การแสดงลูกทุ่ง โขน โนรา ตลกสร้างสีสัน ร่วมช้อปอาหารและของดี 4 ภาค ตั้งแต่บัดนี้ถึง 17 เม.ย. 66 นี้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีเปิดงานสงกรานต์วัดพระเชตุพน ประจำปี พ.ศ. 2566 (Water Festival 2023) และมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ไวยาวัจกรวัดรพระเชตุพน ผู้แทนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ประชาชน ผู้แทนชุมชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ ลานพระวิหารพระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทั้งนี้ การจัดงานเทศกาลประเพณีสงกรานต์วัดพระเชตุพน ได้บูรณาการร่วมกับการจัดงาน “Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย” ภายใต้แนวคิด “ชื่นอุรา น่าสบาย” ที่มุ่งสร้างประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ในมิติต่าง ๆ เช่น สร้างการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม (Social) การเชื่อมโยงต่อยอดเครือข่ายแห่งความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยการทำงานร่วมกันแบบ บวร ยกกำลังสอง บ้าน วัด โรงเรียน บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมรัฐหรือราชการ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 17 เมษายน 2566 เป็นการจัดงานสงกรานต์วัดโพธิ์แบบย้อนยุคในอดีต พร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมอันโดดเด่นของไทย อาทิ การสรงน้ำพระประจำวันเกิด สืบสานประเพณีขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย ประพรมน้ำมนต์ 100 ปี รวมถึงการแสดงที่เป็นไฮไลท์ โชว์สุดยอดศิลปะแม่ไม้มวยไทย Soft Power ระดับโลกของไทย จาก “หนึ่งพิชิต ศิษย์ยอดธง” อดีตแชมป์มวยไทยโลก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง , คอนเสิร์ตลูกทุ่งเสียงทอง , เกมงานวัด , ชิงช้าสวรรค์ , อาหารและของดี 4 ภาค ตลอดจนการแสดงมหรสพที่มาแบบจัดเต็มในรูปแบบย้อนยุค อาทิ การแสดงพื้นบ้านไทย 4 ภาค การเล่นสะบ้า การแสดงลาวกระทบไม้ เพลงฉ่อย การแข่งขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง โขน โปงลาง กระบี่กระบอง และอื่นๆอีกมากมาย
และในปีนี้ นับเป็นปีที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทยที่ทางองค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม 2566 ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่คุณค่า สาระ อัตลักษณ์ความงามของประเพณีสงกรานต์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย ร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีดีงามอันเป็นมรดกของไทยให้ยั่งยืน