คัดลอก URL แล้ว
สสส. สานพลัง คณะแพทย์ฯ ศิริราช ม.มหิดล ภาคีเครือข่าย ป้องกัน “พลัด ตก หกล้ม”

สสส. สานพลัง คณะแพทย์ฯ ศิริราช ม.มหิดล ภาคีเครือข่าย ป้องกัน “พลัด ตก หกล้ม”

สูงวัยป่วยกระดูกสะโพกหักจะเพิ่มขึ้นจาก 23,426 ราย ในปี 49 เป็น 34,246 ราย ในปี 68 สสส. สานพลัง คณะแพทย์ฯ ศิริราช ม.มหิดล ภาคีเครือข่าย ป้องกัน “พลัด ตก หกล้ม” ผ่านบุคลากรสาธารณสุข เฝ้าระวัง-พัฒนาเทคโนโลยีติดตาม-ดูแล ผลักดันนโยบายป้องกันกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพกผู้สูงอายุไทย

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 ที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รศ.พ.ต.ต.นพ.ธงชัย สุนทราภา คณะทำงานฝ่ายกิจการพิเศษ สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา และ ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions รักษาการผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ สายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแล ติดตาม และเฝ้าระวังทางสุขภาพ ของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และกระดูกหักรวมถึงการหักซ้ำ

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล กล่าวว่า “ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาใช้ในการประมวลผลความเสี่ยงต่อ การหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน ส่งต่อข้อมูลความเสี่ยงให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน เพื่อวางแผนเฝ้าระวังและให้มาตรการป้องกันได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีแนวทางการสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมข้อมูลการรักษาและความจำเป็นในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน พร้อมจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากดำเนินการระบบดังกล่าวเสร็จสิ้น จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากการพลัดตกหกล้ม ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลการรักษาและการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และการจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับ “นวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และระบบสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของระบบสถิติทางการทะเบียนปี 2565 พบว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 มากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด และเป็นช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยมีโรคกระดูกพรุนเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้กระดูกหักมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคประมาณ 5 เท่า และคาดการณ์ว่าอุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.02% ต่อปี ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก ในปี 2549 มี 23,426 ราย และในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 34,246 ราย คาดประมาณว่าในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 56,443 ราย สาเหตุสำคัญของกระดูกสะโพกเกิดจากการ “พลัด ตก หกล้ม” นอกจากนี้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข รายงานในปี 2566 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การพลัด ตก หกล้มทำให้เสียชีวิตสูงถึง 10.20 คนต่อประชากรผู้สูงอายุแสนคน

“สสส. ได้ดำเนินโครงการต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง และป้องกันกระดูกหัก และหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย ด้วยการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข ดำเนินงานเฝ้าระวัง และป้องกันที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ร่วมหาแนวทางพัฒนาต้นแบบระบบเทคโนโลยี ที่สามารถใช้ในการดูแล และเฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมถึงผลักดันนโยบายป้องกันกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิด 1.พัฒนานวัตกรรมการจัดการ 2.สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม กระดูกหัก และการหักซ้ำ 3.ยกระดับการเข้าถึงสิทธิการรักษา เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต และสุขภาวะในชีวิตประจำวันที่ดีต่อไปในอนาคต” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม
การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ หากเกิดการพลัดตกหกล้มอาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกหัก ตลอดจนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยในแต่ละปีการผลัดตกหกล้มได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 684,000 ราย จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย พบว่า 1 ใน 3 “กลุ่มผู้สูงอายุ” คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ประกอบด้วย ปัจจัยทางด้านปัจเจกบุคคล อาทิ อายุ โรคกระดูกพรุน โรคร่วม เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ลักษณะของที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม เช่น บันไดชัน ไม่มีราวจับบันได พื้นลื่น เป็นต้น ดังนั้น การลดอัตราการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และรูปแบบบริการที่สามารถค้นหาผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้ม พร้อมทั้งประเมินปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขหรือจัดการได้ในผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง