“เศรษฐา” นำทีมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดตัวคิกออฟ เฟสติวัลใหญ่ประจำปี Thailand Winter Festival และ Colorful Bangkok Winter Festival 2023 รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงพักผ่อนปลายปี ด้าน “แพทองธาร” ประกาศเสริมความยิ่งใหญ่ ไทยจัดงานกว่า 3,000 งาน ทั้งงานประเพณีไทยดั้งเดิม-ลอยกระทง เทศกาลสากล-เค้าท์ดาวน์ปีใหม่ ตลอดจนงานต่างๆ ที่แสดงออกลักษณะทางศิลปะ อาหาร ดนตรี กีฬา และงานแสงสี หวังผลักดันไทยเป็น Hub ของเฟสติวัลโลก
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล : นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดตัวงานใหญ่งานแรก ภายใต้สาขาเฟสติวัล 1 ใน 11 สาขาเป้าหมายในยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ภายใต้ชื่องาน เทศกาล Thailand Winter Festivals โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเข้าร่วมงาน โดยงานเทศกาล Thailand Winter Festivals นี้ เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะประกาศความพร้อมและแสดงศักยภาพการเป็นฮับแห่งเฟสติวัลโลก ภายในงานประกอบไปด้วยเทศกาลสำคัญ 2 เทศกาล ได้แก่ Thailand Winter Festival และ Colorful Bangkok Winter Festival 2023 ที่ได้รวมงานกว่า 3,000 งาน และอีก 200 งานในกรุงเทพฯ ที่จะทยอยจัดขึ้นภายใน 2 เดือนของปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566
นายเศรษฐา กล่าวว่า “งาน Thailand Winter Festivals เป็นผลจากการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำในด้านเฟสติวัลของโลก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้เริ่มผลักดัน แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค วางรากฐานการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมไปถึงสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงองค์ความรู้ให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็น Festival Country ในอนาคต เพราะไทยยังมีศักยภาพในการท่องเที่ยวอีกมาก กอปรกับรัฐบาลยังมีนโยบายหลายมิติ ที่จะสนับสนุน ทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินที่กำลังจะเกิดขึ้นที่อันดามัน และนโยบายเรื่องวีซ่าฟรีที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลได้เริ่มต้นการผลักดันอย่างจริงจัง”
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มว่า “3,000 กว่าเทศกาลนี้ ที่จัดขึ้นมี 2 ช่วงเวลาสำคัญ คือ (1) ประเพณีไทยดั้งเดิมที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร คือ ประเพณีลอยกระทงในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่จัดขึ้นทั่วทั้งประเทศไทย งานใหญ่ประจำปีจะอยู่ที่สุโขทัย ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ และ (2) ช่วงสิ้นปีที่ยาวตั้งแต่คริสต์มาสต์ไปถึงปีใหม่ เทศกาลสากลที่มีการจัดกันอยู่ทุกปี โดยในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานกิจกรรมอีกหลายมิติครอบคลุม ทั้งประเพณี ศิลปะ อาหาร กิจกรรมเพื่อความบันเทิง ดนตรี กีฬา เทศกาลประจำปีที่มีบรรยากาศสนุกสนาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้ประเทศไทยถูกจดจำในฐานะจุดหมายใหม่ปลายปีของโลก”
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “Thailand Winter Festival” ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ท่องเที่ยวไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566 ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นที่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวมากที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพิ่มแรงส่งทางการท่องเที่ยวด้วย Big Event กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. จึงได้เสนอ 5 กิจกรรมสำคัญ เริ่มต้นด้วย กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566 นำเสนอประเพณีลอยกระทงอันทรงคุณค่า เน้นย้ำความสุขอย่าง “วิถีไทย” ต่อด้วย Amazing Thailand Marathon Bangkok 2023 ตอกย้ำความพร้อมของกรุงเทพฯ ประเทศไทยก้าวสู่ Sport Tourism Destination ระดับโลก และ กิจกรรม Amazing Thailand Passport Privileges มอบสิทธิประโยชน์การใช้จ่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายๆ ท่านรอคอยกับ Vijit Chao Phraya 2023 แต่งแต้มสีสันแนวแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืนตลอดทั้งเดือนธันวาคม 2566 ใน 6 พื้นที่การแสดงที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากแนวของสายน้ำที่คดโค้ง สู่แลนด์มาร์กของประเทศไทย และส่งท้ายปีแบบยิ่งใหญ่ด้วยกิจกรรม Amazing Thailand Countdown 2024 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็น Global Countdown Destination ยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมขอส่งความสุขในช่วงฤดูหนาว และขอมอบของขวัญพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยมาชมประเพณีวัฒนธรรมไทยอันสวยงาม ร่วมสร้างสีสันแห่งความสุขและความทรงจำดี ๆ ให้แก่ชีวิต ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยกิจกรรมส่งความสุขผ่านประเพณีวัฒนธรรมไทย และกิจกรรมเสริมสิริมงคล อาทิ เยี่ยมยล ชมวัง สักการะศาสนสถาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์,แต่งชุดไทยไปลอยกระทง, ท่องเที่ยวโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Heritage) อาทิ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย, งานเทศกาลโคมแสนดวง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน, ไปดูงานศิลป์ในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จังหวัดเชียงราย จากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก, งานสวดมนต์ข้ามปีเสริมสิริมงคล รวมไปถึงร่วมเล่นน้ำใน “ประเพณีสงกรานต์” นอกจากนี้อยากเชิญชวนเดินทางท่องเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม เช่น งาน “76 จังหวัด 76 เทศกาลประเพณี” แหล่งท่องเที่ยว “ชุมชน ยลวิถี” แหล่งท่องเที่ยว “ตลาดบก ตลาดน้ำ” เส้นทางท่องเที่ยวแห่งศรัทธา ตามรอยพระเถราจารย์ และตำนานความเชื่อพญานาคลุ่มน้ำโขง เป็นต้น หวังว่าการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง จัดงาน Thailand Winter Festivals ในครั้งนี้ จะทำให้คนไทยมีรอยยิ้ม และมีความสุขในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จากนักท่องเที่ยวที่มาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนวัฒนธรรมโทร 1765”
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “งานฤดูกาลศิลปะกรุงเทพ 2566 Colorful Bangkok 2023 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเติมสีสันให้กับเมือง ตลอด 3 เดือน (พ.ย.66-ม.ค.67) ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สร้างบรรยากาศของความสุขและการเฉลิมฉลอง สร้างสรรค์งานเทศกาลศิลปวัฒนธรรม โดยไฮไลต์สำคัญ อาทิ งานลอยกระทง มากกว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ, งานแสดงแสงสีเสียง Vijit ChaoPhraya, เทศกาลงานดิจิทัลอาร์ต Awakening Bangkok, งานวิ่งมาราธอน Amazing Marathon Bangkok, เทศกาลประจำปี ละครกรุงเทพ, เทศกาลศิลปะวัฒนธรรมชุมชน บางกอกบานฉ่ำ และเทศกาลเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืนประจำปี Night at the Museum งาน Countdown 2024 ก้าวสู่ปีใหม่ ตลอดจนจะจัดงานใหญ่ปิดท้ายเทศกาล เพื่อรวมพลคนศิลปะในงาน Colorful Bangkok Expo 2024 ในวันที่ 18-21 มกราคม 2567 ที่ลานคนเมืองอีกด้วย“
นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าววันนี้ยังมีการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ “ลมหนาว” เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับงานและเทศกาลฤดูหนาว และการแสดงจากกระทรวงวัฒนธรรม ในการแสดงชุดร่วมสมัย 4 ภาค จากภาคเหนือ (รำร่ม) ภาคอีสาน (ผีตาโขน) ภาคใต้ (มโนราห์) และภาคกลาง (โขน) และการจัดนิทรรศการการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมภายในงานอีกด้วย