คัดลอก URL แล้ว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ “44 ปี แห่งการพัฒนา ปวงประชาอยู่ดีมีสุข”

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดงาน “44 ปี แห่งการพัฒนา ปวงประชาอยู่ดีมีสุข” ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ระหว่างวันที่ 9 -12  สิงหาคม   2566 เพื่อน้อมรำลึก

ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานถึงการดำเนินงาน และแนวทางการสนองงานตามแนวพระราชดำริในระยะต่อไป 

เด็กหญิงรัตนา ชูศิลป์ นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน การบินไทย อ.ลองหาด จ.สระแก้ว โรงเรียนที่ได้รับการส่งเสริมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ  ได้กล่าวถึงการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารกลางวัน จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาว่า ได้เรียนรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการนำถ่านไบโอชาร์ ที่ผลิตขึ้นมาเองในโรงเรียน “จะเอากิ่งไม้แห้ง เปลือกผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน ไม้ไผ่ และชานอ้อยที่คั้นน้ำแล้วมารวมกันแล้วเผาในเตาไบโอชาร์จนเป็นถ่าน รอจนถ่านเย็นนำมาใส่ต้นไม้ที่ปลูก มีนักเรียนหลายคนนำความรู้นี้ไปใช้ที่บ้าน เพราะส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูก ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยและสุขภาพก็ดีขึ้นด้วย”  เด็กหญิงรัตนา ชูศิลป์ กล่าว 

สำหรับ ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปรับปรุงดินที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายเชิงความร้อนของชีวมวล นำมาบำรุงดินสำหรับแปลงปลูกพืชทั่วไป ช่วยกำจัดขยะชีวภาพ และยังใช้ในการหุงต้ม เป็นพลังงานทดแทน ปัจจุบันโรงเรียน ตชด. การบินไทย เป็นศูนย์บริการความรู้ระหว่างโรงเรียน ชุมชน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีฐานเรียนรู้ เช่น เกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมี ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิชาการและวัสดุอุปกรณ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ โดยมี ครู ตชด. เป็นวิทยากรแนะนำแก่ผู้สนใจ เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้  

ด้านเด็กหญิงกุลพัชร  เทพนรินทร์ ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านน้ำอ้อม  ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว  ผู้เข้าประกวดวาดภาพบนกระดานดำ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ว่ามีโอกาสเข้ามาทัศนศึกษา และเรียนรู้งานในศูนย์ศึกษาการพัฒนา ทำให้เข้าใจว่าการพัฒนานั้นสามารถทำได้หลายวิธีแต่ที่ดีที่สุด คือ ให้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จากพื้นที่เสื่อมโทรมกลับมาพลิกฟื้นให้สมบูรณ์ทำการเพาะปลูกได้ ทุกคนสามารถนำไปทำในพื้นที่ของตนเองได้ 

“ภาพที่วาดนี้สื่อถึงดินดี น้ำอุดมสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต เขาหินซ้อนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง จากอดีตที่ดินไม่ดีเสื่อมโทรม จนในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมา และพระราชทานพระราชดำริให้มีการปรับปรุงแก้ไขทำให้พื้นที่เปลี่ยนจากดินทรายมาอุดมสมบูรณ์ทำการเพาะปลูกได้ มีป่ามีน้ำ มีอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง” เด็กหญิงกุลพัชร  เทพนรินทร์   กล่าว 

ด้านนายนิรัน พละศักดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนเกษตรแปลงรวมบ้านหนองกระทิง ปลูกผัก รักษ์ช้าง สร้างรายได้ บ้านคลองมะหาด หมู่ 14 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เผยว่าที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากช้างป่า ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ช้างป่าจะทำลายและกินพืชผลหมด ทางโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์  จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการจัดระบบการป้องกันช้างป่าไม่ให้เข้ามาในพื้นที่พร้อมส่งเสริมให้เพาะปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่ที่ทางการจัดให้เป็นส่วนกลาง มีระบบการป้องกันช้างป่าตามธรรมชาติ  ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ครัวเรือน พื้นที่ทำกินร่วมกัน 17 ไร่ ผลผลิตจำหน่ายในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงรวม 

“ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ สนับสนุนปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จัดทำระบบให้ปุ๋ยทางน้ำ สู่แปลงปลูก ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP พืชที่ปลูกมีกวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ชะอม  มะระขี้นก บวบหอม ข้าวโพด พริก และแตงกวา 

โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้ฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพ สมุนไพร น้ำหมักไล่แมลง ตลอดถึงความรู้ด้านการตลาดให้แก่กลุ่ม รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ทุกพระองค์เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้มาให้เป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านในการทำกิน” นาย นิรัน พละศักดิ์ กล่าว

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน บริเวณหมู่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 264  ไร่ เพื่อให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระองค์เสด็จไปที่ไหนก็จะพัฒนาที่นั้น พระองค์ทรงรับไว้ และให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดให้สามารถใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม ในรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว  พร้อมให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านเกษตรกรรม และการพัฒนาอาชีพ ให้เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการด้วยการขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง