วันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทยประจำปี 2565 “มหานครสดใส ชาร์จไฟ กับ กฟน.” ระหว่าง MEA กับ กปน. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 อาคารสุทธิอุทกากร กปน. สำนักงานใหญ่
ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า กปน. เล็งเห็นถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากภาคขนส่ง และฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มาจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร พิจารณานำร่องการเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในราชการตามมติคณะรัฐมนตรี
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับ MEA ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ดูและระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยจะนำร่องติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ 4 จุด สำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง 2 จุด สำนักงานประปาสาขาภาษีเจริญ 2 จุด สำนักงานประปาสาขามีนบุรี 2 จุด และสำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ 2 จุด โดยหากการติดตั้งเสร็จสิ้น จะทำให้สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป พนักงาน และผู้ปฏิบัติงานของ กปน. เพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร รวมถึงการเตรียมพร้อมรองรับการใช้งาน EV ในพื้นที่ของ MEA ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายในปี 2580 จำนวนมากกว่า 6.6 ล้านคัน การบูรณาการความร่วมมือกับ กปน. ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในพื้นที่สำนักงานของ กปน. และถือเป็นการส่งเสริม การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการติดตั้งแล้วเสร็จ MEA จะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 168 หัวชาร์จ และมีแผนที่จะขยายจำนวนหัวชาร์จไปจนถึงปี 2570 รวมทั้งสิ้น 600 หัวชาร์จ เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ในด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ EV นั้น MEA ยังได้นำระบบบริหารจัดการอัดประจุไฟฟ้า หรือ “Smart Charging” ควบคู่กับกับเทคโนโลยีบริหารจัดการใช้งานหม้อแปลงจำหน่าย (TLM) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Smart Grid มาใช้ลดปัญหาการเกิด Overload ช่วยให้บริหารจัดการระบบจำหน่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาด้าน IT เช่น การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการใช้งาน Charging Station ครอบคลุมทั้งฟังก์ชันการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการจ่ายค่าบริการ อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามเครือข่าย หรือ “EV Data Roaming” กับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ ทำให้สามารถชาร์จข้ามเครือข่ายได้ในอนาคต เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งานยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน MEA ยังตระหนักถึงประเด็นด้านความปลอดภัย ในการใช้งานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จึงให้บริการทดสอบด้านความปลอดภัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่ใช้งาน EV Charging Station ทำให้การใช้งาน EV มีการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน