เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เดินหน้า “ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ สร้างสุข มีเงินออม” เร่งนโยบาย บำบัดฟื้นฟู “ชุมชนล้อมรักษ์”-ใช้ชุมชนเป็นฐาน-กองทุนจัดหาอาชีพ ชูโมเดล สสส. “ยุทธการหักหอกเป็นดอกไม้” พลิกใจให้เลิกยา เปลี่ยนผู้ป่วยเป็นพลังสู่สังคม
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเกาะมะไฟ ต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่รับฟังสรุปการดำเนินงาน “ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ เพิ่มสุข มีเงินออม” แก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยง ลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ข้อมูลปี 2566 ไทยมีจำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติดมากกว่า 63,000 คน สะท้อนถึงปัญหาที่เพิ่มขึ้น และรายงานจาก UN News และ The Diamond Rehab Thailand ระบุว่าการใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า และยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต มีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นประมาณ 57,000 คน มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV และโรคตับอักเสบซี จากสถานการณ์ข้างต้น จำเป็นต้องมีนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ 1. เปลี่ยนจากลงโทษมาเน้นการบำบัด ฟื้นฟู รักษาผู้ใช้ยาเสพติด โดยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนสร้างชุมชนเข้มแข็งป้องกันยาเสพติด “ชุมชนล้อมรักษ์” (CBTx) 2. ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมชนเป็นฐาน และ 3. จัดหาอาชีพ โดยมีกองทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพ สำหรับผู้บำบัด และผู้ที่พ้นโทษแล้ว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญของไทยนอกจากยาเสพติดแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก ผลวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมปี 2564 พบว่า แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 165,450.5 ล้านบาท เฉลี่ย 2,500 บาทต่อคน และต้นทุนทางอ้อม 159,358.8 ล้านบาท จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้สถานการณ์พฤติกรรม และผลกระทบพนันปี 2566 พบว่า 63% หรือคนไทย 35 ล้านคน เล่นพนัน ทำให้ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถึง 46% และมีผู้ติดหนี้พนันถึง 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 5 แสนคน คิดเป็นมูลค่าหนี้สินกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน
“ขอเป็นกำลังใจให้ภาคีเครือข่าย ชุมชนท้องถิ่น แกนนำ อสม. ที่ร่วมขับเคลื่อนลดปัจจัยเสี่ยงใน จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง การสร้างกลไก “ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ สร้างสุข มีเงินออม” จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ชุมชน สังคม ขอชื่นชมในกิจกรรมของ สสส. ที่ออกมารณรงค์ โดยฉพาะเด็ก และเยาวชนที่เป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต สสส. ใช้สื่อสารในชุมชนได้อย่างตรงจุด ทำให้เห็น โทษ และประโยชน์จาการการลดเสี่ยง ลดเสพ นอกจากส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศดีต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ในการประชุมกรรมการกองทุน สสส. ได้มีมติเห็นชอบให้ สสส. และภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์สิ่งเสพติด และผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการทำงานของในพื้นที่ของ สสส. และภาคีเครือข่าย ใช้ชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับกลไก พชอ. และการขยายงานชุมชนล้อมรักษ์ โดยขับเคลื่อนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด และเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 มีพื้นที่ต้นแบบ 25 พื้นที่ 5 ภูมิภาค มีแกนนำขับเคลื่อนระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค จำนวน 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน เกิดพื้นที่ต้นแบบที่ลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ
“สสส. สามารถขยายผลสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดสู่ชุมชนอื่น ๆ อาทิ ชุมชนคนสู้เหล้า ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มีสมาชิกกว่า 7,000 คนทั่วประเทศ เกิด“คนหัวใจเพชร” ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา นำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต โดยปี 2565 มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรพี่เลี้ยงการเงินรู้ทันการพนันในพื้นที่ 9 จังหวัด สามารถปลดหนี้ ลดพนัน เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม ผ่านการสื่อสารสร้างความตระหนักในชุมชน ชักชวนให้ครอบครัวในท้องที่ต่าง ๆ ลด ละ เลิกพนัน ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นางปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มจิตเวช และยาเสพติด รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติดเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย ลักขโมยในชุมชน จึงขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนล้อมรักษ์ ต่อยอดจากการทำงานชุมชนคนสู้เหล้า ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเป็นกระบวนการ จนจำนวนผู้ป่วยลดลง เกิดเป็น “ยุทธการหักหอกเป็นดอกไม้” ดูแลผู้ป่วยวิกฤตจิตเวชที่เกิดจากปัญหาแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ชุมชนเกาะมะไฟ ต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ตัวอย่างของชุมชนคนสู้เหล้า ที่ร่วมแก้วิกฤติจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง โดยใช้ชุมชนเป็นฐานจัดกระบวนการ “พลิกใจให้เลิกยา” มีระบบดูแล ติดตามจนผู้ป่วยจิตเวชกลับคืนสู่สังคมได้สำเร็จ เกิดคนต้นแบบพลิกใจเลิกยาจำนวน 4 คน ช่วยคืนความสุข คืนคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัว และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม