คัดลอก URL แล้ว

ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชูศักยภาพการดูแลรักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตใหม่’ คุณทำได้ A Journey to The Healthier

Life พร้อมเปิดตัวปฏิทินปี 2567 กับชีวิตใหม่ของตัวแทนผู้ป่วยโรคอ้วน 9 ราย เพื่อสร้างความตระหนักรู้โรคอ้วนป้องกันและรักษาได้

ทุกวันนี้ ‘โรคอ้วน’ ถือเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าปี พ.ศ. 2559 ผู้ใหญ่มากกว่า 1.9 พันล้านคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักเกิน ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในปี 2561 เพิ่มเป็น 9.2% ในปี 2562 ส่วนเด็กอายุ  6-14 ปี จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจาก 11.7% ในปี 2561 เพิ่มเป็น 12.4% ในปี 2564 ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่าเป็นโรคอ้วนหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กก./ตร.ม. มากถึง 45.6% ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 46.2% ในปี 2564 และ 46.6% ในปี 2565

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ‘ศูนย์รักษ์พุง’ หรือโครงการจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนและโรคเมตาโบลิคแบบครบวงจร จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอีก 9 สาขา เนื่องด้วย ‘โรคอ้วน’ เป็นโรคที่ต้องทำการรักษา เพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสังคม ซึ่งการรักษาโรคอ้วนจะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ตลอดกว่า 15 ปี ‘ศูนย์รักษ์พุง’ รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนมานับหมื่นราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อ้วนมาตั้งแต่วัยเด็ก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัว หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย เนื่องจากผู้ป่วยจะมีขนาดอวัยวะที่ใหญ่ขึ้น และมีสรีระและระบบต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงยังมีโรคร่วมมากกว่าหนึ่งโรคด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิเศษหลากหลายสาขาร่วมกันทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ มีการใช้เทคโนโลยีและการรักษาที่ทันสมัย เพื่อยกระดับและพัฒนาการดูแลรักษา ให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อผลการรักษาที่ดีสำหรับผู้ป่วย ที่สำคัญเพื่อก้าวสู่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์และเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลรักษาและบริการผู้ป่วยโรคอ้วนและเมตาโบลิคแบบองค์รวม ที่พร้อมให้บริการในระดับมาตรฐานสากลทั้งในประเทศและระดับโลก

โรคอ้วน (Obesity) เป็นภาวะที่จัดเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง และเป็นภาวะที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคร่วมต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะปอดทำงานผิดปกติ หลอดเลือดสมองขาดเลือด ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำดี โรคไขมันคั่งสะสมในตับ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งควรสังเกตจากน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ หรือคำนวณด้วยค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body mass index) โดยคิดได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร หรือ 1.60 เมตร คำนวนค่า BMI = 80 / (1.60 x 1.60) เท่ากับ 31.25 กก./ตร.ม. เป็นต้น

‘ภาวะน้ำหนักเกิน’ และ ‘โรคอ้วน’ หมายถึงการสะสมไขมันที่ผิดปกติหรือมากเกินไปซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มากกว่า 25 กก./ตร.ม. ถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 กก./ตร.ม. ถือว่ามีโรคอ้วน ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ทั้งนี้ โรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเรื้อรังหลายชนิด ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและภาวะทุพพลภาพ

ผศ. (พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงแนวทางการรักษาในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี อาทิ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรักษาโดยการใช้ยา การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร และการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนแต่ละรายควรได้รับการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค โดยจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากไม่ได้ผลจึงมีการใช้ยาร่วมด้วย ปัจจุบันยาในการรักษาโรคอ้วนมีวิวัฒนาการในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการผ่าตัดมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ 1. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร และ 2. การผ่าตัดบายพาส ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยและผู้ดูแล และคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. เป็นต้นไป และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม.

ผู้ป่วยหลายรายเคยพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ มาแล้ว มีทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย แต่อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคอ้วน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีเกณฑ์ในการรักษาด้วยการผ่าตัดจะได้รับการเตรียมการอย่างถี่ถ้วนเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำหนักให้คงที่ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำหนักที่ลดลงยังช่วยให้การรักษาโรคร่วมได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ลดอัตราการใช้ยาในการรักษาโรคหัวใจ ไขมัน และเบาหวาน โดยพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยเบาหวานได้หายขาดสูงถึง 80% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน น้อยกว่า 10 ปี มีอัตราการหายขาดสูงเกือบ 100% นอกจากนี้ ยังลดอาการของโรคกระดูกและข้อ รวมถึงทำให้โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ดีขึ้น ที่สำคัญผลของการลดน้ำหนักยังทำให้ภาวะทางสุขภาพจิตและการเข้าสังคมของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านผู้ป่วยโรคอ้วน นายสามารถ เจริญสุข เล่าให้ฟังว่าได้ตัดสินใจรักษาที่ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร ตั้งแต่ปี 2554 ด้วยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 203 กิโลกรัม ขณะนั้นมีทั้งโรคความดัน หัวใจเต้นผิดปกติ ออกซิเจนในเลือดต่ำ หยุดหายใจขณะหลับและเคยหลับขณะขับรถ โดยทีมแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อมของร่างกายและควบคุมความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน หลังจากผ่าตัดลดกระเพาะในปีแรก น้ำหนักเคยลดลงมาอยู่ที่ 95 กิโลกรัม และปัจจุบันอยู่ที่ 103 กิโลกรัม ตลอดการรักษามากว่า 11 ปี ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่ถูกบูลลี่เหมือนแต่ก่อน สภาพร่างกายและสภาพจิตใจดีขึ้นมาก รู้สึกไม่เป็นภาระของภรรยา เดินไม่หอบเหนื่อย สามารถเดินขึ้นเขาได้ ส่วนโรคภัยต่างๆ ก็ดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียงอาการกรดไหลย้อน นับตั้งแต่การรักษาผู้ป่วยจะหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก และควบคุมการบริโภคร่วมด้วย ทำให้ทุกวันนี้เหมือนได้กลับมาชีวิตใหม่ที่มีความสุขอีกครั้ง

ขณะที่นายอนันตชัย คงจันทร์ ผู้ป่วยอีกรายเล่าให้ฟังว่า ผมโชคดีที่รู้จักศูนย์รักษ์พุงและตัดสินใจเข้ารักษาโรคอ้วนทันที ตั้งแต่ยังไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย โดยสมัยเรียนเมืองนอกเคยลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักสำเร็จมาแล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากน้ำหนัก 120 กิโลกรัม ลงมาเหลือ 80 กิโลกรัม แต่พอกลับมาเมืองไทยน้ำหนักเริ่มขึ้นจึงลดด้วยการใช้ยาลดน้ำหนัก ซึ่งเมื่อก่อนยาลดน้ำหนักชนิดเม็ดรับประทานนั้นมีผลข้างเคียงทำให้อารมณ์แปรปรวน จึงต้องหยุดยาและน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 กว่ากิโลกรัม ซึ่งขณะนั้นปี 2554 มีเพื่อนแนะนำว่ามีวิธีการเย็บกระเพาะอาหาร และได้คำแนะนำให้มารักษากับอาจารย์สุเทพที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตอนนั้นน้ำหนักอยู่ที่ 123 กิโลกรัม อาจารย์สุเทพแนะนำด้วยวิธีผ่าตัดบายพาส หลังจากรักษาประมาณ 1-2 เดือน น้ำหนักลดลง 50 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงแรกๆ ต้องมีการปรับตัวเพราะกระเพาะถูกจำกัดลงอย่างมาก มีอาการอาเจียนบ้าง ทุกวันนี้น้ำหนักคงที่ 75 – 77 กิโลกรัม มาตั้งแต่ปี 2554 รวม 12 ปีแล้ว โดยทุกๆ เช้าจะต้องชั่งน้ำหนักจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณอาหารและออกกำลังกายได้อย่างพอเหมาะ ซึ่งผมมีเทรนเนอร์คอยดูแลด้วย ส่วนใหญ่จะวิ่งและว่ายน้ำเป็นประจำ ทุกวันนี้ทำให้ผมมีวินัยในการใช้ชีวิตและได้ร่างกายที่แข็งแรงกลับมาอีกครั้ง

ปิดท้ายด้วยคุณกรกมล บุนนาค ซึ่งเป็นคนไข้ของอาจารย์สุเทพมาก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมาเคยรักษาโรคไทรอยด์ และกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี โดยอาจารย์สุเทพให้คำปรึกษาแนะนำว่ามีโรคประจำตัวเยอะ จึงอยากให้รักษาโรคอ้วนด้วย ซึ่งขณะนั้นน้ำหนักตัวอยู่ที่ 119 กิโลกรัม และมีโรคเรื้อรังร่วมหลายโรค ทั้งความดันโลหิตสูง สูงเกิน 200 มม.ปรอท ส่วนคอเลสเตอรอล และค่าไตรกลีเซอไรด์ ก็สูงเกือบ 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร พอเดินขึ้นบันไดนิดเดียวก็หอบแล้ว หลังจากที่ได้รักษาโรคอ้วนเมื่อปี 2562 ด้วยการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง น้ำหนักก็เริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ปัจจุบันผ่านมา 4 ปี น้ำหนักอยู่ที่ 59 – 60 กิโลกรัม ทำให้โรคเรื้อรังอื่นๆ ก็ดีขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันไม่ต้องทานยาความดันแล้ว ส่วนค่าไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอล ก็กลับมาเป็นปกติทุกตัว รวมถึงสภาพจิตใจก็ดีขึ้นด้วย แต่ก่อนจะมีภาวะหงุดหงิดร่วมด้วย ทุกวันนี้ดีใจที่สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ กล่าวเสริมว่า ในปีนี้ ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ว่าโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาได้ โดยได้เชิญชวนให้ตัวแทนผู้ป่วยรวม 9 ราย ที่เคยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตใหม่’ คุณทำได้ A Journey to The Healthier Life มาร่วมถ่ายทำปฏิทิน New Year New Life เพื่อร่วมเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความหวังให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนรายอื่นๆ กลับมามีชีวิตที่สดใส ปราศจากโรคภัยอีกครั้ง ซึ่งปฏิทินปี 2567 นี้ จะถูกแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ

ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถใช้สิทธิในการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่อง (Laparoscopic Bariatric Surgery) ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รักษ์พุง โทร. 02 256 4000 ต่อ 71205 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 8.30 – 15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง