เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) โต้เดือดหลังเครือข่ายหมอด้อยค่ามาตรการแจกบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษ ชี้ทั่วโลกมีกว่า 73 ประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่มีเพียง 36 ประเทศที่ยังคงแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศส่วนน้อยที่ไม่ยอมมอบทางเลือกให้ผู้บริโภค ทำการควบคุมบริโภคยาสูบไม่ก้าวหน้า สวนทางหลายประเทศที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือก จนทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดต่ำที่สุดในประวัติการณ์
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร”ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน กล่าวว่า “ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งชาติของอังกฤษระบุว่าอัตราการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปีในอังกฤษในปี 2021 ลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 13.3% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่ลดลงจาก 14% ในปีก่อนหน้านั้นมาจากการที่รัฐบาลสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระดับโลกมีกว่า 73 ประเทศที่อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างอิมพีเรียลคอลเลจก็ออกมายืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยลดหรือเลิกบุหรี่มวนได้และก่อให้เกิดผลดีต่อสาธารณสุขโดยรวม แต่การที่เครือข่ายแพทย์ต่อต้านบุหรี่ออกมาด้อยค่ามาตรการแจกบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่แสดงถึงอคติของเอ็นจีโอกลุ่มนี้ที่ไม่ยอมรับในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ใดและยังคงวนเวียนอยู่ในโลกที่ไม่ยอมรับความจริง”
นายอาสาอธิบายว่า “นอกจากประเทศอังกฤษแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่พิจารณาหลักฐานงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่และหาแนวทางควบคุมได้อย่างเหมาะสม จนสามารถทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศลดลงได้จริง เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนนั้นสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่จาก 9.4% ในปี 2021 เหลือเพียง 8% ในปี 2022 เช่นเดียวกับที่สวีเดนที่ทุกวันนี้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจาก 15% เหลือเพียง 5.6% ภายใน 15 ปี และมีสถิติผู้ป่วยมะเร็งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปถึง 41% เนื่องจากประเทศเหล่านั้นยังคงมีอัตราการสูบบุหรี่สูงอยู่แม้ว่าจะมีการขึ้นภาษีบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ”
ขณะที่นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายกล่าวเสริมว่าขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงเพียงแค่ 4% ในช่วง 10 ปีผ่านมา คนไทยที่สูบบุหรี่เกือบ 10 ล้านคนและคนรอบข้างพวกเขาเหล่านี้ยังคงได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ แต่เครือข่ายแพทย์เอ็นจีโอกลับยืนกรานไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมากทั้งๆที่จะสามารถช่วยชีวิตคนไทยได้จำนวนมาก นอกจากนั้นกลุ่มนักวิชาการเอ็นจีโอนี้ยังได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการประชุมที่แสดงจุดยืนของประเทศในเรื่องของอุตสาหกรรมยาสูบอย่างการประชุมประเทศภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 หรือ FCTC COP10 ที่ประเทศปานามาอีกด้วย ซึ่งในฐานะประชาชนชาวไทยและผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มองว่าประเทศไทยควรส่งตัวแทนที่มีมุมมองหลากหลายไปเข้าร่วมการประชุม และไม่ให้เอ็นจีโอหรือนักวิชาการที่มีบทบาททับซ้อนเข้าร่วมการประชุมเพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางการควบคุมยาสูบที่เป็นสากลและมีประสิทธิภาพกว่านี้ มิใช่ผูกขาดการตัดสินใจไว้ที่คนที่ต่อต้านยาสูบเพียงกลุ่มเดียวทำให้นโยบายควบคุมยาสูบของไทยมีความสุดโต่งและมองจากมุมสุขภาพเพียงด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงมิติอื่นๆ ทั้งที่ปัญหายาสูบนั้นมีความซับซ้อน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกระบวนการและการกำหนดผู้เข้าร่วมประชุม FCTC COP10 ให้มีความโปร่งใส มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าทีที่เป็นกลางเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยดำเนินการในเรื่อง COP26 ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูอากาศ”
[1] Alan R Boobis from Imperial College London in E-cigarette Summit 2022 [1] The Guardian (New Zealand smoking rates fall to lowest on record, but vaping on the rise | Smoking | The Guardian