ชุมชนยลวีถียะลา พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน นราธิวาส สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 ด้าน ซึ่งด้านท่องเที่ยวมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใน 77 จังหวัด โดยมอบหมายให้วธ.บูรณาการข้อมูล การทำงานและความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดในการเดินทางของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.)ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว“เที่ยวใต้สุดใจ” ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ระหว่างวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)นำเสนอกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวในมิติศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในจังหวัดปัตตานี อาทิ บ้านขุนพิทักษ์รายา บ้านเลขที่ 5 กือดาจีนอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) หอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานีและงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน“กตัญญูคู่ฟ้ามหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประจำปี 2567” วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ สักการะสถูปเก็บพระอัฐิแห่งองค์หลวงปู่ทวด หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ในวิหารและเยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ บูธผ้าจวนตานี ผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียนทรายขาว ผลิตภัณฑ์แปรรูปส้มแขก บูธข้าวหลามปัตตานี บูธไก่ฆอและบูธผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดยะลา อาทิ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลา อุทยานการเรียนรู้ยะลา ( TK Park) ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ เช่น ห้อง Sharing Space ห้อง Mini Theater ห้อง Fab Lab ห้อง Mind Room ลานสานฝัน ห้องสมุดเด็กเล็กและนิทรรศการ เช่น หอชมเมือง สนามกีฬาและการป้องกันอุทกภัย นิทรรศปากายัน เป็นต้น รวมทั้งเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โครงการไม้ดอกเมืองหนาวเบตงโดยนายกรัฐมนตรีและครม.เยี่ยมชมบูธเที่ยวชุมชนยลวิถีของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ซึ่งนำเสนอสาธิตการทำเมนู ได้แก่ กุยช่าย ไก่สับเบตงเคาหยก ผักน้ำ หมี่เบตง ปลานิลสายน้ำไหลและวุ้นดำและการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของ 6 ชุมชน ประกอบด้วยจักสานตะกร้าไม้ไผ่จากชุมชนบ่อน้ำร้อน ผ้ามัดย้อมและกระเป๋าผ้าปาเต๊ะจากโรงเรียนไทยรัฐ 49 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเห็ดหลินจือจากชุมชนบ้านปิยะมิตร กุยช่ายจากร้านเจ้ปูเบตง การแต่งกายของชุมชนเผ่าลาหู่และกาแฟโบราณจากตำบลอัยเยอร์เวง
นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในส่วนของจังหวัดนราธิวาส อาทิ พุทธอุทยานเขากงหรือวัดเขากง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและครม.ได้สักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ภายในวัดเขากง และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โดยเยี่ยมชมห้องวิถีชาวมุสลิมถิ่นใต้และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดนราธิวาส เอกสารโบราณ การสาธิตการคัดลอกคัมภีร์อัลกุรอานด้วยมือ และวิธีการอนุรักษ์คัมภีร์อัลกุรอานและห้องจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ
“คาดว่าการเดินทางมาของนายกรัฐมนตรีและครม.ในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมาก วธ.จะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนสมานมิตรวิทยา เมื่อพุทธศักราช 2556 กรมศิลปากรได้รับการประสานงานและเข้าตรวจเยี่ยมโรงเรียนสมานมิตรวิทยา พบว่าโรงเรียนดังกล่าวได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และเก็บรวบรวมและดูแลรักษาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณไว้ประมาณ 70 เล่ม ซึ่งคัมภีร์ดังกล่าวมีแหล่งที่มาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี สเปน และเยเมน เป็นต้น ซึ่งคัมภีร์ที่ทางโรงเรียนเก็บรักษาไว้ได้ดูแลเป็นอย่างดี มีการประเมินอายุ เบื้องต้นจากข้อความและวันเดือนปีที่ปรากฏบนเอกสาร โดยสรุปได้ว่าคัมภีร์เหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 100-860 ปีมาแล้ว และด้วยความมุ่งมั่นของผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามต้นแบบในการธำรงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณ (คัมภีร์อัลกุรอาน) จึงเสนอแนวคิดที่จะจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอานขึ้นพร้อมการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ทางกรมศิลปากรเริ่มออกแบบเพื่อก่อสร้างอาคารในปีงบประมาณ 2557 และดำเนินการก่อสร้างในปี 2559 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งงานก่อสร้างในส่วนของอาคารสถานที่ได้แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกำหนดจัดแสดงนิทรรศการประกอบด้วยห้องที่ 1 ห้องบรรยายเกริ่นนำ ห้องที่ 2 วิถีมุสลิม แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมตามแนวทางที่ศาสนาอิสลามบัญญัติไว้ เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และห้องที่ 3 คัมภีร์อัลกุรอานและเอกสารโบราณ จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเส้นทางการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยมีเนื้อหา 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษและมลายูปาตานี