แกรนด์ แอสเสทฯ ประมาณการรายได้ปีนี้ใกล้เคียงเป้า ทั้งธุรกิจอสังหาฯและโรงแรม มีแผนลดหนี้ลง 7,000 ล้านบาท จากการร่วมทุนในธุรกิจโรงแรมซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา และการขายสินทรัพย์บางส่วน คาดได้ข้อสรุปในไตรมาสแรกของปี 2567 ส่วนแผนปีหน้า วางเป้ารายได้ไว้คงเดิมที่ 5,000 ล้านบาท
นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า ปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 2,800 ล้านบาท จากเป้าที่วางไว้ 3,000 ล้านบาท โดยกลุ่มโรงแรมของบริษัทมีการฟื้นตัวอย่างมากนับจากช่วงโควิด-19 และน่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในปีหน้า บริษัทยังได้ทำการปรับปรุงห้องอาหารของโรงแรม เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้น ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงปลายปีบริษัทมีการปรับสินค้าใหม่ในโครงการคอนโดมิเนียม “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” โดยเปิดตัวห้องแบบใหม่ The Elite Collection ขนาด 3 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 136 ตร.ม. ด้วยเลย์เอ้าท์ใหม่ที่รองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการห้องใหญ่เรียบหรูคลาสสิกบนทำเลทองย่านทองหล่อ ซึ่งมีจำนวนจำกัดและได้รับการตอบรับที่ดี ขณะที่โครงการ “อมาธารา เรสซิเดนซ์เซส ระยอง” นอกจากวิลล่าที่สร้างเสร็จแล้ว 9 หลัง
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างบีชบาร์เพิ่มเติม จึงชะลอการเปิดตัวโดยเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้า เพื่อให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโครงการมีความพร้อมที่จะรองรับลูกค้าที่เข้ามาพักอาศัย อย่างไรก็ดีบริษัทคาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้
ในต้นปี 2567 บริษัทยังมีนโยบายในการจัดการด้านการเงิน โดยมีแผนสร้างกระแสเงินสดและลดหนี้ลงให้ได้ 7,000 ล้านบาท ทั้งจากการร่วมทุนในธุรกิจโรงแรมซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5 แห่ง เพื่อให้มีเงินจากการร่วมทุนจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ร่วมทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนขายสินทรัพย์บางส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยการขายสินทรัพย์และการร่วมทุนในธุรกิจโรงแรม จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
สำหรับแผนงานในปี 2567 บริษัทยังคงเป้ารายได้ไว้เท่าเดิมที่ 5,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2,000 ล้านบาท และธุรกิจโรงแรม 3,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่เติบโตทั้งจากอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยที่ปรับตัวขึ้น และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น