ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย รพ. จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยและ สไมล์ ไมเกรน ชุมชนชาวไมเกรนออนไลน์ แบ่งปันความรู้เรื่องโรคไมเกรนในงานเสวนา “ใส่ใจ ไมเกรน Migraine Matters”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย รพ. จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยและสไมล์ ไมเกรน ชุมชนชาวไมเกรนออนไลน์ได้ร่วมกันจัดงานเสวนา“ใส่ใจ ไมเกรน Migraine Matters” เพื่อสร้างความตระหนักและใส่ใจโรคไมเกรน โดยในงานเป็นกิจกรรมการแบ่งปันความรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากสมอง ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นประธานในการเปิดงานเสวนา พร้อมกันนี้ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและโรคปวดศรีษะ ได้แก่ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผศ.นพ.เสกข์ แทนประเสริฐ นพ.สุรศักดิ์ โกมลจันทร์ อ.นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา ผศ.นพ.จรุงไทย เดชเทวพร และ อ.นพ.วนกร รัตนวงษ์ มาอธิบายถึงการรู้ถึงโรค ไมเกรน การจัดการอาการโรคไมเกรนได้อย่างไร และการป้องกันไมเกรนด้วยตัวเอง ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานสามารถซักถามข้อสงสัยของโรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และยังได้พบกับชาวไมเกรนรับเชิญ คุณ วิศาล ดิลกวณิช นักคิดวิเคราะห์และนักข่าวที่จะมาแชร์ ประสบการณ์ไมเกรนกับอาชีพ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า และคุณสินีนาถ ศรีสินอำไพ ที่เป็นไมเกรนถึง 15 ปีจนปลอดไมเกรน แชร์ในเรื่องการดูแลตัวเองให้ปลอดจากการภาวะปวดศรีษะ การใช้ยาและการใช้ชีวิตสู้โรคไมเกรนอย่างไร ให้สำเร็จอีกด้วย
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ประธานชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคไมเกรนเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบสูง ในประชากร 7 คน จะพบคนเป็นไมเกรน 1 คน ซึ่งนั่นทำให้มีการประมาณการว่าในประเทศไทยมีคนเป็นโรคไมเกรนถึง 10 ล้านคน โดยโรคไมเกรน มักพบในคนวัยทำงานเป็นผลให้ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือต้องหยุดงาน จึงทำให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจในระดับครอบครัวและประเทศ เป็นโรคที่เกิดความทุพลภาพ เป็นอันดับหนึ่งหรือสองในกลุ่มคนทำงานมาตลอดทุกปี แต่การรักษาเพื่อลดผลกระทบของโรคก็ยังไม่ดีพอ ทั้งยังขาดการเข้าใจโรค การดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดยาแก้ปวด และมีโอกาสปัญหาสุขภาพอื่น ๆเพิ่มขึ้น และยังมีการเข้าถึงแพทย์และยาที่ยังไม่เหมาะสม เราจึงต้องรีบแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ งานใส่ใจ ไมเกรน Migraine Matters เป็นหนึ่งในพันธกิจของชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย โดย ทางชมรมจะดำเนินการ 3 เรื่องในปีนี้ ได้แก่
- การสร้างความตระหนักและให้ข้อมูลการดูแลรักษาโรคไมเกรนให้ถูกต้อง ผ่านงานเสวนา “ใส่ใจ ไมเกรน Migraine matters” ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
- การเปิดตัว Campaign “More pills, More pain” ยิ่งกินยา ยิ่งปวดหัว เพื่อจัดการกับโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (Medication Overused Headache, MOH) ซึ่งรณรงค์ ไปพร้อมกับ สมาคมโรคปวดศีรษะนานาชาติ (International Headache Society, IHS)
- การตั้งชมรมไมเกรนแห่งประเทศไทย หรือ Migraine Club Thailand เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการสู้กับโรคไมเกรน
การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความตระหนักและใส่ใจไมเกรน (Migraine Awareness Month) มาเผยแพร่กับประชาชนคนไทยให้มีความรู้เชิงลึกของโรค โดยร่วมกับ สไมล์ ไมเกรน ชุมชนไมเกรนออนไลน์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่รักษาไมเกรนเพื่อนำไปเป็นความรู้ในการดูแลและเป็นแนวทางในการรักษาให้หายไกลจากโรค เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี เพราะเราเชื่อว่าชีวิตที่ปลอดโรคจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยทุกคน”
สามารถติดตามข้อมูลของโรคปวดศีรษะได้ทางเฟซบุ๊กเพจ “Thai Headache Society ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะแห่งประเทศไทย