คัดลอก URL แล้ว

สวธ.ร่วมกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี บูรณเขตต์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้เผยแพร่งานศิลป์ ถิ่นเมืองสองแคว

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ บ้านจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและศิลปาจารย์ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี บูรณเขตต์ แหล่งเผยแพร่งานศิลป์ ถิ่นเมืองสองแคว” โดยมี นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน และมอบโล่และเข็มยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปาจารย์ ประจำปีพุทธศักราช 2565 ให้แก่ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม โดย นายพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก  ได้กล่าวแสดงความยินดี  นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวรายงาน ผู้บริหารสวธ. หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด พร้อมด้วยนายธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ประชาชนในพื้นที่ ร่วมงาน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ ประธานกล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี บูรณเขตต์ ให้เป็นอีก 1 แหล่งเรียนรู้ 1 ลานสร้างสรรค์ของจังหวัดพิษณุโลกตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รวบรวมส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ของจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและศิลปาจารย์ ผู้ริเริ่มบุกเบิกการปั้นหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลองมีเทคนิควิธีการเฉพาะตัวที่เรียกว่า “สกุลช่างจ่าทวี” จนเป็นที่ยอมรับนับถือและยกย่อง
ของบุคคลทั่วไปที่จะสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในงานช่างในแบบฉบับของตนเองขึ้นมา ซึ่งถือเป็นอีก 1 Soft Power พลังขับเคลื่อนของสาขาศิลปะตามยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติ และนำเสนอให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนทั่วโลกในมิติทางด้านวัฒนธรรมไทย สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจฐานรากด้วยทุนทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ชุมชนและจังหวัดพิษณุโลก ตามแนวทาง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power = OFOS) ตามแนวทางรัฐบาลต่อไปได้อย่างดี

หลังจากพิธีมอบโล่และเข็มเชิดชูเกียรติแล้ว จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ศิลปาจารย์  นายธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ได้นำประธาน พร้อมคณะผู้เข้าร่วมงาน เข้าเยี่ยมหอศิลปาจารย์ และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ก่อตั้งในปี 2526 ซึ่งประกอบด้วย อาคาร 5 หลัง เป็นที่รวบรวมและจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายชนิด มีสิ่งของมากกว่า 10,000 ชิ้น เป็นเสมือนแหล่งวิทยาการพื้นบ้าน แหล่งรวบรวมความรู้ แสดงถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยโบราณ แสดงงานหัตถกรรมและศิลปหัตถกรรม เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องมือช่าง เครื่องจับ-ดักสัตว์บก เครื่องเขิน เครื่องหวาย เครื่องเงิน เครื่องสังคโลก เป็นต้น และเป็นแหล่งสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานยังมี การสาธิตและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมและงานหัตถกรรม การสาธิตและการจำหน่ายสินค้าของดีบ้านฉัน OTOP CPOT ของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 11 ซุ้ม เช่น สาธิตการทำขนมไทย สาธิตการทำบายศรี สาธิตการทำพวงมะโหตร สาธิตการทำโมบายดอกเข็ม สาธิตการแทงหยวก สาธิตการทำกลองมังคละ การสาธิตการจักสานงานไม้ไผ่ สาธิตการปักผ้าและด้นผ้า สาธิตการนวดแผนไทย สาธิตการสานทางมะพร้าวประตูซุ้มและของใช้ และยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม ให้ชมตลอดงาน อาทิ การแสดงเพลงพื้นบ้านเพลงฉ่อย คีตะมวยไทย ดนตรีไทย เพลงฮินเล เล  การแสดง ชุด ยลโฉมไก่ชนพระนเรศ การแสดงกลองยาว การแสดงลิเก เรื่อง ลูกแก้ว เมียขวัญ  อีกด้วย

แหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี พิษณุโลก เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.30 – 16.30 น. สนใจเข้าชมศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อสอบถามหรือแจ้งล่วงหน้าได้ที่โทร 055 212749


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง