คัดลอก URL แล้ว

พม. จัดงานมอบรางวัลประกวดสื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ“ทุกเพศ ทุกคน เท่ากัน All genders are equal”

วันที่1 มิ.ย. 66 นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (อธิบดี สค.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวต้อนรับสู่เดือน Pride Month ในงานมอบรางวัลประกวดสื่อเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้สังคมตระหนักเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ “ทุกเพศ ทุกคน เท่ากัน All genders are equal” เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเนื่องในเดือนแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ (Pride Month) โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สค. ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหวางเพศ อนุกรรมการประกวดสื่อฯ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดสื่อฯ ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาเอกชน นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานพร้อมแสดงความยินดีกับผู้รับรางวัล ณ ห้องประชุมออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นางจินตนา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจสำคัญในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ คุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในสังคม รวมถึงเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้กับสาธารณชน ซึ่งในปีนี้ กรม สค. ร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมประกวดสื่อสร้างความตระหนักเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมขึ้น ภายใต้หัว “ทุกเพศ ทุกคน เท่ากัน All genders are equal” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้มีคุณภาพ สร้างสรรค์ หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน

นางจินตนา กล่าวต่อไปว่า ผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดฯ ในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คลิป และ E-Poster ส่งประกวดโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้สนใจส่งใบสมัครเข้าประกวดจำนวน 233 ผลงาน โดยมีผลงานที่ผ่านหลักเกณฑ์เพื่อให้คณะอนุกรรมการตัดสิน จำนวนทั้งสิ้น 85 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทคลิป จากนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 38 ผลงาน และจากประชาชนทั่วไป จำนวน 6 ผลงาน ประเภท E-Poster จากนักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 36 ผลงาน และจากประชาชนทั่วไป จำนวน 5 ผลงาน และผลงานที่ชนะการประกวดเพื่อรับมอบเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลในวันนี้ ได้แก่
ประเภทคลิป รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท และรองชนะเลิศ 20,000 บาท
(นักเรียน นิสิต นักศึกษา)
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทัตเทพ พลเยี่ยม อาภัสรา สมานทรัพย์ และกฤติน จันทรกุล ชื่อผลงาน “วันนี้คุณฟังแล้ว”
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่
วริศรา ดอนเหนือ พิศารัชช นิตทิม และวศินี ขันโท ชื่อผลงาน “ความแตกต่างที่ไม่แตกต่าง”

ประเภท E-Poster รางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท รองชนะเลิศ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย 5,000 บาท 2 รางวัล
(นักเรียน นิสิต นักศึกษา)
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นัชชา ว่องภัคดีภูบาล ราชกิจ ม่วงศักดิ์ และสุธิมา ทองสมุทร ชื่อผลงาน “หน้าไหนก็เท่ากัน”
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่
นภัส ซ่อมประดิษฐ์ ชินกฤต คุณพิมพ์ และนันทิชา พิชญ์สกุล
ชื่อผลงาน “หยุดใช้คำสอนสร้างชายเป็นใหญ่”
รางวัลชมเชย ได้แก่ ฐปนัท เดชประมวลพล และวรัญญา ตันติเฉลิม ชื่อผลงาน “สีทำไมต้องมีเพศ”
ยุวรินทร์ อัศวสกุลวงศ์ ญาณิน กาญจนวัฒน์ และชญาดา เตียธสิทธิ์
ชื่อผลงาน “บริษัทเท่าเทียมจำกัด”

ประเภทคลิป รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท และรองชนะเลิศ 20,000 บาท
(ประชาชนทั่วไป)
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
อรุณกร พิค เนโฮวา พิค และพัชราวดี พิศ ชื่อผลงาน “Reaction”
รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่
วรรณิกา โชครัตน์ประภา ชุติมาใจรักมิตรแท้ และนริสรา บรรทร
ชื่อผลงาน “I Am What I Am”

ประเภท E-Poster รางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท ได้แก่
ณัฏฐา แก่นประกอบ และสุรยุทธ สุขศรี
ชื่อผลงาน “Feel free to be YOU”

การประกวดจัดทำสื่อในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนมีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นอย่างมาก มีการนำเสนอมุมมอง ความคิดเห็น และสะท้อนประสบการณ์ที่พบเจอเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่หลากหลายและน่าสนใจ นับเป็นข้อมูลสำคัญที่จะได้นำไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนางาน และปรับรูปแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเฉพาะเร่งสื่อสารให้ประชาชนเคารพในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น เคารพความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และรับรู้สิทธิของตนเองว่าหากถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สามารถมายื่นคำร้องและขอความช่วยเหลือเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้
สำหรับไอไลท์ในงานวันนี้จะมี การแสดง Human Arts (Body Painting) ภายใต้แนวคิด ทุกเพศ ทุกคน เท่ากัน All genders are equal Ted Talk: สื่อกับความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม โดยได้รับเกียรติจากนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (คุณกิตตินันท์ ธรมธัช) และนิทรรศการตัวอย่างผลงานที่เข้าประกวด สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณ คณะอนุกรรมการประกวดสื่อฯ ทุกท่านที่ร่วมกันทำงานอย่างหนักในการกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและร่วมกันพิจารณาตัดสินการประกวดฯ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม พร้อมทั้งกำหนดให้ประกาศผล และมอบรางวัลในวันนี้ วันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองการขับเคลื่อนความเท่าเทียมระหว่างเพศ (Pride Month) ซึ่ง สค. และภาคีเครือข่าย ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จะมีการจัดกิจกรรมตลอดเดือนมิถุนายน 2566 และทุกๆ เดือนต่อไป เพื่อปลุกกระแสสังคมสร้างการยอมรับและสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเองสำหรับบุคคลทุกเพศ นางจินตนา กล่าวตอนท้าย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง