คัดลอก URL แล้ว

กรมศิลปากร ร่วมกับ 7 จังหวัดภาคใต้ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม คณะสงฆ์ ท้องถิ่น ชุมชน และภาคสังคมพร้อมใจปกป้องแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

หนุนเป็น Soft Power แหล่งศึกษา ท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์ ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคใต้ตอนบน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และเครือข่ายดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคใต้ตอนบนในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) พระสังฆาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดและอำเภอ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร มีภารกิจในการอนุรักษ์สืบสาน มรดกศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดจนสร้างคุณค่าเพิ่มจากมรดกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งภาคใต้มีสถานที่ที่เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่เก่าแก่และสำคัญ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมในวันนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชน ช่วยกันปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์และรักษาไว้ให้มีความยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อเครือข่ายชุมชนสังคมและประเทศชาติที่จะช่วยไม่ใช่เพียงแต่ด้านวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงภาคเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นอีกด้วย และนอกจากนี้ กรมศิลปากรยังมีนโยบายในการทำงานที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดการโบราณวัตถุ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจกับภาครัฐภาค เอกชนและประชาชน เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานที่ถูกต้องเหมาะสมทั้งนี้เพื่อช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นสาธารณสมบัติของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป

ด้านนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครในเขตพื้นที่ ชุมชนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่มีที่ตั้งในเขตพื้นที่หรือชุมชนนั้น โดยเฉพาะกับงานด้านโบราณสถาน ซึ่งเป็นสมบัติของชาติและชุมชน ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายอาสาสมัครดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้แก่ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) พระสังฆาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชนอื่น ๆ โดยสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์ ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม นำร่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และล่าสุดวันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2566 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นอกจากจะมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการศึกษาดูงานโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ซึ่งพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะศรีวิชัยที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน และวัดโพธาราม ที่มีการขุดพบพานทองคำ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดีมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายอนุรักษ์ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วย

ทั้งนี้ เขตภาคใต้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่เก่าแก่สำคัญ และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็น Soft Power ประการหนึ่งของชาติที่จะช่วยให้เกิดรายได้ของชุมชน ความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งฝ่ายสงฆ์ ท้องถิ่น ชุมชน และภาคสังคมที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้มีความยั่งยืน จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่าย ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ไม่ใช่เพียงด้านวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงภาคเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง