ชมวิถีชุมชนพหุวัฒนธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชิมอาหารพื้นถิ่น วธ.ยกระดับสู่นานาชาติ สร้างงาน-รายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 7 มีนาคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลลานตา ลันตา ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกระบี่ วัฒนธรรมจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการจัดงานเทศกาล ชาวอำเภอเกาะลันตาและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ เวทีกลาง ชุมชนเมืองเก่า เทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยนโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเทศกาลประเพณี(เฟสติวัล)และด้านท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และเป้าหมายวธ.ในการขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก ดังนั้น วธ.จึงมีนโยบายยกระดับเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพและความโดดเด่นของจังหวัดเพื่อส่งเสริมให้เป็นเทศกาลประเพณีระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ซึ่งเทศกาลลานตา ลันตา เป็น 1 ใน 6 เทศกาลประเพณีที่ได้รับคัดเลือกจากวธ.ให้เป็นเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของจังหวัดกระบี่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งงานเทศกาลนี้มีความโดดเด่นและอัตลักษณ์นำเสนอวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นและของดีมากมายที่เป็นวิถีแห่งความภาคภูมิใจของชาวอำเภอเกาะลันตา เนื่องจากเกาะลันตาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมประกอบด้วยชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธและชาวเลหรือชาวไทยใหม่ อันเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้มาเยือน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ร่วมมือกับจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อำเภอเกาะลันตา หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรม จัดงานเทศกาลลานตา ลันตา ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ วัฒนธรรมอันรุ่งเรือง" ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2567 ณ ชุมชนเมืองเก่า เทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งปีนี้ครบรอบอำเภอลันตา เป็นปีที่ 123 ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ ขบวนพาเหรดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและการแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำริ้วขบวนชุด “ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ วัฒนธรรมอันรุ่งเรือง” มีผู้เข้าร่วมขบวน 620 คน ขบวนเรือเปิดเลเขเรือ 123 ลำ การแสดงชุดพิเศษ “ธรรมชาติขับขาน สืบสานวัฒนธรรม สวรรค์อันดามัน” การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของนักเรียน ลานวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงดนตรีลานราตรี จุดเช็คอินเทศกาลลานตาลันตา ครั้งที่ 19 นิทรรศการพหุวัฒนธรรมเกาะลันตา เสวนาหัวข้อ“เหลียวหลังแลหน้า มองลันตา สามมิติ”และ “ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ วัฒนธรรมอันรุ่งเรือง” การแข่งขันการละเล่นพื้นบ้าน อาทิ ขูดมะพร้าว ทิ่มเหม้า ปีนเสาน้ำมัน ร้านค้าชุมชน ถนนคนเดินศรีรายา ประกวดประติมากรรมจากวัสดุเหลือใช้ ประกวดเมนูพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นของคนลันตาประกอบด้วยแกงแพะพื้นบ้านลันตา ข้าวยำ ย่ำหอยติบ การสาธิตทำอาหารพื้นถิ่นโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ ชาวเลสาธิตเมนูข้าวมันปลากระบอกแดดเดียว ชาวไทยจีนสาธิตเมนูปลาเจี้ยนเต้าเจี้ยวและชาวไทยมุสลิมสาธิตเมนูขนมต้มใบมะพร้าว เป็นต้น
“งานเทศกาลลานตา ลันตา เป็นหนึ่งในงานเทศกาลประเพณีที่วธ.มุ่งผลักดันเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ทำให้งานเทศกาลนี้เป็น Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน ช่วยสร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวบ้านและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติตามนโยบายรัฐบาล” นางยุพา กล่าว
ทั้งนี้ เกาะลันตา เดิมเป็นแขวงขึ้นกับอำเภอคลองพน เมืองปกาสัย (กระบี่) ต่อมา พ.ศ. 2444 ตรงกับสมัยของเจ้าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ต และพระยาอุตรกิจพิจารณ์ เป็นข้าหลวงเมืองกระบี่ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อ “อำเภอเกาะลันตา” ส่วนคำว่า “ลันตา” แผลงมาจากคำว่า “ลันตัส” ซึ่งเป็นภาษาชวา มีความหมายว่า “ผลาย่างปลา” (ที่ย่างปลา สร้างด้วยไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูงขึ้น คล้ายโต๊ะก่อไฟข้างล่างเอาปลาเรียงไว้ข้างบน) อาจเป็นเพราะว่าทะเลบริเวณนี้อุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ชาวชวาที่เดินทางเข้ามา เมื่อจับปลาได้แล้วก็นำมาย่างที่บริเวณเกาะลันตาใหญ่ จึงเรียกเกาะนี้ว่า “ลันตัส”
อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พื้นที่เกาะที่มีความงดงามทางทะเลระดับโลก เป็นอำเภอที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน คนกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะลันตา คือ ชาวเลลูโม๊ะ ลาโว้ย (อูรักลาโว้ย) เป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาถึงและบุกเบิกเกาะลันตาราว 500 ปีที่ผ่านมา จากนั้นราว 200 ปี กลุ่มชาวมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัย ต่อมาไม่นานมีชาวจีนที่เดินเรือเข้ามาค้าขายกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และมักแวะพักเรือที่หน้าอ่าวฝั่งตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะนี้และกลุ่มสุดท้ายคือ คนไทยเชื้อสายพุทธ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการมาประจำตำแหน่งบนเกาะลันตา ตั้งแต่ พ.ศ.2444 จึงเป็นที่มาของสังคม“พหุวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันของคน 3 ศาสนา 4 วัฒนธรรมทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) หรือ ชาวอูรักลาโว้ย ก่อให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวชุมชนเกาะลันตา อาทิ ชุมชนบ้านร่าหมาดชาวไทยมุสลิม ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็งชาวไทยมุสลิม ชุมชนศรีรายาชาวไทยจีน ชุมชนโต๊ะบาหลิวชาวเล ชุมชนสังกาอู้ชาวเล อยู่ร่วมกันอย่างสันติให้การยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายทั้งเรื่องของพิธีกรรม ภาษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณีที่ล้วนแล้วแต่เป็นอัตลักษณ์อย่างชัดเจน