ขณะที่เรื่องรับใหม่ระหว่างปีจำนวน 279 เรื่อง โดยคืนความเป็นธรรมให้ข้าราชการจำนวน 37 ราย คาดสางเรื่องเก่าตามเป้าภายใน 3 ปี ขณะเดียวกันพบว่าข้าราชการถูกลงโทษทางวินัยเนื่องจากทุจริต เป็นอันดับหนึ่ง และร้องทุกข์อ้างเหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งเป็นอันดับหนึ่ง
วันที่ 14 มกราคม 2568 นายวรวิทย์ สุขบุญ ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ได้แถลงผลงานประจำปี 2567 มีรายละเอียดดังนี้ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ชุดนี้เป็นชุดที่ 3 ได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 โดยเมื่อเข้ารับตำแหน่งมีเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ค้างดำเนินการในขณะนั้น จำนวน 1,056 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อปี 2566 จำนวน 347 เรื่อง คงเหลือจำนวน 983 เรื่อง
สำหรับปี 2567 ก.พ.ค. มีผลงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ดังนี้
1. เรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ค้างดำเนินการณวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 983 เรื่อง
ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 392 เรื่อง คงเหลือจำนวน 591 เรื่อง
2. เรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ที่เข้ามาระหว่างปี 2567 จำนวน 279 เรื่อง
รวมเรื่องดำเนินการทั้งหมด 1,262 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 392 เรื่อง และคงเหลือเรื่องค้างดำเนินการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 870 เรื่อง
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
ในระหว่างปี 2567 ก.พ.ค. (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) ได้พิจารณาเห็นว่ามีผู้ร้องทุกข์จำนวนหนึ่งมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์คาดเคลื่อน ทำให้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้ไม่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ และเมื่อทราบว่าผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย การยื่นคำร้องทุกข์นั้นอาจเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทำให้ผู้ร้องทุกข์เสียสิทธิในการได้รับการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก.พ.ค. จึงได้แก้ไขกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคำร้องทุกข์ได้รับการพิจารณาจากผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนั้น จากสถิติเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2565 – 2567) ปรากฏว่า มีข้าราชการถูกลงโทษทางวินัยและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้
1. ทุจริต ร้อยละ 52.4
2. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ร้อยละ 13.6
(ไม่ร้ายแรง)
3. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ร้อยละ 12.8
เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
4. ไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการและประมาทเลินเล่อ ร้อยละ 6.5
(ไม่ร้ายแรง)
5. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ร้อยละ 5.3
6. ละทิ้งหน้าที่ราชการ ร้อยละ 3.5
7. เรื่องส่วนตัวเช่น ชู้สาว ทะเลาะวิวาท ร้อยละ 2.5
8. อื่น ๆ เช่น ล้มละลาย ได้รับโทษอาญาโดยต้องคำพิพากษา ร้อยละ 3.4
ให้จำคุก เป็นต้น
และข้าราชการร้องทุกข์ อ้างเหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้
1. การแต่งตั้ง ร้อยละ 31.6
2. การมอบหมายงาน การมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการ ร้อยละ 14
3. การประเมินผลการปฏิบัติราชการ ร้อยละ 7.3
3. การย้าย ร้อยละ 7.3
สำหรับคดีสำคัญนั้น นายวรวิทย์ สุขบุญ ได้แถลงว่า ก.พ.ค. ได้พิจารณาคืนความเป็นธรรมให้แก่ ข้าราชการที่อุทธรณ์และร้องทุกข์มายัง ก.พ.ค. จำนวน 37 ราย โดยแยกประเภทคดีได้ ดังนี้
1. เรื่องอุทธรณ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูล และ ก.พ.ค. ให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการไต่สวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์พ้นจากราชการ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัย จำนวน 11 ราย
2. เรื่องที่ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วมีมติให้ลดโทษ จำนวน 21 ราย
3. เรื่องอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วมีมติให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษเนื่องจากการกระทำของ
ผู้อุทธรณ์ ไม่มีมูลความผิดทางวินัย จำนวน 2 ราย
4. เรื่องร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังขึ้นให้ต้นสังกัดดำเนินการให้ถูกต้องจำนวน 3 ราย
ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดในคดีสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ป.ป.ท. ไม่ดำเนินการไต่สวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ข้าราชการสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท.
ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 แต่โดยที่ข้าราชการรายนั้นเกษียณอายุราชการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จึงเป็นกรณีที่ข้าราชการรายดังกล่าว เกษียณอายุราชการเกินกว่า 2 ปีแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดแก่ข้าราชการรายดังกล่าวได้ การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 จึงไม่มีผลผูกพันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 50 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษ
2. การใช้รถราชการ ข้าราชการสังกัดกรมทางหลวงรายหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีนำรถยนต์ส่วนกลางของทางราชการเดินทางจากจังหวัดปทุมธานีไปรับหลานสาวที่จังหวัดระยองอันเป็นกิจธุระส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของทางราชการ ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของข้าราชการรายนี้ ที่นำรถของทางราชการไปใช้นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เบิกค่าน้ำมันจากทางราชการหรือทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด โดยช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วราชอาณาจักรและทั่วโลก ประกอบกับมีประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นระยะ ๆ ให้โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรค วิญญูชนทั่วไปย่อมมีความกังวลในการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การที่ข้าราชการรายนี้นำรถยนต์ของทางราชการไปรับหลาน ซึ่งโทรศัพท์แจ้งว่ามหาวิทยาลัยปิดและขณะนั้นหลานสาวมีอาการไม่สบายอย่างเร่งด่วน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นเพียงไม่ปฏิบัติตามระเบียบการใช้รถของทางราชการ มิใช่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงวินิจฉัยให้ลดโทษข้าราชการรายดังกล่าวจากไล่ออกจากราชการเป็นตัดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 2 เป็นเวลาสองเดือน
3. ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งข้าราชการโดยไม่ชอบ ข้าราชการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมายกำหนดไว้การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย วินิจฉัยให้ทั้งสองหน่วยงานดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องต่อไป
นอกจากนี้ยังมีคดีสำคัญที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดคดีดังกล่าว
ได้ที่ https://mspc.ocsc.go.th