รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “NIA Innovation Focal Facilitator : Bridging Public & Private Partnership” ในพิธีเปิดงาน STARTUP X INNOVATION THAILAND EXPO 2023 ว่าสถานการณ์โลกช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกทำให้เกิดผลกระทบ 4 ด้านคือ 1) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศมีนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่ปิดกั้นมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) 2) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inequality) เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นจากการปิดตัวและการย้ายฐานการผลิต เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ (Aging society) ที่ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศที่จะต่อเนื่องด้วยปัญหาสวัสดิการของรัฐ 3) ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ว่ารูปแบบของอากาศที่ร้อนขึ้นหรือ PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากทั่วโลก ทั้งนี้ หลายประเทศได้เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินการในการควบคุมการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรม 4) Sustainability ในตอนนี้ทุกหน่วยงานได้มีการตื่นตัว คำว่า Sustainability ประกอบด้วย E (Environment) เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ S (Social) ซึ่งรวมไปถึงเรื่องสังคม ชุมชนหรือบุคคล อย่างเช่นการดูแลพนักงานขององค์กร G (Governance) คือการดูแลกฎหมาย ความเป็นธรรม การจัดซื้อที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การมาของเทคโนโลยี Artificial Intelligence ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการทำงาน
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ “นวัตกรรม” จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่การฟื้นตัวและกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอนาคตจึงเป็นวาระสำคัญของประเทศ ผ่านการส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนา การสร้างกำลังคนและการขยายผลนวัตกรรม
บทบาทของ NIA ในฐานะ “Focal Facilitator – ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม”
ขณะนี้ NIA ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น System Integrator ไปสู่การเป็น “Focal Facilitatorหรือ ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม” โดยมุ่งพัฒนาระบบนวัตกรรมที่เปิดกว้างในการเข้าถึงโอกาสและความร่วมมือ พัฒนาระบบการเงินนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ข้อมูลนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ และพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง เพื่อให้ธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 : พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจนวัตกรรมสามารถสร้างการเติบโตและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม เพราะข้อมูลจะนำไปสู่การตัดสินใจ บนหลักฐานเชิงประจักษ์ของนักนโยบายและผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง ยกระดับ NIA สู่องค์กรสมรรถนะสูงที่ตอบสนองต่อระบบนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG : Environmental, Social, and Corporate Governance) โดยการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล ปรับใช้มาตรฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร
ทิศทางของ NIA ในอนาคตทิศทางของ NIA ในอนาคตสามารถเปรียบได้กับงาน SITE2023 ที่เราเห็นการจับมือกันของทุกภาคส่วน ในงาน SITE มีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เราหวังว่าจะผลักดันให้ก้าวสู่ SME และบริษัทใหญ่ที่จะกลับมาช่วยสตาร์ทอัพให้เติบโตต่อไป สิ่งที่เราทำได้แล้วคือการเปลี่ยน mindset ของนักศึกษามหาวิทยาลัย ให้มี mindset ของความเป็นผู้ประกอบการ รวมไปถึงเรามีพันธมิตรซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ อย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงต่างๆ NIA เรามีพันธกิจในการจับมือกับต่างชาติเพื่อสร้างเครือข่าย และเรามี Prime Minister Awards ที่ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพ ให้เกิดความภาคภฺมิใจในการดำเนินงาน โดย NIA จะทำหน้าที่เป็น “Focal Facilitator – ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน