คัดลอก URL แล้ว

Arun Plus – CATL ลงนามจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ในไทย

Arun Plus – CATL บรรลุข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) พร้อมด้วย Mr. Ni Zheng, Executive president of overseas car business, and CEO of Japan & Korea affiliate, Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่งาน Shanghai International Automobile Industry Exhibition สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตภายใต้ความร่วมมือกับ CATL ผู้นำในระดับสากลด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV ที่ยั่งยืน ท่ามกลางความยินดีของทั้งสองฝ่าย

นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ในครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่อย่างครบวงจร ด้วย CATL เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบตเตอรี่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Battery Value chain) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือในวันนี้จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่สำคัญในการสร้างให้เกิด Battery Ecosystem ในอนาคตด้วยเช่นกัน”

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นบริษัทที่ถือหุ้นของ Arun Plus 100% และมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ สถานีบริการน้ำมันมากกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์บริการยานยนต์ภายในสถานีบริการน้ำมัน โดยร่วมมือกับ Start Up เพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุน Mobility และ Lifestyle ในอนาคต

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 Arun Plus ได้ร่วมกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN ก่อตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด เพื่อดำเนินการผลิต EV รองรับความต้องการที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน  โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573 ซึ่งการก่อตั้งโรงงานผลิต EV ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการก่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ CTP ในครั้งนี้

และในอนาคต Arun Plus ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ CATL เพื่อนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ของ CATL มาใช้ในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Swapping) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ (Battery Recycling) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ CATL (CATL Integrated Intelligent Chassis : CIIC) พร้อมทั้งจะศึกษาแนวทางในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอนาคต

ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CTP นี้ ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่าง Arun Plus กับ CATL ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม Arun Plus แล้ว Arun Plus ยังจะทำงานกับ CATL อย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย และมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง