คัดลอก URL แล้ว

เริ่มแล้ว! งาน Thailand Electronics Circuit Asia 2024 ครั้งแรกในประเทศไทย ย้ำศักยภาพไทยฐานผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน มุ่งสู่การเป็นเจ้าภาพประชุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ปี 2027

งานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย 2024 หรือ Thailand Electronics Circuit Asia (THECA) เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2567 ณ EH101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง พร้อมประกาศความสำเร็จของประเทศไทย 3 ด้าน ได้แก่ ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 1 ของอาเซียน ศูนย์กลางการประชุมไมซ์ แห่งอาเซียน และเจ้าภาพจัดงานประชุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ครั้งที่ 17 ปี 2027

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Electronics Circuit Asia หรือ THECA 2024 ในครั้งนี้ เป็นการประกาศความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคม 2566 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB สูงถึงกว่า 140,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564 – 2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง

“การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องรีบเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานเหล่านี้สร้างเสร็จและจะเริ่มผลิตในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต 2 เรื่องที่สำคัญ คือ บุคลากร และ Supply Chain  ในเรื่องบุคลากร บีโอไอได้ร่วมมือกับกระทรวง อว. และภาคเอกชน ช่วยจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมให้กับผู้ผลิต PCB ผ่านกิจกรรม Job Matching และโปรแกรม Upskill และ Reskill ร่วมกับบริษัทต่างๆ  สำหรับเรื่อง Supply Chain บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต PBC, PCBA, วัตถุดิบและชิ้นส่วน และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ PCB นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับผู้ผลิต PCB เช่น งาน Sourcing Day, งาน SUBCON Thailand และงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่อย่าง THECA ในครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย และผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก” นายนฤตม์ กล่าว

ดร. ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ) กล่าวสนับสนุนว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้สามารถเชื่อมโยงการค้าและการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เช่น สนามบินนานาชาติ ท่าเรือน้ำลึก และระบบคมนาคมขนส่งที่ครบครัน รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัล ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดงานไมซ์และการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน”

นายพิธาน องค์โฆษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กล่าวถึงการจัดงานเทกก้าครั้งนี้ว่า “แม้จะจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ได้รับกระแสตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายด้าน นับตั้งแต่การตอบรับจากกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำจากต่างประเทศถึง 200 รายจากทุกทวีปทั่วโลก การลงทะเบียนล่วงหน้าจากผู้เข้าชมงานที่เป็นนักธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสูงถึง 3,000 ราย รวมทั้งสภาวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลก ได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ครั้งที่ 17 หรือ Electronic Circuits World Convention ในปี 2027 ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของอาเซียนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างชัดเจน”

การจัดงาน THECA ในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการซื้อขายได้สูงถึง 20,000 ล้านบาท ผ่านกิจกรรมหลัก เช่น การจับคู่เจรจาธุรกิจ การจัดกิจกรรม Networking และการจัดประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติ รวมถึงการสร้างโอกาสการจ้างงานกว่า 80,000 ตำแหน่งในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการเพิ่มอย่างมากในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายแคนิส ชุง (Mr. Canice Chung) นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง กล่าวเสริมว่า ได้ร่วมกับสมาคมแผงวงจรพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติ ในหลายหัวข้อสำคัญได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์ การผสมผสานอุตสาหกรรมยานยนต์กับยานพาหนะไฟฟ้า การใช้ AI ในการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความร่วมมือ และการพัฒนาในอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก BMW, Mercedes-Benz และ ดร. นากาฮาระ และยังมีห้วข้อที่น่าสนใจอื่นๆ อีกว่า 30 หัวข้อ ตลอดระยะเวลา 3 วัน

การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลสมาคมไทยไอโอทีบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลก โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 4 ของโลกได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นายพิธาน องค์โฆษิต กล่าวสรุป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง