สคบ. สานความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ดีเดย์ รณรงค์ขจัด “บุหรี่ไฟฟ้า” สร้างสังคมสุขภาพ ห่วงอัตราสูบเพิ่มจาก 7.8 หมื่นคน เป็น 7. แสนคน ใน 1 ปี เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม 5.3 เท่า เผยผู้ปกครอง ร้องจัดการลักลอบขายใกล้สถานศึกษา สสส. เปิดแผนควบคุมปี 68 เน้นสร้างภูมิคุ้มกันเด็ก-เยาวชน บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า-ห้ามขาย-ห้ามสูบ หนุนเสริมระบบบำบัดนิโคติน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่อาคาร CP ALL Academy สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดแถลงข่าว “ปลอดภัยจากควันพิษ : ร่วมรณรงค์ ขจัดบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมสุขภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ง่าย โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน มีการออกแบบเป็นลักษณะรูปการ์ตูน มีขนาดเล็ก พกพาง่าย ล่อตาล่อใจ ซึ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะกลิ่นและรสชาติบุหรี่ไฟฟ้ามีของเหลวปรุงแต่งรสประมาณ 20,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีระเหยง่าย แต่อาจไม่ปลอดภัยเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นควันที่สูบหรือสูดเข้าไป ซึ่งขณะนี้มีการขายแบบไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย มีประชาชนรวมถึงผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนจำนวนมากร้องเรียนให้จัดการบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการลักลอบขายใกล้สถานศึกษา
“การลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ 24/2567 เรื่อง ห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขายหรือให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หากฝ่าฝืนเป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ พบเห็นการลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ หรือ www.ocpb.go.th หรือศูนย์ดำรงธรรม ในทุกจังหวัด” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า “บุหรี่” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพสูง เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 26.1% เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และมะเร็งปอด 25 เท่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบัน “บุหรี่ไฟฟ้า” กำลังเป็นกระแสนิยมในเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 78,742 คน ในปี 2564 เป็น 709,677 คน ในปี 2565 เนื่องจากธุรกิจยาสูบปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นเด็ก เยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น และพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติและเรื่องธรรมดา ทำให้ผลสำรวจบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทย (GYTS) ปี 2565 พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. หนุนเสริมและสานพลังทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการป้องกันและลดการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยแผนควบคุมยาสูบ ปี 2558 มีจุดเน้นที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2565 – 2570) คือ 1.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบที่หลากหลาย สื่อสารเชิงรุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบ 2.หนุนเสริมการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของทุกหน่วยงานให้เข้มแข็งขึ้นทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า-ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และห้ามสูบในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด 3.พัฒนาศักยภาพและขยายเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ 4.สนับสนุนระบบหรือกลไกการสร้างเสริมสุขภาพ การให้บริการบำบัดการเสพติดนิโคตินในหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ การควบคุมยาสูบให้สำเร็จต้องขยายแนวร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการ ศจย. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ในอดีตมีคดีการฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ ที่มีการโกหกสาธารณะในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอำนาจการเสพติด การควบคุมระดับสารของนิโคตินได้ ผลกระทบต่อสุขภาพ การทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชน การกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของบุหรี่ เช่น คำว่า LIGHT หรือ MILD ทำให้บริษัทบุหรี่แพ้คดี และต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับปัจจุบันที่มีฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดกับเด็กและเยาวชน นำไปสู่การจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยเริ่มได้รับการคุกคามจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย แต่กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่แตกต่างกับบริษัทบุหรี่เดิม ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมาไม่นาน เมื่อเทียบกับบุหรี่มวนที่กว่าจะรู้ว่าอันตรายก็ใช้เวลานานแล้วจะมั่นใจได้ว่าอย่างไรว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับบุหรี่ไฟฟ้าดีที่สุด