สสส. สานพลัง เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ปลดอคติ หยุดตีตรา-ขจัดการเลือกปฏิบัติ! ขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ มุ่งสร้างสังคมเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ หวังเข้าถึงบริการสุขภาพแบบไม่เลือกปฏิบัติ
เวลา 09.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 2567 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) มูฟดิ จัดงานสมัชชาเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ครั้งที่ 1 Building Bridges – Breaking Barriers : สร้างเครือข่าย ทลายกำแพงเลือกปฏิบัติ เพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย
คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แม้ในภาพรวม ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองการเลือกปฏิบัติอยู่หลายฉบับ แต่พบว่ายังมีช่องว่างหลายประการ ทำให้ยังมีคนที่มีโอกาสถูกเลือกปฏิบัติ และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม อาชีพ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ หรือผู้อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และสิทธิในการที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงบริการจำเป็น ทั้งบริการด้านสุขภาพ บริการทางสังคม สสส. ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน ประชากรข้ามชาติ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 1,871 คน โดยสำรวจอคติ 3 มิติ คือ 1.อคติเชิงความคิด 2.อคติเชิงอารมณ์และการตัดสินใจ 3.อคติเชิงพฤติกรรม มีข้อค้นพบเกี่ยวกับอคติหลายประเด็น อาทิเช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่แม้จะดูเหมือนว่าสังคมไทยเปิดกว้างกว่าในอดีต แต่งานวิจัยกลับชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องกรรม ความผิดปกติทางจิต และการเลี้ยงดูที่ไม่ดี การไม่ยอมรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายตามมา สะท้อนให้เห็นอคติที่อยู่ลึกในใจของคนส่วนหนึ่งในสังคมไทย หรือในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานมากกว่าการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานประเภท 3D ได้แก่ งานหนัก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) เป็นตัวแทนของแรงงานที่มีค่าตอบแทนต่ำ และควรจำกัดจำนวนของแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย
คุณภรณี กล่าวต่อว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบ จึงสานพลังภาคีเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนที่ดำเนินงานกับประชากรกลุ่มเปราะบาง องค์กรด้านการวิจัย ด้านวิชาการ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ รวมถึงองค์กรภาครัฐ มากกว่า 60 องค์กร/เครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกคนในการอยู่ร่วมกัน ร่วมหาทางออก สร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ลดอคติ ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และด้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมเน้นย้ำให้สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิของทุกคน เพราะไม่ควรมีใครถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ
คุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) และกองเลขาเครือข่ายมูฟดิ (MovED) กล่าวว่า ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ปี 2566 ระบุว่า ตลอดทั้งปีได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 225 เรื่อง แบ่งเป็นสิทธิด้านเอดส์ 118 เรื่อง สิทธิแรงงาน 40 เรื่อง และสิทธิอื่นๆ รวมกัน 67 เรื่อง การจัดงานครั้งนี้เพื่อรวบรวมมติของเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่มีการดำเนินงานร่วมกับประชากรกลุ่มเฉพาะ ให้สะท้อนปัญหาผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจริงจากการถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อรับฟัง และร่วมกันหาทางออก ซึ่งสิ่งที่ต้องเดินหน้าเป็นอย่างแรกคือ การส่งเสริมให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เพราะบริการด้านสุขภาพเป็นมิติแรกที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน โดยผลักดันสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดบริการสุขภาพแบบไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากนี้จะมีการจัดเวทีรับฟังปัญหาขึ้นทุก 2 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าและรับฟังปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
“การทำให้สังคมไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลานาน แต่อย่างน้อยการขับเคลื่อนนี้ก็เป็นการส่งเสียงถึงสังคม ผู้มีอำนาจในกฎหมาย ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย และหน่วยงานรัฐ ให้รู้ว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่ สสส. เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางในแง่ของเจตนารมย์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเช่นเดียวกัน อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คุณจารุณี กล่าว
พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ปัญหาที่ประชากรบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพต่างๆ ได้หรือไม่มีบริการทางด้านสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มนี้ เป็นการชี้ชัดว่ามีการเลือกปฏิบัติทั้งระดับของระบบการบริการและตัวบุคคล ฉะนั้น หากให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมีสิทธิ์ร่วมออกแบบและเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการสร้างองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชน หรือกลุ่มคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้น หากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมให้มีล่ามเพื่อสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ ก็จะลดการถูกปฏิเสธการรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการถูกเลือกปฏิบัติสามารถขับเคลื่อนผ่านประเด็นสุขภาพได้เช่นกัน