คัดลอก URL แล้ว

ก.พ.ค. แถลงผลงาน 9 เดือน เป็นไปตามเป้าหมาย สางเรื่องค้างเก่า

เรื่องอุทธรณ์ปี 2558 เรื่องร้องทุกข์ ปี 2559, 2560 และ 2562 เกลี้ยง คืนความเป็นธรรมให้ข้าราชการ 29 ราย คดีสำคัญ
ฟุตซอลลดโทษให้อดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณจากไล่ออกเหลือปลดออก

วันที่ 19 ม.ค. 67 นายวรวิทย์ สุขบุญ ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้แถลงผลงาน ในโอกาสทำงานครบ 9 เดือน มีรายละเอียดดังนี้
1 เรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ค้างดำเนินการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน
1,056 เรื่อง ดำเนินการเเล้วเสร็จ จำนวน 307 เรื่อง คงเหลือ 749 เรื่อง
2. เรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ ที่เข้ามาระหว่างปี 2566 จำนวน 274 เรื่องดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 40 เรื่อง คงเหลือ 234 เรื่อง รวมมีเรื่องที่ดำเนินการทั้งหมด 1,330 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จรวม 347 เรื่อง และค้างดำเนินการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 983 เรื่อง

นายวรวิทย์ สุขบุญ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติผลการทำงานดังกล่าว ก.พ.ค. (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม) สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้แถลงไว้เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ที่ว่าจะเคลียร์งานค้างเก่าให้แล้วเสร็จภายในสามปี อย่างไรก็ตามในระหว่างการทำงานมีเรื่องใหม่เข้ามาระหว่างปี หากการทำงานยังได้สถิติเช่นเดียวกับ 9 เดือนที่ผ่านมา มั่นใจว่าในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของการทำงานของ ก.พ.ค. ชุดนี้ จะไม่มี
เรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์คงค้าง แต่จะเป็นการทำงานในเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่เป็นปัจจุบัน สำหรับในส่วนคดีสำคัญนั้น นายวรวิทย์ สุขบุญ ได้แถลงว่า ก.พ.ค. ได้พิจารณาคืนความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการที่อุทธรณ์และร้องทุกข์มายังคณะกรรมการ ก.พ.ค. จำนวน 29 ราย โดยคดีสำคัญ เช่น
(1) เรื่องที่ข้าราชการระดับสูงของสำนักงบประมาณอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในเรื่องร่วมมือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุจริตเชิงนโยบาย ในการมีคำขอจัดตั้งงบประมาณเพื่อสร้างสนามฟุตซอล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดย ก.พ.ค. พิจารณาแล้วมีมติว่า ขณะเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนการงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สังกัดสำนักงบประมาณ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1 ผู้อุทธรณ์จึงไม่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ให้ความเห็นกรณีเพิ่มเติมงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ผู้อุทธรณ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นการพิจารณาในรูปของคณะกรรมการ ผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียวไม่อาจวิเคราะห์หรือพิจารณางบประมาณเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะได้

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ในขณะนั้นเป็นเพียงผู้อำนวยการส่วนและเป็น ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 หากมีส่วนร่วมก็ไม่ใช่ตัวการสำคัญที่จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับงบประมาณเพิ่มเติม ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไปยังไม่เหมาะสมแก่กรณีความผิด อุทธรณ์ฟังขึ้นบางส่วนวินิจฉัยให้ลดโทษอุทธรณ์จากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ นอกจากนี้ นายวรวิทย์ สุขบุญ ได้แถลงเพิ่มเติมในส่วนคดีสำคัญอีกว่า (2) กรณีข้าราชการ กรมการขนส่งทางบกรายหนึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการขนส่ง รายหนึ่ง จำนวน 20,000 บาท ก.พ.ค. พิจารณาจากสำนวนสอบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์ได้เรียกรับเงินจำนวน 20,000 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล แต่โดยที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ได้วินิจฉัยว่าองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต่อจากกระบวนการที่คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการเสร็จแล้วไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่และเปลี่ยนฐานความผิดที่คณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลเพื่อกำหนดโทษใหม่ได้ ดังนั้นก.พ.ค.จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลง ฐานความผิดที่คณะกรรมการป.ป.ช.วินิจฉัยได้ คงพิจารณาได้เพียง ดุลพินิจในระดับโทษเท่านั้น ก.พ.ค. จึงให้ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ และ (3) กรณีข้าราชการรายหนึ่ง สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร้องทุกข์กรณีไม่ได้รับความ เป็นธรรมในการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษ ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่ากระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้ารับการประเมินเป็นไปตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่นาย ส. ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่อาจเข้ารับการคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อแต่งตั้งในตำแหน่งนักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษได้ กล่าวคือไม่เคยดำรงตำแหน่งในสายงานที่จะแต่งตั้งหรือได้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงาน ที่จะแต่งตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ดังนั้น ประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับ
ชำนาญการพิเศษ ดังกล่าว เฉพาะในส่วนตำแหน่งนักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษ และคำสั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เฉพาะในส่วนของนาย ส. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องทุกข์ฟังขึ้น วินิจฉัยให้ยกเลิกประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีคดีสำคัญที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดในคดีดังกล่าว ได้ที่ https://mspc.ocsc.go.th


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง