หลายๆ คนอาจยังไม่เคยเตรียมตัวหรือเตรียมใจ เมื่อสมาชิกในบ้านหรือคนใกล้ตัวหมดสติกะทันหันจากภาวะหัวใจหยุดเต้น !!! ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ทุกวินาทีของการช่วยเหลือมีค่ามาก เพราะมันหมายถึงโอกาสรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการทำ CPR กู้ชีพช่วยผู้ป่วยขั้นพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนที่เรารักได้อย่างทันท่วงที และสามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น
นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเราจะพบผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสูงขึ้นเฉลี่ย 50-80 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันพบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา โดยที่ไม่มีสัญญาณเตือนนำมาก่อน สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หมดสติ ส่วนใหญ่มาจาก โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ยิ่งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่ จะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที หากปล่อยไว้นานโอกาสรอดชีวิตจะลดลง ดังนั้นเมื่อพบเห็นผู้หมดสติ และสงสัยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน การทำ CPR จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการทำ CPR ที่ถูกต้องและรวดเร็วจะสามารถทำให้คนไข้รอดชีวิตสูงขึ้นถึง 75%
นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว ให้ข้อมูลต่อว่า การทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) คือการช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้น โดยขั้นตอนสำคัญของการทำ CPR อยู่ที่การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (AED) และการกดหน้าอกปั๊มหัวใจ ที่ต้องทำให้รวดเร็วและทันเวลา เพราะโดยปกติถ้าหัวใจหยุดเต้น เลือดจะไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและหัวใจ ส่งผลให้สมองและหัวใจเสียหาย โดยทั่วไปสมองจะขาดเลือดได้ประมาณ 4-6 นาที ถ้าสมองขาดเลือดนานกว่านี้ จะมีโอกาสที่เนื้อสมองจะเสียหายหรือเกิดภาวะสมองตายได้ ดังนั้นหากพบว่าคนไข้หมดสติ หัวใจหยุดเต้น เมื่อเราทำการประเมินเบื้องต้นแล้ว ต้องรีบช่วยกู้ชีพคนไข้ด้วยการทำ CPR ทันที เพราะการทำ CPR จะช่วยกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงาน และสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้
โดยวิธีการทำ CPR กู้ชีพคนไข้ที่ถูกต้องมีดังนี้ คือ
1. เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ประเมินความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยตรวจดูบริเวณรอบๆ ก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เช่น สายไฟฟ้าที่ช็อตอยู่จุดใด บริเวณนั้นใกล้แหล่งน้ำหรือไม่ มีรถสัญจรหรือเปล่า จะได้ไม่เกิดอันตรายซ้ำ หลังจากนั้นให้ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยการตบไหล่ทั้งสองข้างและเรียกเสียงดังๆ หากยังไม่รู้สึกตัว ให้นึกถึงภาวะหัวใจหยุดเต้นและรีบทำตามขั้นตอนต่อไปโดยทันที
2. รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 โดยแจ้งอาการผู้ป่วย สถานที่เกิดเหตุ ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้แจ้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับหากหาที่เกิดเหตุไม่เจอ รวมถึงแจ้งรายละเอียดของผู้ป่วย เช่น อาการ สถานที่ที่พบ เส้นทางที่เดินทางมาได้สะดวก หากอยู่เพียงลำพัง อย่าทิ้งผู้ป่วยไปไหน ให้เปิดลำโพงโทรศัพท์ เพื่อสื่อสารและรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กู้ชีพ หากแถวนั้นมีเครื่อง AED ให้ผู้ช่วยเหลือท่านอื่นรีบนำเครื่อง AED มาด้วย
3. ให้ประเมินการหายใจโดยการดู ถ้าพบว่าผู้หมดสติไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก โดยให้คุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วยในระดับไหล่ จัดท่าผู้ป่วยนอนหงาย จากนั้นให้วางส้นมือข้างที่ถนัดตรงครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึก 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100 – 120 ครั้งต่อนาที โดยจังหวะที่มือเคลื่อนที่ขึ้น ต้องให้ทรวงอกขยายตัวจนสุด และมือไม่เด้งออกจากหน้าอกของผู้ป่วย
4. เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้ผู้ช่วยเหลืออีกคนหนึ่งรีบเปิดเครื่อง AED และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง โดยทั่วไปเครื่อง AED จะสั่งให้ถอดเสื้อผู้ป่วยออกเพื่อติดแผ่นนำไฟฟ้าทั้ง 2 แผ่น ที่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาและชายโครงด้านซ้ายบริเวณใต้ราวนม อนึ่ง หากผู้ป่วยตัวเปียกจะต้องเช็ดจุดที่จะแปะแผ่นนำไฟฟ้าให้แห้งก่อน หรือหากมีขนเยอะก็ให้โกนขนบริเวณจุดที่จะแปะออกก่อน เพื่อให้แผ่นนำไฟฟ้าสัมผัสกับผิวหนังผู้ป่วยอย่างแนบสนิท
5. เมื่อแปะแผ่นนำไฟฟ้าแล้ว เครื่องจะแจ้งว่า “กำลังวิเคราะห์การเต้นของหัวใจ ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย” เมื่อถึงขั้นตอนนี้ให้ผู้ช่วยเหลือหยุดการกดหน้าอกและรอจนกว่าเครื่องจะให้คำสั่งต่อไป
6. หลังจากเครื่องวิเคราะห์เสร็จ ถ้าเครื่องมีคำสั่งว่า “ไม่แนะนำให้ช็อก ให้เริ่มทำ CPR ต่อ” ให้ผู้ช่วยเหลือทำการกดหน้าอกต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเครื่องมีคำสั่งว่า “แนะนำให้ช็อก ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย” เครื่องจะมีเสียงติ๊ดยาวๆ และเครื่องจะสั่งให้ผู้ช่วยเหลือ “กดปุ่มกระตุ้นหัวใจ” ให้พูดเสียงดังๆ ว่า “ฉันถอย คุณถอย ทุกคนถอย” และต้องแน่ใจว่าไม่มีใครสัมผัสกับผู้ป่วย ก่อนที่จะทำการกดปุ่มช็อกไฟฟ้า เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ช่วยเหลือถูกช็อกไปด้วย
7. หลังจากนั้นให้ทำการกดหน้าอกต่อไปจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง และเมื่อครบเวลา 2 นาที เครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจใหม่ ให้ย้อนกลับไปทำตามขั้นตอนที่ 6 อีกครั้ง
นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว กล่าวปิดท้าย การทำ CPR กู้ชีพคนไข้ มีความสำคัญมาก เพราะหากคนไข้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลา จะสามารถเปลี่ยนนาทีชีวิตคนไข้ให้ฟื้นคืนชีพมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ดังนั้นจึงอยากฝากถึงทุกๆ คนว่า เมื่อพบเจอคนในครอบครัว เพื่อนสนิทหรือบุคคลทั่วไป หมดสติและหยุดหายใจ ต้องนึกถึงภาวะหัวใจหยุดเต้นเสมอ รวมถึงอย่ากลัวที่จะใช้เครื่อง AED และให้รีบกดหน้าอกทันที เพราะสิ่งที่เราทำสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้