คัดลอก URL แล้ว

นายกฯ-ครม.ชมโขน-โนรา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

ชวนประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าชมความยิ่งใหญ่ของไทย พร้อมเปิดแหล่งเรียนรู้ 21 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์เข้าชมฟรี ด้านศิลปิน นักร้อง หมอลำ เพลงพื้นบ้าน 4 ภาคร่วมโชว์อีกเพียบ 21 – 25 เม.ย. 2566 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และ 21 เม.ย. – 7 พ.ค. 2566 ณ สวนสันติชัยปราการ

วันที่ 18 เมษายน 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์งานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้รายงานภาพรวมการจัดงาน จากนั้นนายกรัฐมนตรีและครม. ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ โขน โนรา ละครนอก ลิเก การแสดง 4 ภาค การสาธิตภูมิปัญญาอาหารไทย ชมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เพื่อร่วมเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมชมความยิ่งใหญ่ของงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลโดย วธ. เตรียมจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน 2566 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และวันที่ 21 เม.ย. – 7 พ.ค. 2566 ณ สวนสันติชัยปราการ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน เป็นเวลา 241 ปี เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพระบรมราชวงศ์จักรี ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย การท่องเที่ยววัฒนธรรม สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมสำคัญภายในงานมีการเปิดแหล่งเรียนรู้ วัดและพิพิธภัณฑ์ 21 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ให้เด็ก เยาวชน พุทธศาสนิกชนไหว้พระรับพร เสริมสิริมงคล ทำบุญ และศึกษาเรียนรู้ 21 แห่ง ได้แก่ 1.พระบรมมหาราชวัง 2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ 3.สวนสันติชัยปราการ 4.พิพิธบางลำพู 5.วัดบวรนิเวศวิหาร 6.พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน 7.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 8.วัดชนะสงคราม 9.พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ 10.วัดสระเกศ 11.หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน 12.วัดราชนัดดาราม 13.วัดสุทัศนเทพวราราม 14.วัดประยุรวงศาวาส 15.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 16. มิวเซียมสยาม 17.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 18.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 19.พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม 20.ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และ 21.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีรถ ขสมก.และรถรางนำชม บริการรับ – ส่ง ตามจุดต่างๆ

สีสันหนึ่งของงาน คือ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีอีสาน หมอลำ มีนักร้องรับเชิญมาขับกล่อมตลอดงาน อาทิ ชมพู – ปิง ฟรุตตี้ , ธัช แบ็งค์ จากรายการเพลงเอก, อลิศ ธนัชศลักษณ์ จากเวที The golden song, มนต์แคน แก่นคูน ,โตโต้ ธนเดช , ต้อม พระเอกลิเก , ตรี ชัยณรงค์, กานต์ ทศน ที่สำคัญภายในงานนี้จะมีการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด พรหมพงศ์วงศ์อสุรา โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงโนรา โดยสมาคมโนราแห่งประเทศไทย ซึ่งศิลปะการแสดงของไทยทั้ง 2 อย่างนี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดย โขน ได้ประกาศปี 2561 และโนรา ได้ประกาศปี 2564 ถือเป็น Soft Power ที่ไทยมุ่งผลักดันให้เกิดการต่อยอดและขับเคลื่อนในเชิงมิติของวัฒนธรรม วธ. จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยและชาวต่างชาติรับรู้ สืบสาน รักษา ต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก อาทิ การแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง รำเบิกโรงละครชาตรี อุปรากรจีน การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง การแสดงหมอลำอีสาน มหกรรมกลองล้านนา การแสดงนานาชาติ การแสดงลิเก การแสดงศิลปินอีสานใต้ ฯลฯ ซึ่ง วธ. พร้อมให้การสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างงาน สร้างรายได้แก่ศิลปิน และผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ ส่วนเวทีเสวนาวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ ก็มีหลากหลาย อาทิ รามเกียรติ์รัตนโกสินทร์ : ศาสตร์และศิลป์แห่งราชธานี , ภาพถ่ายเก่าในหัวเมือง , บางพลัดลัดเลาะ , มานุษยวิทยาเมือง (Urban anthropology) การบรรยาย คุณธรรม คุณทำได้ และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ Application Moral Play/ Moral Plus อีกทั้งยังมีสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดเสวนาในงานด้วย การเปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ (Night Museum) สาธิตอาหารโบราณและอาหารชาววัง ในรูปแบบตลาดย้อนยุค การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand : CPOT / ของดี 50 เขต กทม. จุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน ฯลฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม โทร. 1765


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง