คัดลอก URL แล้ว

ธนพล จัดเสวนา “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ต้อนรับ “Pride Month”

เช็คความคืบหน้า “สมรสเท่าเทียม” ร่วมนับถอยหลังวันที่จะได้ใช้กฎหมายจริงเนื่องในเดือนแห่งความภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดย นายกองตรี ดร.ธนพล คงเจี้ยง นายกสมาคมนิติศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เครือข่ายนักศึกษาและประชาชน จัดเสวนาเรื่อง กฎหมายสมรสเท่าเทียมกับบทบาททนายความ วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหง มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพ สำหรับการสัมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ จำนวน 7 ท่าน ได้แก่ ศ.พรชัย สุนทรพันธ์ุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง , นายอนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา , ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ เวชศาสตร์วัยรุ่นและคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , นางสาววรมน รามางกูร ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา , คุณณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน , คุณ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนาย ภักดี ปินรุม บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฏร โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการสัมมนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือที่เรียกกันว่า “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ.” ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 60 ในมาตรา 4 ซึ่งกล่าวถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่า คนไทยทุกคน ทุกกลุ่มความหลากหลาย จะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน ตลอดจนกล่าวถึง การรับรองสิทธิสมรสโดยไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิง ซึ่งจะส่งผลให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าของกฎหมายสมรมเท่าเทียม และหากผ่านมติของชั้นวุฒิสภาครบทั้งสามวาระจนกลายเป็นกฎหมายแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

สำหรับการพิจารณาเบื้องต้นจะมีการบรรจุระเบียบวาระในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ในช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญรัฐสภา ซึ่งในประเด็นที่มีการแปรญัตติ ก็ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ด้วย เรียกได้ว่า การที่สภาฯ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ครั้งนี้เป็นเรื่องจุดเริ่มต้นที่น่ายินดี ที่จะสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับ “ประชาชนทุกเพศ” และจากนี้ต้องรอติดตามต่อว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนจบการเสวนา มีการกล่าวทิ้งท้ายจากแขกรับเชิญแต่ละท่าน เพื่อให้กำลังใจนักศึกษา และนักกฎหมาย ให้มีความตั้งใจในการศึกษาเรียนรู้กฎหมายใหม่ๆ ตลอดจนแสดงความยินดีกับ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกท่าน เนื่องจากเรากำลังจะได้กฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยให้เสรีภาพความเท่าเทียมทางเพศในอนาคตที่จะถึงนี้ และถือโอกาสนี้เป็นการขอบคุณบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่ปรากฏตัวหรือไม่ปรากฏตัว บุคลากรนักเคลื่อนไหวที่ช่วยกันผลักดัน กฎหมายที่รับรองความเป็นมนุษย์ รับรองความเท่าเทียมกันทางเพศ เพราะเราทุกคนต้องการเป็นตัวของเราเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร แต่ทุกคนก็อยากจะเป็นตัวของตัวเอง คาดหวังให้พวกเราทุกคนเป็นตัวของตัวเองในสังคมที่มีความเท่าเทียม ในสังคมที่ทุกคนมีคุณค่า ในสังคมที่ไม่มีใครอยู่สูงกว่าใคร ในสังคมที่ทุกคนเท่ากัน

ในช่วงสุดท้ายหลังการเสวนา นายอนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงเรื่องการปรับทัศนคติของเหล่านักกฎหมายและทนายความทุกท่าน เพื่อร้องขอให้ทุกท่านมีความเข้าใจในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ขอให้นักกฎหมายและทนายความ ปรับความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ปรับวิธีคิดและทัศนคติ ให้ตระหนักถึงความเสมอภาค และความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติกับมนุษย์หรือบุคคลต่างเพศ หรือไม่ว่าจะเพศเดียวกัน ต้องเรียนรู้และปฏิบัติด้วยความละเอียดอ่อนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว และความเป็นกลุ่มประชากรใหม่ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในการบริการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และได้กล่าวปิดงาน กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมฟังการสัมนาในครั้งนี้.. #สมรสเท่าเทียม #Pride Month


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง