กรุงเทพฯ – กัลเดอร์มา (Galderma) ผู้นำนวัตกรรมด้านความงามระดับโลก สานต่อความมุ่งมั่นในการยกระดับศักยภาพแพทย์ด้านความงามในทุกมิติ เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ “GAIN Inspire : Ensuring Safe & Effective Use of Dermal Fillers and Biostimulator” โดยเชิญคณะแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ด้านสารเติมเต็ม ความงามและการปรับรูปหน้า รวมถึงดวงตา มาร่วมอัปเดตองค์ความรู้และเสริมเทคนิคการแก้ไข ภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และพันธมิตรคลินิกเสริมความงามชั้นนำจากทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
ภก. พิรพัฒน์ ศรีวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการธุรกิจความงามประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“ในขณะที่หัตถการเสริมความงามเติบโตอย่างรวดเร็ว อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มีโอกาสเกิดเพิ่มมากขึ้น กัลเดอร์มาตระหนักถึงความสำคัญในการมอบความรู้เพื่อส่งเสริมศักยภาพ และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหัตถการเสริมความงาม บริษัทฯ จึงจัดงานสัมมนาวิชาการเพื่ออัปเดตความรู้ เทคนิค และกรณีศึกษาใหม่ๆ เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการกลุ่มฟิลเลอร์และสารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ภายใต้หัวข้อสำคัญ GAIN Inspire : Ensuring Safe & Effective Use of Dermal Fillers and Biostimulator โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากคลินิกความงามชั้นนำทั่วประเทศเข้าร่วมงานกว่า 700 คน”
ในปีนี้กัลเดอร์มายกระดับองค์ความรู้ไปอีกขั้น เชิญคณะแพทย์แถวหน้าเมืองไทยด้านสารเติมเต็ม ความงามและการปรับรูปหน้า รวมถึงด้านดวงตา มาร่วมส่งต่อเทคนิค ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการทำหัตถการสารเติมเต็มและสารกระตุ้นคอลลาเจน ในฐานะผู้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านความงาม นำโดย รศ.(พิเศษ) พญ.วิไล ธนสารอักษร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, รศ. นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ, พันตรี นพ.ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ ประธานชมรมต้อกระจกและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติฯ แพทย์เฉพาะทางด้านจอตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, รศ. นพ.ชัย กอบกิจสุขสกุล อาจารย์ประจำสาขารังสีวิทยาร่วมรักษาระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศ. นพ.วาสนภ วชิรมน อาจารย์ประจำหน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, รศ. พญ.ปุณยพัศฐิช์ ศิริธนบดีกุล อาจารย์ประจำหน่วยผิวหนัง วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ. นพ.ณัฐชาต จุไรรัตนาภรณ์ สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, อ.พญ.สินิชญาน์ สหวัฒน์วงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ดร.เบญริตา จิตอารี อาจารย์สาขาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์) โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการทำหัตถการสารเติมเต็มและสารกระตุ้นคอลลาเจน เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ การทำหัตถการโดนเส้นเลือด หรือฉีดสารเข้าเส้นเลือด การฉีดผิด Protocol เป็นต้น ซึ่งอาการที่บ่งชี้จะมีทั้งอาการที่เกิดขึ้นทันทีและใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ เช่น เกิดอาการบวมช้ำ ผิวหนังเปลี่ยนสี เกิดก้อนใต้ผิวหนัง ผิวอักเสบ เส้นเลือด อุดตัน หรือเกิดผลกระทบต่อเส้นประสาท และอื่น ๆ ดังนั้นแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องใช้แนวทางการรักษาและยาให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาและรักษาอาการคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแนวทางการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ดีที่สุดก็คือ การทำหัตถการอย่างปลอดภัยตรงตาม Protocol หรือเป็นแนวทางที่มีผลงานวิจัยรองรับ ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันถึงแนวทางการรักษาอย่างทันท่วงที โดยแพทย์ผู้ทำหัตถการจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การทำความสะอาดผิวบริเวณที่จะทำหัตถการและบริเวณโดยรอบตามขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ขณะฉีดสารให้หมั่นสังเกตผิวของคนไข้ และติดตามอาการของคนไข้หลังทำจนครบ 48 ชั่วโมง พร้อมประเมินการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยหลัก CPCT คือ C-Color สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีผิวเพื่อดูว่ามีความผิดปกติการไหลเวียนของเลือด หรือออกซิเจนในผิวบริเวณทำหัตการ เช่น ผิวซีด แดง เขียว หรือคล้ำขึ้น P-Pain ตรวจสอบระดับความเจ็บปวด โดยการกดบริเวณผิวที่ทำหัตถการ หรือผิวที่เกิดความผิดปกติเพื่อเช็กความเจ็บปวดของคนไข้ C-Capillary Refill ตรวจสอบการเติมเลือดของเส้นเลือดฝอยด้วยการกดบริเวณเล็บ หรือบริเวณผิวที่ซีดเพื่อสังเกตการอุดตันของเส้นเลือด และ T-Temperature เช็กอุณหภูมิผิวที่ทำหัตถการ หากอุณหภูมิของผิวลดลง หรือเพิ่มขึ้นอาจบ่งบอกถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อน
แพทย์ผู้ทำหัตถการจะต้องประเมินภาวะแทรกซ้อนอย่างแม่นยำและรวดเร็วเพื่อวางแนวทางการรักษา ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การประคบร้อน-เย็น การรักษาด้วยยาประเภททา หรือรับประทาน การฉีดยาเพื่อสลายสารหัตถการ การเจาะระบายของเหลว การผ่าตัด เป็นต้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการทำหัตถการและประเมินความผิดปกติของภาวะแทรกซ้อนได้คือ เครื่องอัลตราซาวน์ ซึ่งแพทย์สามารถนำไปใช้ได้ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ โดยใช้สำรวจผิวและเส้นเลือดของคนไข้ก่อนเริ่มทำหัตถการเพื่อลดความเสี่ยงในการฉีดโดนเส้นเลือด หรือหลีกเลี่ยงบริเวณผิวที่มีความเสี่ยง และใช้ตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดและสิ่งผิดปกติใต้ผิวหนังหลังการทำหัตถการ ปิดท้ายคณะแพทย์ได้โชว์กรณีศึกษาจากเคสคนไข้จริงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรูปแบบต่างๆ เพื่อแนะนำแนวทางการวินิจฉัยและเทคนิคการรักษาที่เหมาะสม
“บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับแพทย์ด้านผิวหนังและความงามของไทยในการรับมือกับภาวะแทรกซ้อนทุกรูปแบบ พร้อมกระตุ้นให้แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงเสริมความงามให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการทำหัตถการ เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าส่งต่อความรู้ด้านความงามใหม่ๆ ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเสริมความงามของไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมกับสากลอย่างยั่งยืนต่อไป” ภก. พิรพัฒน์ กล่าวปิดท้าย