สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลบรรณาธิการดีเด่น โดยผู้ที่ได้รับรางวัล “บรรณาธิการดีเด่น” คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ประจำปี 2565 ได้แก่ “มนทิรา จูฑะพุทธิ”
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมฯ ได้ประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกบรรณาธิการดีเด่น มีมติเอกฉันท์มอบรางวัลบรรณาธิการดีเด่น ให้แก่ นางสาวมนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้ซึ่งทำหน้าที่สร้างสรรค์หนังสืออันมีคุณภาพในฐานะบรรณาธิการมายาวนาน และสร้างคุณูปการแก่วงการหนังสือของไทยมาโดยตลอด
“มนทิรา” ทำงานด้านบรรณาธิการมากว่า 30 ปี อดีตเคยเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ และบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร woman&home นิตยสารหัวนอกจากอังกฤษ
นอกจากนี้ “มนทิรา” ยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์สามสี ที่เธอเป็นผู้ก่อตั้ง เธอเป็นบรรณาธิการที่มีสายตาแหลมคม หนังสือที่เธอคัดสรรนำมาจัดพิมพ์เป็นเล่มนั้นสร้างปรากฎการณ์ทั้งยอดขายและรางวัลมานับเล่มไม่ถ้วน นอกจากการเป็นบรรณาธิการ เธอยังเป็น “นักสัมภาษณ์ และ “นักเขียน” ที่มีแฟนนักอ่านติดตามผลงานของเธออย่างเหนียวแน่น เธอสร้างสรรค์งานเขียนหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 จวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งประเภทสารคดี ฮาวทู บทสัมภาษณ์ และความเรียง ที่สร้างชื่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ให้แก่เธอ คือสารคดีท่องเที่ยว และการเป็นนักเขียนที่เรียกว่า “โกสต์ ไรเตอร์” ด้วยการเขียนประวัติชีวิตบุคคล หนังสือชีวประวัติสองเล่มที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักอ่านอันถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงได้แก่ “บนทางชีวิตนิรมล เมธีสุวกุล” และ “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ก้าวย่างแห่งปัญญา”
โดยในงานการประกาศรางวัล “มนทิรา” ได้แสดงทัศนะในเรื่อง “บทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบัน” ว่า
“ดิฉันแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ “บทบาทของบรรณาธิการ” และ “สังคมหนังสือปัจจุบัน” ซึ่งเมื่อพูดถึงบทบาทของบรรณาธิการ ก็มีคำถามชวนคิดสองเรื่องคือ หนึ่ง-บรรณาธิการเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานหรือไม่ ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นธุรกิจดาวร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว และสอง-บรรณาธิการยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญหรือไม่ ในยุคที่หน้าจอเข้าถึงคนได้มากกว่าหน้ากระดาษ ส่วน “สังคมหนังสือปัจจุบัน” นั้น แน่นอนว่าแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือก บวกกับกระแสสังคม สิ่งที่เห็นชัดก็คือ หนังสือเล่มที่เรียกว่าสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ไม่สามารถ stand alone ได้ แต่ต้อง cross media กับดิจิตอลแพลตฟอร์ม
“บทบาทของบรรณาธิการในสังคมหนังสือปัจจุบันจึงเป็นทั้งเรื่องของปัจเจก คือตัวบรรณาธิการเองที่จะต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถ ให้เท่าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กับบริบทของสังคมที่แปรเปลี่ยนไป”
“มนทิรา” เชื่อมั่นในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เธอจึงใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีด้วยการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นการคืนกลับให้กับสังคมผ่านผลงานการเขียนหลากหลาย และทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการจิตอาสา” ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ มากมาย
ล่าสุด นางสาวมนทิรายังได้รับเลือกจากองค์การยูนิเซฟให้เป็น “Consultancy Professional Editor and Copy Editor” ปี 2566 ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี