพวกเขาก็ไม่ได้ที่อยากจะทำเงิน มันเป็นเรื่องธุรกิจครับ “บ๊ะ ผมล่ะเกลียดคำนี้จริงๆ”
เสาร์อาทิตย์นี้ เตรียมมันส์ไปกับยอดคนส่งของกันได้เลย
ติดตามรับชม
The Transporter : ขนระห่าไปบี้นรก
วันเสาร์ที่ 26 กันยายน เวลา 18.00 น.
Transporter 2 : ภารกิจฮึด เฆี่ยนนรก
วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน เวลา 18.00 น.
สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://bioscope.mthai.com/