คัดลอก URL แล้ว

วธ.ขับเคลื่อนภารกิจเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องหวังสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้ข้าราชการ เด็ก เยาวชนและเครือข่าย

ส่งเสริมให้เกิดศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมฯ ในสถานศึกษา และนอกสถานศึกษากว่า 7,732 แห่งทั่วประเทศ พร้อมมอบรางวัลประกวดสื่อสร้างสรรค์ “เรื่องดี ๆ ที่บ้านฉัน” ปีที่ 2

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชาติได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย ร่วมเฝ้าระวังกระแสวัฒนธรรมที่มากับสื่อในยุคโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย วธ. โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมด้วยมิติทางวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 ณ โรงแรมเอสรัชดา เลเชอร์ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และนักวิชาการวัฒนธรรมที่รับผิดงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จำนวน 170 คน เข้าร่วมอบรมฯ

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้บุคลากร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้สามารถนำความรู้ไปสร้างความเข็มแข็งให้กับเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ตลอดจนการขยายเครือข่ายให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม มูลนิธิและภาคประชาชน เยาวชน สื่อมวลชน ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการร่วมกันแจ้งเหตุแจ้งเตือนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมและ เป็นกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมให้สังคม ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ดำรงอยู่ของเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2566 มีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาทั่วประเทศ 4,738 แห่ง และมีเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมนอกสถานศึกษาทั่วประเทศ 2,994 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,732 แห่ง

นางยุพา กล่าวอีกว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับผู้ได้รับรางวัลจากการประกวดสื่อสร้างสรรค์ ประจำปี 2565 หัวข้อ “เรื่องดีๆ ที่บ้านฉัน” ปีที่ 2 จำนวน 5 ทีม ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “สิ่งดี ๆ เริ่มได้จากที่บ้าน” ทีมสื่อสร้างสรรค์เวียงตาลพิทยาคม รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงาน “ครอบครัวของฉันชอบหาเรื่องดี ๆ เข้าบ้าน” ทีมโพนสวางฟิล์ม รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ผลงาน “สุขที่ได้ช่วย” ทีมสื่อสร้างสรรค์โรงเรียนบ้านคอนสา และรางวัลชมเชยจำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน “เรื่องดี ๆ ที่บ้านฉัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์” ทีมครอบครัวตัว ต และ ผลงาน “ใคร ๆ ก็ใส่งอบ” ทีมที่นี่แหลมงอบ ทั้งนี้ การประกวดสื่อสร้างสรรค์ ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้สื่อมีบทบาทปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามของคนในสังคม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดครอบครัวคุณธรรมนำสู่ชุมชน สังคมคุณธรรมที่มีความรัก สามัคคี เอื้ออาทรเป็นชุมชน สังคมแห่งความสุข


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง