คัดลอก URL แล้ว

นายกรัฐมนตรี เปิดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปี 2567 เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา

ชวนเที่ยวงาน 9-18 ก.พ.นี้ ชมขบวนแห่ประวัติศาสตร์กว่า 1 พันคน การแสดง แสง สี เสียงและสื่อผสมสมัยใหม่ตระการตา นิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชาวลพบุรีพร้อมใจแต่งชุดไทย “นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง” หนุน Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้สู่ประเทศ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคู่สมรส นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคู่สมรส นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี นางสุวจี ศิริปัญโญ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลพบุรี วัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและวัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออก ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการจัดงานฯและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน ณ เวทีกลาง พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)มีนโยบายเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์และสืบสาน รักษา ต่อยอดด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 ด้าน ซึ่งรวมถึงด้านท่องเที่ยวและเทศกาลประเพณี (เฟสติวัล) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ร่วมกับจังหวัดลพบุรี หน่วยงานรัฐ เอกชนและทุกภาคส่วน จัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 9 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์และโบราณสถานใกล้เคียง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาผู้ทรงวางรากฐานและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เมืองลพบุรีและเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ช่วงพิธีเปิดงานมีขบวนแห่ประวัติศาสตร์ซึ่งแสดงถึงขนบธรรมเนียมในราชสำนักสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมขบวนกว่า 1,000 คน และกิจกรรมซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญในปีนี้ จะเป็นการแสดงประวัติศาสตร์จินตนาการ ณ สถานที่จริง ซึ่งมีความสวยงามแปลกตากว่าทุกๆปีที่ผ่านมาโดยถ่ายทอดการแสดงพิเศษที่ใช้เทคนิค นวัตกรรม แสง สี เสียงและสื่อผสมสมัยใหม่ทั้ง 3D Projection Mapping & Lighting เพื่อให้ได้สัมผัสความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นสมัยอยุธยาในชุดการแสดง“King Narai มหาราชแห่งแผ่นดิน” และมีกิจกรรมมากมาย เช่น นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเสวนาทางวิชาการ Soft Power สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ การรำบวงสรวง กิจกรรมบ้านไทย วิถีไทย กิจกรรมที่บ้านหลวงรับราชทูตหรือบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ กิจกรรมชุมนุมเพลงลพบุรี การประชันกลอนสดที่โบราณสถานวัดปืน กิจกรรมแต่งไทย ไหว้พระเสริมบารมี ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กิจกรรม “แต่งไทย จดทะเบียนสมรส” การจำหน่ายและสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ลานวัฒนธรรม ตลาดชาววัง ตลาดชาติพันธ์ุ ตลาดย้อนยุค การแสดงละครลิง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวทีกลาง ตลอดการจัดงานจะมีการประดับไฟและตกแต่งสวนดอกไม้ตามโบราณสถานต่างๆอย่างสวยงาม อาทิ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สวนนารายณ์นฤมิต เขตพระราชฐานชั้นใน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สวนราชานุสรณ์ โบราณสถานปรางค์แขก พระบรมราชานุสาวรีย์พระนารายณ์มหาราช (วงเวียนเทพสตรี) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมและแต่งชุดไทย “นุ่งโจง ห่มสไบ” มาถ่ายภาพเป็น
ที่ระลึก

“งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นงานเทศกาลประเพณีไทยที่เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ ปลุกจิตสำนึกรักชาติและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมไทยสู่คนไทยและชาวต่างชาติ ช่วงเวลาจัดงานชาวลพบุรีพร้อมใจกันแต่งกายชุดไทย “นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง” เป็น Soft Power ด้านการแต่งกายชุดไทยและสนับสนุน Soft Power ด้านอื่นๆ เช่น อาหาร ดนตรี ศิลปะ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปิน เครือข่ายวัฒนธรรมและผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรีและประเทศ” นายเสริมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2199 – 2231 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวัง“พระนารายณ์ราชนิเวศน์”ขึ้น ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2209 โดยช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาลีทำการออกแบบและก่อสร้างบนพื้นที่ 41 ไร่ สำหรับเป็นที่ประทับพักพระอิริยาบถ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการและต้อนรับแขกเมือง พระองค์ทรงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งจันทรพิศาลสำหรับออกว่าราชการ ประชุมขุนนางและข้าราชสำนัก พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท สำหรับราชทูตแขกเมือง และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์สำหรับประทับส่วนพระองค์ ลพบุรีจึงมีฐานะเป็นราชธานีที่ 2 รองจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2231 เมืองลพบุรีจึงถูกลดฐานะมา จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ และสร้างหมู่พระที่นั่งขึ้นใหม่ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎและหมู่ตึกพระประเทียบ พระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง