คัดลอก URL แล้ว
รู้ทัน “โรคฝีดาษวานร” โรคระบาดป้องกันได้ !!!

รู้ทัน “โรคฝีดาษวานร” โรคระบาดป้องกันได้ !!!

“โรคฝีดาษวานร” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โรคฝีดาษลิง” หลายๆ คนคงคิดว่าเป็นโรคระบาดที่ไกลตัวไม่สามารถป่วยหรือติดเชื้อกันได้ง่ายๆ แต่รู้หรือไม่ว่า “โรคฝีดาษวานร” อันตรายกว่าที่คิด เพราะปัจจุบันเป็นโรคที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2022 ที่เริ่มมีการระบาดจนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ “โรคฝีดาษวานร” จากทั่วโลกมากกว่าหนึ่งแสนราย ถึงแม้ในขณะนี้สถานการณ์ของโรคฝีดาษวานรในประเทศต่างๆ ดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ในประเทศแถบแอฟริกากลางโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) กลับพบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ Clade Ib ซึ่งแพร่จากคนสู่คนได้ง่ายขึ้นและมีการระบาดไปยังประเทศข้างเคียงอีก 4 ประเทศได้แก่ รวันดา บุรุนดี ยูกันดา เคนยา

โดยในปี 2024 มีรายงานจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศข้างเคียง ตรวจพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษลิงมากถึง 25,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 700 กว่าราย และมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย 1 รายจากชาวยุโรป แต่ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ Clade Ib นี้ในประเทศไทย สำหรับในประเทศไทยสถานการณ์โรคยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จำนวนผู้ป่วยใหม่เฉลี่ย 10 กว่ารายในแต่ละเดือน เป็นสายพันธุ์ Clade IIb เช่นเดียวกับที่มีการระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปี 2022

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Mpox ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ พบการติดเชื้อในลิงครั้งแรกในปี 1958 ต่อมาพบว่าเชื้อสามารถแพร่จากสัตว์สู่คน โดยตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ทวีปแอฟริกากลาง ซึ่งโรคฝีดาษลิง ส่วนใหญ่จะมีการระบาดในประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สาธารณรัฐคองโก, ประเทศไนจีเรีย, สาธารณรัฐเบนิน และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน เป็นต้น

“โรคฝีดาษลิง” เป็นโรคที่พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย โรคนี้ยังสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ การสัมผัสซากสัตว์ รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกและติดต่อจากคนสู่คนได้ จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย การสัมผัสตุ่มหนองและสารคัดหลั่ง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย การพูดคุยในระยะใกล้ชิดเป็นระยะเวลานาน การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน แก้วน้ำดื่ม สำหรับการระบาดตั้งแต่ปี 2022 พบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยกลุ่มชายรักชายที่ติดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “โรคฝีดาษลิง” ไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวได้ตั้งแต่ 6-21 วัน จึงเริ่มแสดงอาการ โดยเริ่มจากอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ในช่วง 3-5 วันแรก หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นแดงนูน พบได้บริเวณใบหน้า แขน ขา มือ ในช่องปาก ลำตัว รวมไปถึง อวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสัมผัส หลังจากนั้นผื่นแดงนูน จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และแตกเป็นสะเก็ดและค่อยๆ หลุดไป หลังจากติดเชื้อผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคนี้เองได้ภายใน 2-4 สัปดาห์

สำหรับการรักษา “โรคฝีดาษลิง” แพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาโรคตามอาการ เช่นการให้สารน้ำ การดูแลแผล การให้ยาแก้ปวด เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาในการรักษาเฉพาะ แต่อาจใช้ยาต้านไวรัส Tecovirimat ที่ใช้รักษาฝีดาษคนมาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของยายังไม่ชัดเจน ในปัจจุบันสามารถควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษลิง ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ แต่สามารถนำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ โดยแนะนำฉีดได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเท่านั้น กลุ่มแรก คือการฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสเชื้อ เช่น กลุ่มเสี่ยงชายรักชายที่มีคู่นอนหลายคน บุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่ต้องสัมผัสเชื้อ กลุ่มที่สอง คือ หลังสัมผัสโรคคือผู้ที่ใกล้ชิดผู้ที่ป่วยด้วยโรคฝีดาษลิง โดยการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้ต้องฉีดภายใน 4 วันหลังสัมผัสเชื้อ และฉีดได้ถึงภายใน 14 วัน แต่การฉีดภายใน 4-14 วัน จะไม่ป้องกันการติดเชื้อแต่ลดความรุนแรงได้ ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันอาการป่วยได้กว่า 66-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

พญ.จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้ายว่า วิธีสังเกตอาการโรคฝีดาษลิงง่ายๆ ด้วยตัวเอง คือหากมีการสัมผัสผู้ที่มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัยที่จะเป็นโรคฝีดาษลิง เช่น สัมผัสกอดใกล้ชิดผู้ป่วย มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เดินทางหรือสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลางและทวีปแอฟริกาตะวันตก ภายใน 21 วันก่อนหน้า ควรเฝ้าระวังการติดเชื้อ หากเกิดตุ่มน้ำบริเวณผิวหนัง ช่องปาก หรือ อวัยวะเพศ ทวารหนัก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและลดการแพร่ระบาดของโรค

สำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกากลางและทวีปแอฟริกาตะวันตก หรือสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อโรคฝีดาษลิง สามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูล “โรคฝีดาษลิง” ได้ที่ โทร.1270 หรือ Line: https://lhco.li/3YR7rhZ และ Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง