คัดลอก URL แล้ว

โพล วธ. เผยแข่งแต่งกลอน คัดลายมือ สวดมนต์ หนุนการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ด้าน “ครูอาจารย์ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ” มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุดในปัจจุบัน

พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อให้เด็กและประชาชนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าภาษาไทย ภาษาประจำชาติ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ประจำปี 2566 (29 กรกฎาคม 2566) จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,402 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค สรุปพอสังเขปดังนี้ 1. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.29 ทราบว่าวันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี และร้อยละ 20.71 ไม่ทราบ 2. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าภาษาไทยมีความสำคัญ คือ อันดับ 1 เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ร้อยละ 78.98 อันดับ 2 เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ร้อยละ 54.09 อันดับ 3 เป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสุนทรียภาพ ร้อยละ 52.16 3. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบัน 5 อันดับแรก คืออันดับ 1 โรงเรียน/มหาวิทยาลัย/สถานศึกษา ร้อยละ 75.57 รองลงมาได้แก่ หอสมุดแห่งชาติ ร้อยละ 56.2 ห้องสมุดออนไลน์ ร้อยละ 48.02 ห้องสมุดประชาชน ร้อยละ 46.06 และ พิพิธภัณฑ์ ร้อยละ 43.17

4.เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุดในปัจจุบัน อันดับ 1 คือ ครูอาจารย์ ร้อยละ 67.20 รองลงมา คือ ผู้ประกาศข่าว ร้อยละ 63.50 พิธีกร ร้อยละ 58.33 และศิลปิน/ดารา และนักพูด น้อยที่สุด 5. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่าจะมีส่วนช่วยสืบสาน อนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 พูด อ่าน เขียน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ ร้อยละ 85.61 การพูดออกเสียงภาษาถิ่น ภาษาพื้นเมือง และภาษาไทยกลางให้ถูกต้อง ร้อยละ 63.73 ตั้งใจเรียนรู้และถ่ายทอดภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ร้อยละ 58.56 ร่วมเผยแพร่ภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติเมื่อมีโอกาส ร้อยละ 51.97 อื่น ๆ อาทิ ฟังหรือร้องเพลงไทย เป็นต้น ร้อยละ  1.03 6. เด็ก เยาวชน และประชาชนคิดว่ากิจกรรม ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาไทย 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 การแข่งขันทักษะทางภาษาไทย อาทิ การแต่งกลอน การคัดลายมือ และการประกวดคลิปวิดีโอ ร้อยละ 63.20 อันดับ 2 การแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมไทย ร้อยละ 61.28 อันดับ 3 ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลใช้ภาษาไทยดีเด่น ร้อยละ 48.14 อันดับ 4 การตอบปัญหา ทำแบบทดสอบ เพื่อรับเกียรติบัตร ร้อยละ 41.97 อันดับ 5 การสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ ร้อยละ 40.64

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน ประชาชน เสนอให้ วธ. มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา วธ. และหน่วยงานในสังกัด ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อาทิ กิจกรรมทางวิชาการด้านภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นิทรรศการ อภิปรายทางวิชาการ การประกวดงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง การอ่านทำนองเสนาะ การขับเสภาและเล่านิทาน อ่านหนังสือ ร้องเพลง ส่งเสริมกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการสอนทักษะการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็กและเยาวชน เช่น การจัดทำสื่อโปสเตอร์ อินโฟกราฟิก ละครสั้นด้านวรรณคดีกับเหตุการณ์ความเจริญยุคใหม่ รณรงค์ให้บุคคลต้นแบบอาชีพต่าง ๆ อาทิ ดารา พิธีกร ยูทูบเบอร์ เป็นต้นแบบการใช้ภาษาไทย  ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน รวมไปถึงร่วมจัดให้มีกิจกรรมการประกวดคัดลายมือ การเขียนเรียงความ การแต่งโคลง กาพย์ กลอน การโต้วาที การอภิปราย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน เกิดความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง